"ประวิตร" ชี้ระเบิดแหลมสมิหลา โยงการเมือง-โต้รัฐบาลทหาร

ภูมิภาค
27 ธ.ค. 61
20:01
1,396
Logo Thai PBS
"ประวิตร" ชี้ระเบิดแหลมสมิหลา โยงการเมือง-โต้รัฐบาลทหาร
ผู้ว่าฯ สงขลาสั่งคุมเข้มพื้นที่เสี่ยงสงขลารับปีใหม่ หลังเกิดเหตุระเบิดนางเงือก สัญญลักษณ์จุดท่องเที่ยวชื่อดัง ด้านพล.อ.ประวิตร-ฝ่ายความมั่นคง คาดอาจเชื่อมโยงป่วนการเมือง ขัดแย้งทางการค้า การท่องเที่ยว ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรึงเข้มหาดสมิหลา

ความคืบหน้าเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบริเวณชายหาดแหลมสมิหลา จ.สงขลา หลังจากเกิดเหตุระเบิดเมื่อคืนที่ผ่านมา 2 ลูก ส่งผลให้รูปปั้นนางเงือกสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสงขลาได้รับความเสียหายนั้น ต่อมาเช้าวันนี้พบระเบิดเพิ่มอีก 3 ลูก รวมเป็น 5 ลูก

วันนี้ (27 ธ.ค.2561) หน่วยปฎิบัติการพิเศษตำรวจภูธรสงขลา นำวัตถุระเบิด 2 ลูกจุดชนวนทำลายบริเวนชายหาดสมิหลา ใกล้เคียงกับจุดที่เกิดเหตุลอบวางระเบิดรูปปั้นนางเงือก บริเวณแหลมสมิหลาหลังตรวจพบขณะปูพรมเดินตรวจสอบบริเวณโดยรอบจุดเกิดเหตุระเบิดอย่างละเอียด

พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยืนยันมีระเบิดเกิดขึ้น 2 ครั้ง ส่วนเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้งเป็นการยิงทำลายวัตถุต้องสงสัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งทางการค้า การท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การตรวจสอบระเบิดที่ตรวจยึดได้พบว่ามีชุดควบคุมการจุดระเบิดเป็นนาฬิกาข้อมือยี่ห้อหนึ่ง ภาชนะบรรจุดินระเบิดเป็นกล่องเหล็ก พร้อมต่อวงจรด้วยสายไฟและแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานในการจุดระเบิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บไว้เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งเพื่อประกอบสำนวนคดี

 

 

ยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุดรับปีใหม่

ด้าน นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกร้องให้ประชาชนออกมาประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุกับรูปปั้นเงือก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทางจังหวัด พร้อมสั่งยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยย่านเศรษฐกิจและพื้นที่เสี่ยงในระดับสูงสุด ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

โดยเฉพาะใน อ.หาดใหญ่ จะมีการจัดงานเคาท์ดาวน์ เพื่อเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดยังคงสแกนพื้นที่บริเวณชายหาดแหลมสมิหลาทุกตารางนิ้ว ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์ของหน่วยข่าวด้านความมั่นคง พบความเคลื่อนไหวของแกนนำบางกลุ่ม มีการเข้ามาประชุมในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ผ่านมามีการแจ้งเตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

ส่วนเป้าหมายของการก่อเหตุคนร้าย น่าจะต้องการทำลายเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวของ จ.สงขลา ในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะการวางระเบิดรูปปั้นนางเงือกที่เป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยว จ.สง ขลา ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะจะนิยมไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เมื่อมาเที่ยวที่ จ.สงขลา รวมทั้งอาจเป็นการตอบโต้มาตรการปราบปรามสินค้าหนีภาษี บริเวณแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ได้ผลทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบเสียผลประโยชน์

 

 

สั่งห้ามเข้าพื้นที่นางเงือก แหลมสมิหลา 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ ยังได้ตรวจพบเหตุลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่รอยต่อระหว่างอ.บางกล่ำและ อ.ควนเนียง จ.สงขลาอีก 2 จุด โดยพบว่าผู้ก่อเหตุได้นำระเบิดมาผูกติดไว้กับเสาไฟฟ้าแรงสูงก่อนเกิดการระเบิดขึ้น

โดยชาวบ้านในบริเวณที่เกิดเหตุบอกว่าได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดในเวลา 22.00 น.คืนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดระเบิดบริเวณชายหาดสมิหลา เจ้าหน้าที่จึงสันนิษฐานว่าผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเดียวกัน ขณะที่ล่าสุดมีรายงานว่าชุดคอมมานโด ตำรวจภูธรภาค 9 ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่ต้องสงสัยใน จ.สงขลาหลายจุด หลังได้ข้อมูล เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุระเบิดเมื่อคืนที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังกันบริเวณจุดเกิดเหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือก ห้ามผู้เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่พร้อมกับการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ตัวเมืองหาดใหญ่ และเมืองสงขลาอย่างเข้มงวดในค่ำคืนนี้ หลังพบว่าได้เกิดเหตุระเบิดในพื้นที่อำเภอควนเนียงอีก 2 จุด

 

 

"ประวิตร"ชี้ปมระเบิดจากการเมือง

ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองเหตุระเบิดที่หาดสมิลาว่า มี 2 ปม คือการเมือง กับปัญหาภาคใต้ขยายพื้นที่ก่อเหตุ แต่ยังไม่รู้ว่ากลุ่มไหนทำ และไม่เชื่อว่าจะเกี่ยวกับการลงพื้นที่มอบโฉนดที่ดินให้กับประชาชน ตามนโยบายโฉนดชุมชน เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น เพราะต้องการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตอบโต้รัฐบาลทหาร

เหตุที่เกิดขึ้นมีเจตนาที่จะสร้างสถานการณ์ให้ตื่นตระหนกในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะพื้นที่เกิดเหตุบ่งบอกได้ว่า ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียขึ้น

ในขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ให้คำตอบสื่อมวลชน ระบุว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วถูกจ้างวานให้ก่อเหตุใน จ.สงขลา

 

สอดคล้องกับ 1 ใน 2 ประเด็นที่หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งเป็นปมการก่อเหตุไว้ คือความต้องการที่จะขยายพื้นที่ก่อเหตุ เพื่อสะท้อนถึงความไม่สงบเรียบร้อย และเป็นกระแสสร้างความหวาดกลัว ส่วนอีกประเด็น คือการเมือง ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร

และแม้จะอยู่ระหว่างการเก็บหลักฐานและวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ เพื่อนำมาวิเคราะห์กับเหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่เบื้องต้นหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ชี้ว่าลักษณะของการก่อเหตุ โดยเฉพาะวัตถุระเบิดที่นำมาใช้ มีลักษณะคล้ายกับเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน 17 จุด รวมถึงเหตุระเบิดที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตอบโต้การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนส.ค.2559

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จนท.พบระเบิดอีก 3 จุด จ.สงขลา ยิงทำลายแล้ว

เกิดเหตุลอบวางระเบิด 2 จุด หาดสมิหลา จ.สงขลา

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง