ยกฟ้องคดี "ดร.ชยันต์-นักศึกษา" ชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร"

การเมือง
25 ธ.ค. 61
11:54
435
Logo Thai PBS
ยกฟ้องคดี "ดร.ชยันต์-นักศึกษา" ชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร"
ศาลแขวงเชียงใหม่ พิพากษายกฟ้องคดีชูป้าย"เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ที่มี ดร.ชยันต์ -นักศึกษา มช.รวม 5 คน เนื่องมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกเรื่องการห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปทำให้การฟ้องของคสช.ที่ 3/2558 ข้อ12 จึงไม่เป็นความผิด

วันนี้ (25 ธ.ค.2561) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อเวลา 09.00 น.ศาลแขวงเชียงใหม่ นัดฟังคำวินิฉัยข้อกฎหมายคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2560

โดยคดีนี้จำเลย 5 คนคือ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่  นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ทั้ง 5 คนถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหา ดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.61 ยกเลิกข้อกฎหมายที่จำเลยทั้ง 5 คนถูกกล่าวหา

หลังจากก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค.61 ได้มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ในคดีไปแล้วจำนวน 6 ปาก และยังคงเหลือพยานโจทก์อีก 4 ปาก แต่ในวันที่ 12 ธ.ค.61 แต่ภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ทำให้ในวันดังกล่าวศาลได้สั่งงดการสืบพยานปากที่เหลือ เพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายใหม่นี้ โดยฝ่ายจำเลยทั้ง 5 ยังได้ขอแถลงต่อศาลในวันดังกล่าว ถึงข้อเท็จจริงที่อยากจะนำเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และผลกระทบที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้  

 

ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศาลยกฟ้อง หลังต่อสู้คดี 1 ปี 4 เดือน


ในวันนี้ ศาลแขวงเชียงใหม่ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายในคดีว่าเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ซึ่งในข้อ 1 (7) ได้ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ จึงเป็นกรณีของบทบัญญัติกฎหมาย ที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 5 ไม่เป็นความผิด จึงเป็นเหตุยกฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรค 1

ศาลยังระบุว่าสำหรับการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไป โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนหน้านั้น ย่อมไม่ถูกกระทบกระเทือนให้เป็นอันเสียไป หรือกลายเป็นอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ข้อ 2

ทั้งนี้ ในข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ระบุไว้ว่า “การยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้”

การวินิจฉัยของศาลแขวงเชียงใหม่ในวันนี้ ทำให้คดีนี้เป็นอันสิ้นสุดลง หลังจากที่จำเลยทั้ง 5 ต้องต่อสู้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง