เฝ้าระวัง ! น้ำป่าเทือกเขาหลวงพบฝนตกสูงสุด 232.5 มม.

ภัยพิบัติ
5 ม.ค. 62
13:35
339
Logo Thai PBS
เฝ้าระวัง ! น้ำป่าเทือกเขาหลวงพบฝนตกสูงสุด 232.5 มม.
สทนช. ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำท่วมจากฝนตกหนักอิทธิพลพายุปาบึก โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำลงทะเล โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำป่าจากเทือกเขาหลวง ไหลหลากลงตามลำคลองต่างๆ ของนครศรีธรรมราช และต้นแม่น้ำตาปี และพื้นที่ลุ่มต่ำ เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่ม

วันนี้ (5 ม.ค.2562) นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ปฏิบัติการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ว่า จากอิทธิพลพายุทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นวงกว้าง มีปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมาก จ.นครศรีธรรมราช บริเวณ อ.พิปูน 232.5 มิลลิเมตร (มม.) อ.ลานสกา 204.6 มม. อ.ทุ่งสง 208.2 มม. อ.ฉวาง 166 มม. อ.ขนอม 163.5 มม. อ.เชียรใหญ่ 127.8 มม. อ.สิชล 131.4 มม. อ.ช้างกลาง 135 มม. อ.เมือง 119 มม.

ส่วนจ.สุราษฎร์ธานีที่ อ.บ้านนาสาร 189 มม.และ อ.กาญจนดิษฐ์ 166 มม.ส่งผลทำให้มีน้ำปริมาณน้ำในคลองท่าดีในเขตเมืองนครศรีธรรมราชจำนวนมาก ระดับสูงสุดได้ผ่านไปแล้วเมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. 

 

 

ในส่วนของน้ำที่มาจากบริเวณต้นน้ำจะเดินทางไปยังเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชในช่วงเช้าวันนี้ สทนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือน และประสานหน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำ ตลอดจนเดินเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำที่ติดตั้งไว้เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดแล้ว

และจากการติดตามทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุเมื่อคืน พบว่าพายุเดินทางมายังบริเวณเทือกเขาหลวงซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ตรัง และหยุดอยู่เป็นเวลานาน สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในระยะ 1-2 วันนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำโดยเฉพาะคลองต่างๆ

โดยเฉพาะบริเวณ คลองท่าดี อ.เมือง คลองกลาย อ.ท่าศาลา คลองท่าเลา อ.ทุ่งสง อ.ลานสกา และต้นแม่น้ำตาปี อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และแม่น้ำตรัง ที่อ.รัษฎา และอ.เมืองตรัง 

 

เลิกระบายน้ำเขื่อนรัชชประภาลดผลกระทบ

ส่วนสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี จากอิทธิพลพายุ พบว่า 2 วันที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำที่อยู่ทางพื้นที่ต้นน้ำ และจะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอีกประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้

รวมปริมาณน้ำทั้งหมดคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ร้อยละ 85 ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หยุดการระบายน้ำเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำที่ระบายไหลลงไปส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือน! "ทะเลตะวันออก" น้ำทะเลหนุนสูงจากพิษปาบึก



 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง