ชงรัฐ-เอกชนให้ พนง.ทำงานที่บ้าน จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นคลี่คลาย

สิ่งแวดล้อม
16 ม.ค. 62
19:42
887
Logo Thai PBS
ชงรัฐ-เอกชนให้ พนง.ทำงานที่บ้าน จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นคลี่คลาย
นักวิชาการ เสนอให้เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐและเอกชนทำงานที่บ้านได้ จนกว่าปัญหาฝุ่นละอองจะคลี่คลาย

วันนี้ (16 ม.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจจับควันดำรถยนต์ทุกประเภท และการลดปริมาณการใช้รถยนต์ เป็น 1 ในมาตรการเร่งด่วนที่กรมการขนส่งทางบก ตำรวจจราจร และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง

พ.ต.อ.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร ระบุว่า เตรียมสั่งการด่วนไปยังสถานีตำรวจทุกแห่งให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ห้ามจอดรถยนต์ริมถนนสายหลักตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังเพิ่มจุดตรวจจับรถควันดำอีก 8 จุด จากเดิมที่มี 12 จุด รวมเป็น 20 จุด ครอบคลุมถนนสายหลัก-สายรอง ซึ่งเมื่อวานนี้ (15 ม.ค.) สามารถจับควันดำเกินมาตรฐานได้ 651 คัน โดยรถที่ผิดกฎหมายต้องปรับเปลี่ยนและผ่านการตรวจสภาพอีกครั้ง

ขณะที่กรมการขนส่งทางบก ได้เปลี่ยนการใช้น้ำมันของรถเมล์ ขสมก. จากดีเซลมาเป็นบี 20 นำร่องแล้ว 800 คันเมื่อวานนี้ ส่วนที่เหลือจะเร่งรัดปรับเปลี่ยนให้เร็วที่สุด และหมุนเวียนนำรถเมล์ล็อตใหม่มาใช้ในระยะนี้ โดยต้องเพียงพอกับผู้ใช้บริการ

 

ชงรัฐ-เอกชนให้ พนง.ทำงานที่บ้าน

ขณะที่นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า มาตรการระยะสั้นที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะช่วยลดมลพิษในอากาศได้ ส่วนข้อเสนอให้กำหนดการใช้รถยนต์เป็นวันเลขคู่-เลขคี่ตามทะเบียนรถนั้น เชื่อว่าหากบังคับใช้ทันทีย่อมเกิดการท้วงติง แต่เห็นว่าควรขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ให้ข้าราชการหรือพนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งทำได้ในทันทีและไม่ส่งผลกระทบ

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า มาตรการตรวจจับควันดำและเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น บี20 เหมาะสมตามหลักวิชาการ และปีหน้าไทยยังคงต้องเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่จะหนักหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ


ยื่นศาลปกครองสั่งนายกฯ ประกาศเขตควบคุมมลพิษ

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) สมาคมฯ จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศให้พื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการขจัดมลพิษ เนื่องจากเห็นว่าหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรง ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง