"พล.อ.ประยุทธ์" ขู่ดำเนินคดีผู้บิดเบือนข่าว "ปาบึก" วกกลับ

ภัยพิบัติ
5 ม.ค. 62
19:07
4,640
Logo Thai PBS
"พล.อ.ประยุทธ์" ขู่ดำเนินคดีผู้บิดเบือนข่าว "ปาบึก" วกกลับ
นายกรัฐมนตรี เตือนดำเนินคดีกับผู้ปล่อยข่าวบิดเบือน เรื่องการวกกลับมาของพายุปาบึก ถือเป็นการสร้างความวุ่นวายและตื่นตระหนก ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ขยายเวลาชำระหนี้ พร้อมทั้งให้สินเชื่อฟื้นฟูบ้าน และกิจการ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

วันนี้ (5 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้สถานการณ์พายุปาบึกเริ่มคลี่คลาย แต่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความห่วงใย จาก พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี ว่า ขอให้ประชาชน อย่าประมาท และควรระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จนกว่าทางการจะประกาศชัดเจนว่าปลอดภัย และเพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย พักอาศัยในศูนย์อพยพชั่วคราว จนกว่าจะมีประกาศจากทางราชการ


นายกรัฐมนตรียังกล่าวเตือนที่จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด กับผู้ที่ปล่อยข่าวบิดเบือน โดยเฉพาะข่าวการวกกลับมาของพายุปาบึก เพราะถือเป็นการสร้างความวุ่นวายตื่นตระหนกให้เกิดขึ้น

ธนาคารออกมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย 

ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน และฟื้นฟูผู้ประสบภัย 6 มาตรการ เตรียมวงเงินสินเชื่อ อีก 1 พันล้านบาท และจะยกเว้นคิดดอกเบี้ย นาน 4 เดือนแรก และหากจำเป็นต้องกู้เพิ่ม หรือ กู้ใหม่ เพื่อซ่อมแซมบ้าน จะคิดดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 นาน 3 ปี

นอกจากนั้น ธอส. เปิดให้ขอประนอมหนี้ได้ ตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน พร้อมกับยกเว้นดอกเบี้ย นาน 4 เดือน กรณีได้รับผลกระทบรายได้ และความสามารถการชำระ แต่หากเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพถาวร สามารถผ่อนชำระดอกเบี้ยได้ ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และกรณีที่ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ จะให้ปลอดหนี้


ทางด้านธนาคารออมสินจะพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้พักชำระเงินต้นและผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย ได้อีก 2-3 ปี

เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อมอบเงินสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ ซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น เครื่องจักรการเกษตร รวมทั้ง พิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้เกษตรกร และผู้ประสบภัย


ในด้านการฟื้นฟูธุรกิจ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธนาคารเอสเอ็มอี จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สัญญากู้ยืมแบบมีระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน และพักชำระดอกเบี้ย สำหรับสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่เกิน 6 เดือน


พร้อมเตรียมวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.415 ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา โดยกำหนดวงเงินกู้สูงสุดต่อราย ตั้งแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท


ขณะที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จะขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันออกไปได้อีก 6 เดือน พร้อมจัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง