กทม.รถติดหนักมาก ! ตัวเพิ่ม "ฝุ่นพิษ"

สิ่งแวดล้อม
15 ม.ค. 62
17:00
5,172
Logo Thai PBS
กทม.รถติดหนักมาก ! ตัวเพิ่ม "ฝุ่นพิษ"
นักวิชาการ ระบุต้องแก้ปัญหาจราจรติดขัดในกทม. เนื่องจากเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศที่เพิ่มให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าสูงขึ้น ขณะที่ จส.100 สำรวจ 5 อันดับถนนที่ต้องหลีกเลี่ยงรถติดหนักมาก ได้แก่ ถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ รามอินทรา -แจ้งวัฒนะ ติวานนท์ รามคำแหง

วันนี้ (15 ม.ค.2562) ปัญหามลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน 1 สัปดาห์ โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่ามลพิษที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศพุ่งสูงขึ้น มาจากปัญหาการจราจรที่ติดขัดในถนนสายหลัก

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ในภาพรวมสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑลยังไม่มีระดับที่สูงมาก หรือแตกต่างกับ 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นปัญหาเดิม ส่วนหนึ่งที่คนเริ่มตื่นตัวมาจากการเผยแพร่ข่าวสารจากภาครัฐในเรื่องค่ามลพิษที่เข้าถึงประชาชนดีขึ้น และกระแสโซเชียลที่ทำให้คนรับข่าวสารได้ง่ายขึ้น

ขณะที่การแก้ปัญหาที่ภาครัฐทำตอนนี้ ทั้งการล้างทำความสะอาดถนน การฉีดพ่นน้ำ และโปรยละอองน้ำจากเครื่องบินเพื่อช่วยบรรเทาฝุ่น การแจกหน้ากากอนามัยป้องกันสุขภาพ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น และเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่ทำกันทุกปี พอถึงปีหน้าปัญหาก็จะกลับมา

 


สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่บรรเทาความรุนแรงที่เกิดขั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง และบรรเทาเท่านั้น เหมือนคนเป็นไข้หวัด ปวดหัวกินยาแก้ปวด ลดไข้

เมื่อถามว่าต้นเหตุที่ทำให้ปัญหาฝุ่นละอองพุ่งสูงขึ้น เกิดจากอะไร ดร.สุพัฒน์ ระบุว่าสิ่งที่นักวิชาการ และภาครัฐพูดไม่ต่างกัน สาเหตุสำคัญมาจากรถยนต์ ยานพาหนะที่ติดขัดปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะรถดีเซล รถบรรทุกขนาดใหญ่ จากการศึกษาพบว่าเป็นตัวหลักที่ทำให้มลพิษ

การจราจรติดขัดมากๆ ทำให้การระบายมลพิษจากรถยนต์ออกมามากขึ้น โดยกทม.ถ้าเทียบกับหลายปีก่อนการหมุนเวียนระบายมลพิษ อาจจะดีกว่าตอนนี้ที่มีแต่ตึกสูงสูงเรียงแถวเป็นกำแพง ปิดกั้น อากาศไหลผ่านไม่ได้

 

แนะแก้ปัญหารถติด-จัดจราจร-ลดใช้รถส่วนตัว

อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่าแนวทางการแก้ปัญหาต้องลดจากตัวรถยนต์ ถ้าปี 2563 จะบรร เทาฝุ่นละอองในเขตเมืองได้ รถยนต์แต่ละคันต้องสะอาด ลดปัญหาการจราจรที่ติดสะสม โดยต้องให้ผู้เชียวชาญการจราจร ช่วยดูเรื่องค่าความเร็วเฉลี่ยของรถบนถนนสายต่างๆ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากวิชาการหลายคนเช่น รถที่เข้ามาเขตเมืองอาจจะต้องกำหนดวันคู่ วันคี่ เพื่อลดการจราจร แต่ต้องถามว่ารัฐบาลจะกล้าทำหรือไม่ เพราะทำแล้วจะกระทบต่อการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ อาจจะค่อนข้างยากต้องมีการเตรียมความพร้อม

รวมทั้งตัวประชาชนที่ใช้รถยนต์ และใช้ถนนด้วยว่าถ้าถึงช่วงสถานการณ์วิกฤตแล้วจะช่วยลดฝุ่นละอองอย่างไร เช่น ลดใช้รถยนต์ส่วนตัวยอมหรือไม่ หรืออาจจะทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดการเดินทาง ส่วนอนาคต เชื่อว่าถ้าไทยสามารถไปถึงขั้นการปรับมาตรฐานใช้รถยูโร 5 ลดค่ากำมะถันในน้ำมันลงไปได้อีก รวมทั้งต้องลดการเผาขยะ เผาวัชพืชรอบๆ พื้นที่กทม.ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาได้  

 

5 ถนนรถติด-ส่งผลมลพิษเพิ่ม

ทั้งนี้ ปัญหารถติดในกทม. ก่อนหน้านี้มีผลการสำรวจของ จส.100 ได้รวบรวมข้อมูลถนน 5 อันดับที่ได้รับแจ้งสภาพการจราจรติดขัดมากที่สุดประจำปี 2561 และเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2561 โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการรับแจ้งจากภาคประชาชนทาง Call Center โทร.1137 และ *1808 ,ช่องทางออนไลน์ที่ทวิตเตอร์ @js100radio เฟซบุ๊ค JS100Radio และ LINE @js100 ดังนี้

  • ถนนลาดพร้าว จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่เริ่มเปิดผิวการจราจรก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า จุดที่วิกฤตบ่อยครั้ง คือ บริเวณแยกภาวนา และลาดพร้าว 130 ที่ส่งผลกระทบไปถึงด้านถนนรัชดาภิเษก ถนนรามคำแหง และถนนศรีนครินทร์

  • ถนนรามคำแหง ส่วนหนึ่งได้รับของกระทบต่อเนื่องมาจากถนนลาดพร้าว ฝั่งขาเข้า ท้ายแถวสะสมเข้ามาที่แยกลำสาลี ต่อเนื่องถนนรามคำแหงขาออก ขณะเดียวกันบนถนนรามคำแหงยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี
  • ถนนศรีนครินทร์ เส้นทางนี้ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว - สำโรง จากเดิมมีช่องทางจราจรฝั่งละ 3-4 ช่องทาง แต่มีแนวก่อสร้างหลายจุดคงเหลือ 1- 2 ช่องทางจราจร ทำให้รถที่มีมากเป็นปกติอยู่แล้วเหลือพื้นที่วิ่งน้อยลง 

  • รามอินทรา - แจ้งวัฒนะ เป็นเส้นทางก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย มีการปิดการจราจรแล้วหลายจุด ส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพของถนนเป็นคอขวด จาก 3-4 ช่องทาง คงเหลือ 1-2 ช่องทาง เช่น บริเวณ กม.1 สนามกีฬากองทัพบก, กม.3 ใกล้ศูนย์การค้าบิ๊กซี, กม.4 แยกมัยลาภ, กม.8 แยกคู้บอน ส่งผลกระทบจากสภาพการจราจรทำให้มีท้ายแถวเข้ามาบนถนนแจ้งวัฒนะ 

  • ติวานนท์ หนึ่งในเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย ช่วงแรกที่เริ่มเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงพยาบาลหูตาคอจมูก ส่งผลกระทบให้ถนนงามวงศ์วาน และถนนรัตนาธิเบศร์ติดขัดอย่างหนัก

ขณะเดียวกันบนถนนเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แล้วอย่างถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนสาทร ถนนพระราม 4 และถนนรัชดาภิเษก ก็ยังคงติดขัดเช่นเดิม เพียงแต่เส้นทางเหล่านั้นอาจมีทางเลือกอื่นๆมากกว่า เช่น การใช้ทางพิเศษ และการใช้บริการรถไฟฟ้า 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนกรุงตื่นมลพิษ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น

22 พื้นที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน สูงสุดริมถนนพหลโยธิน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง