ครั้งแรกของไทย! ติดปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า"

สิ่งแวดล้อม
8 ม.ค. 62
19:34
1,646
Logo Thai PBS
ครั้งแรกของไทย! ติดปลอกคอจีพีเอส "ช้างป่า"
นำร่องติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม "ช้างป่า" ในผืนป่าตะวันออก ติดตามพิกัดและพฤติกรรมช้างนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อวางแผนรับมือปัญหาและผลักดันช้างป่าก่อนเข้าทำลายพื้นที่การเกษตร

วันนี้ (8 ม.ค.2562) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-Thailand) แถลงข่าวความสำเร็จการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (GSP-collar) ให้กับช้างป่าในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ "ผืนป่าตะวันออก" หวังแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างป่า

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ โดยเฉพาะช้างป่า ทวีความรุนแรงขึ้น เบื้องต้นได้แก้ปัญหาการทำลายพื้นที่ป่า ฟื้นฟูแหล่งอาหารและน้ำในเขตป่าอนุรักษ์ รวมทั้งดูแลช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ด้วยการนำเทคโนโลยีการติดปลอกคอมาใช้ เพื่อให้ทราบพิกัดของช้างป่า พร้อมหาแนวทางดูแลและป้องกันเหตุความเสียหายของทรัพย์สินและชีวิตประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมยืนยันว่าปลอกคอดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อช้าง

เราต้องเรียนรู้ อดทนที่จะอยู่ร่วมกัน ยิ่งช้างอันตราย เจ้าหน้าที่ต้องพุ่งไปหา ดูแลความปลอดภัยของประชาชนและช้าง

 

ด้าน น.ส.เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF-Thailand ระบุว่า โครงการนี้เป็นงานวิจัยร่วมกับกรมอุทยานฯ โดยใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาข้อมูล เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและใช้งานในหลายประเทศ เบื้องต้นนำเข้าจำนวน 3 ชิ้น ราคาชิ้นละ 160,000 บาท เพื่อหวังแก้ปัญหาคนกับช้างอย่างยั่งยืน

ผืนป่าตะวันออก เป็นพื้นที่นำร่องในการติดปลอกคอติดตามช้างป่า เนื่องจากพบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างอยู่บ่อยครั้ง

นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กล่าวถึงสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา ว่า มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากช้างป่ากว่า 100 คน เสียชีวิตกว่า 50 คน และพบว่าช้างป่าตายมากกว่า 50 ตัว จึงมีการนำเทคโนโลยีปลอกคอสัญญาณดาวเทียมมาใช้

โดยการติดตามการเคลื่อนที่ของช้างป่าเป็นแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะระบุตำแหน่งฝูงช้างป่า ณ เวลานั้นๆ ได้เพียงไม่กี่วินาทีหลังปลอกคอบันทึกตำแหน่งพิกัดและส่งข้อมูลผ่านระบบสัญญาณดาวเทียมมายังผู้รับ ทำให้ติดตามฝูงช้างป่าที่ติดปลอกคอได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทราบความเคลื่อนไหวของช้างได้ทันที จึงทำให้สามารถยับยั้งและลดความสูญเสียต่อชุมชนได้

 

อีกทั้งยังเป็นการติดตามพฤติกรรมของช้างป่า เช่น พื้นที่หากิน เส้นทางการเดินของช้าง เพื่อวางแผนแก้ปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในเขตป่าอนุรักษ์ คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปีในการศึกษาพฤติกรรมช้างป่า

สำหรับชุดปลอกคอติดตามตัวช้างป่า (GSP-collar) นำเข้าจากแอฟริกาใต้ มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ อุปกรณ์ส่งสัญญาณ แบตเตอรี่และเครื่องส่งสัญญาน ส่วนสายรัดทำจากโพลีเมอร์ ผสมยางพารา มีความคงทนและสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งมีอายุการใช้งาน 6-7 ปี โดยชุดอุปกรณ์ปลอกคอมีน้ำหนัก 8 กิโลกรัม หรือไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นของน้ำหนักตัวช้างป่า ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของช้างป่า

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้กับช้างป่าแล้ว 1 ตัวและเตรียมดำเนินการติดปลอกคอช้างป่าอีก 2 ตัวให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2562 ซึ่งหากการใช้งานไม่มีปัญหาขัดข้องจะนำเข้าเพิ่มอีก 3 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมช้างป่า 6 กลุ่มที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง