น้ำท่วมเขตเทศบาลนครตรัง ชาวบ้านเดือดร้อนขนของหนีน้ำไม่ทัน

ภูมิภาค
20 ธ.ค. 61
18:08
766
Logo Thai PBS
น้ำท่วมเขตเทศบาลนครตรัง ชาวบ้านเดือดร้อนขนของหนีน้ำไม่ทัน
สถานการณ์น้ำป่าไหลหลากใน จ.ตรัง เริ่มปรากฏผลกระทบไล่ไปตามพื้นที่ทางน้ำไหลผ่าน ขณะนี้ที่ อ.นาโยง กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เพราะน้ำทั้งหมดได้ไหลไปที่เขตเทศบาลเมืองตรัง

วันนี้ (20 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนควนขนุนในเขตเทศบาลนครตรังขนย้ายข้าวของทั้งเครื่องนอน เสื้อผ้า รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า หนีน้ำกันอย่างโกลาหล หลังมวลน้ำจากพื้นที่ อ.นาโยง ได้ไหลเข้าท่วมชุมชนอย่างรวดเร็วโดยน้ำได้ไหลล้นเหนือระดับแนวกระสอบทรายที่เตรียมไว้ป้องกันน้ำท่วมก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก

ชาวบ้านกล่าวว่า ทราบข่าวสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.นาโยง จึงได้เตรียมพร้อมรับมือแต่เนื่องจากมวลน้ำได้ไหลล้นจากลำคลองเข้าท่วมชุมชนจากทุกทิศทางจึงไม่สามารถป้องกันได้ทำได้เพียงพยายามยกข้าวของขึ้นที่สูงเท่านั้น

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ อ.นาโยง ได้ลดระดับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วโดยพบว่า สินค้าหลากหลายชนิดทั้งอุปกรณ์ก่อสร้างเสื้อผ้ารองเท้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสียหายอย่างหนักซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าต่างเร่งทำความสะอาดข้าวของเพื่อกลับค้าขายอีกครั้งพร้อมระบุว่าภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งเกินความคาดหมายที่จะเตรียมตัวรับมือ

ขณะเดียวกันมณฑลทหารบกที่ 43 ได้เปิดโรงครัวพระราชทานเลี้ยงอาหารชาวอำเภอนาโยง ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมทั้ง 6 ตำบล ซึ่งมีผู้เดือดร้อนกว่า 10,000 ครัวเรือนและยังพบว่าพื้นที่ราบลุ่มติดริมฝั่งคลองนางน้อยยังมีชาวบ้านถูกน้ำท่วมขังอีกประมาณ 500 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม.โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว 5 อำเภอ เพื่อเร่งนำงบประมาณเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน

ขณะที่สภาพชุมชนควนขนุนในเขตเทศบาลนครตรัง ที่ถูกน้ำไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็วในช่วงบ่ายที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านต้องอพยพเคลื่อนย้ายข้าวของกันอย่างวุ่นวายเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาและคาดว่าตลอดทั้งคืนนี้ (20 ธ.ค.) ระดับน้ำก็จะยังไม่ลดลง เนื่องจากยังคงมีมวลน้ำจาก อ.นาโยง ไหลมาสบทบหลายครอบครัวจึงต้องอยู่กับสภาวะน้ำท่วมในคืนนี้

ชาวบ้านกว่า 10 ครอบครัวในหมู่ 7 ต.นาโยงใต้ อ.เมืองตรัง ต้องอพยพขึ้นมาอาศัยริมถนนเพชรเกษมตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้ (19 พ.ย.61) พร้อมข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถขนขึ้นจากบ้านได้ทันเพราะบ้านของพวกเขาอยู่ต่ำกว่าระดับถนนทำให้ระดับน้ำท่วมสูงและนานกว่าพื้นที่อื่น

ข้อสังเกตของชาวบ้านระบุว่า ปีนี้น้ำท่วมมากกว่าปกติและเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่มีการปิดท่อระบายน้ำที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเนื่องจากเป็นพื้นที่เอกชนทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ปีนี้พวกเขาจึงอาจจะต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวหลังนี้นานกว่า 2 สัปดาห์จนกว่าน้ำลด

แขวงทางหลวงตรังลงพื้นที่สำรวจพร้อมแนะนำให้ชาวบ้านรวมตัวไปยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมเพื่อร่วมกันหาทางออกและชี้แจงว่าเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิของเจ้าของพื้นที่ว่าจะยินยอมให้น้ำระบายผ่านได้หรือไม่แต่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการสร้างถนนจึงจำเป็นต้องฝังท่อระบายน้ำไว้ทั้งที่ไม่มีลำรางสาธารณะ

ขณะที่นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง อธิบายว่าน้ำที่หลากเข้าท่วม อ.นาโยง จะไหลไปยังอำเภอเมืองเพื่อระบายออกที่แม่น้ำตรัง ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้ จากนี้จึงเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วมขังสำหรับวางเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาชี้แจงและให้ความช่วยเหลือชาวบ้านจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แต่พวกเขายังหวังว่าปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะได้รับการแก้ไขที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเรื่องที่ดินและการก่อสร้างต่างๆ เพราะทุกโครงการต้องผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง