แรงงานอาเซียนหลากทักษะ-ฝีมือ แบบไหนที่ธุรกิจไทยต้องการตัว

16 มิ.ย. 58
04:52
2,221
Logo Thai PBS
แรงงานอาเซียนหลากทักษะ-ฝีมือ แบบไหนที่ธุรกิจไทยต้องการตัว

ตลาดแรงงานในไทยยังคึกคักสำหรับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ตัวเลขล่าสุดเม.ย.2558 แรงงานจากกลุ่มอาเซียน ที่เข้ามาทำงานในไทยมากถึง 1.4 ล้านคน สัญชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา อินโดนีเซีย อุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด คือ ด้านการศึกษา การผลิต ด้านโรงแรมและภัตตาคาร

การหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว กัมพูชา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเพราะด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ทั้งความแตกต่างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่แตกต่าง การเติบโตของธุรกิจในส่วนต่างๆ ร่วมทั้งวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่มีความคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เลือกที่จะเข้ามาประกอบอาชีพ เพื่อหวังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในขณะที่แรงงานไทยบางส่วนก็เลือกที่จะไปทำงานต่างประเทศ เช่นกัน

อีกทั้งในระบบเศรษฐกิจและระบบการผลิตของไทยยังขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม หรืองานบางประเภทจำนวนมาก ประกอบกับแรงงานไทยปฏิเสธที่จะทำงานบางประเภท อาทิ งานเสี่ยงอันตราย งานยาก และงานสกปรก ส่งผลให้ไทยจำเป็นที่จะต้องมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ด้านเกษตรกรรม ประมง งานบริการต่างๆ รวมถึงแรงงานก่อสร้างที่ยังขาดแคลน

นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติยังเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ เพราะเป็นแรงงานที่มีค่าแรงราคาถูก งานบางชนิดไม่ต้องใช้ทักษะมาก อีกทั้งแรงงานต่างชาติยังพร้อมที่จะทำงานตอบสนองให้กับนายจ้างได้อย่างเต็มที่ โดยไม่เกี่ยงงานด้วย

<"">

ไทยยังคงต้องมีแรงงานข้ามชาติ

นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LABOUR RIGHT PROMOTION NETWORK : LPN) ซึ่งทำงานกับแรงงานข้ามชาติ ในจ.สมุทรสาคร มานานกว่า 10 ปี ให้ข้อมูลกับ"ไทยพีบีเอสออนไลน์"ว่า มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ในช่วงที่มีการจัดระเบียบ ทั้งกลุ่มที่มีหนังสือเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้อง และกลุ่มที่เดินทางเข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย คาดว่าจะยังมีการเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการแรงงานข้ามชาติของไทยยังจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และการบริการต่างๆ ในภาคธุรกิจของไทย อย่างไรก็ตามปฎิเสธไม่ได้ว่า ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามา

“กลุ่มแรงงานที่เข้ามาแบบผ่านบริษัทจัดหางาน ต้องการเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่สามารถช่วยป้องกันความปลอดภัยได้ในหลายๆ ด้าน เพราะบริษัทจัดหางานมีระบบการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทางได้รับความสะดวกสบาย แต่บางบริษัทก็หลอกลวงเหมือนกัน”

บริษัทจัดหางานลดปัญหาแรงงานเด็ก

แรงงานที่เข้ามาผ่านทางบริษัทจัดหางาน นับว่าเป็นการป้องกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่บริษัทเหล่านี้ก็ไม่ใช่จะเชื่อถือได้ทั้งหมด มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางบริษัทหักค่านายหน้ามาก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่หลายคนมาแบบไม่ถูกต้อง บางคนทำงานแต่กลับไม่มีรายได้ ทำให้มีหนี้เป็นสิน แต่การเข้ามาผ่านบริษัทจัดหางานก็ยังมีแง่ดี สามารถป้องกันปัญหาแรงงานเด็กเพราะบริษัทจะเลือกเฉพาะแรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ ถือว่ามีระบบการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทาง เป็นการช่วยลดปัญหาลงไปได้ส่วนหนึ่ง

นายสมพงษ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่ยังคงมีอยู่สำหรับแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการต่างๆ อาจเป็นเรื่องของการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ด้านค่าจ้างแรงงาน การหลอกไปทำงานอย่างอื่นที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งปัญหาแรงงานถูกละเมิดก็ยังมีปกติ ทั้งที่เกิดจากคนไทยและเกิดจากพวกที่มาจากชาติเดียวกันเอง รวมถึงปัญหาเจ้าหน้าที่รีดไถ ส่วนปัญหาเอกสารเบาบางลงมากเพราะทุกคนก็มีเอกสารติดตัว คนที่มีพาสปอร์ตก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น

<"">

เครือข่ายช่วยดูแลกันเอง-หลากมิติ

สำหรับชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มีเครือข่ายองค์กรแรงงานข้ามชาติหลายกลุ่มรวมตัวกัน เข้ามาดูแลจัดการ ช่วยเหลือทำให้ปัญหาในเรื่องของการใช้ชีวิต ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในกลุ่มของแรงงานลดลงกว่าในอดีต จังหวัดไหนที่มีองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ เรื่องการส่งเสริม ปกป้องคุ้มครองสิทธิ์เรื่องการทำงานกับแรงงานข้ามชาติ ปัญหาที่มีก็จะลดน้อยลงไปเปรียบเสมือนเป็นการจัดระเบียบไปในตัว เช่น แรงงานพม่าที่อยู่ในพื้นที่สมุทรสาคร ก็มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อดูแลกันเองกันเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพึ่งตนเอง กลุ่มมิติทางวัฒนธรรม กลุ่มทางศาสนา กลุ่มการศึกษาของเด็ก และกลุ่มฌาปนกิจศพ เป็นการลดภาระให้กับคนไทย แต่สำหรับกลุ่มของกัมพูชา ยังมีไม่มากยังไม่มีการรวมกลุ่มกันเท่าไร คนลาวไม่มีเลย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมจัดหางาน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555-2557 มีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปี 2555 มีจำนวน 1,133,851 คน ปี 2556 มีจำนวน 1,183,835 คน ปี 2557 มีจำนวน 1,339,834 คน

อาเซียนเกือบทุกชาติแห่เข้าไทย

พื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวมากที่สุด (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2557) คือ ปริมณฑลมีจํานวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทํางานคงเหลือมากสุด จํานวน 366,684 คน คิดเป็นร้อยละ 27.23 คน รองลงมาคือ ภาคกลาง จํานวน 328,047 คน คิดเป็นร้อยละ 24.48 คน ภาคใต้จํานวน 324,216 คน คิดเป็นร้อยละ 24.20 คน ภาคเหนือ จํานวน 177,158 คน คิดเป็นร้อยละ 13.22 คน กรุงเทพมหานคร จํานวน 120,636 คนคิดเป็นร้อยละ 9 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จํานวน 23,093 คน คิดเป็นร้อยละ 1.72 คน

นอกจากนี้ จำนวนแรงงานข้ามชาติล่าสุด เดือนเมษายน 2558 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย จำนวน 1,413,501 คน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมา เป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นลักษณะแรงงานกึ่งฝีมือจำนวน 21,173 คน โดยมีสัญชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา อินโดนีเซีย อุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด คือ ด้านการศึกษา การผลิต ด้านโรงแรมและภัตตาคาร

ส่วนแรงงานไร้ฝีมือที่ได้รับอนุญาตและเข้ามาทำงานทั่วประเทศ มี เมียนมา ลาว และกัมพูชาทั้งสิ้น 1,248,416 คน แบ่งเป็น เมียนมา 980,993 คน ลาว 204,899 คน และกัมพูชา 62,524 คน ส่วนประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด คือ งานด้านเกษตรกรและปศุสัตว์ รองลงไปกิจการก่อสร้าง การให้บริการต่างๆ กิจการต่อเนื่องการเกษตร รวมถึงมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตในกิจการประมง และยังมีการพึ่งพาการใช้แรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวข้องกับกิจการอื่นๆ

<"">

คนไทยชอบแม่บ้านกะเหรี่ยง-ไทยใหญ่-ลาว

นายสมพงษ์ยังกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของแรงงานแต่ละกลุ่มแต่ละชาติว่า มีความแตกต่างกัน แล้วแต่ความชอบของนายจ้าง เช่น นายจ้างคนไทยจะชอบชาวกะเหรี่ยง ชาวไทยใหญ่ ชาวลาว มาเป็นแม่บ้าน หากเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับประมง จะเป็นแรงงานจากเมียนมาและกัมพูชา ส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร หรือก่อสร้างจะเลือกแรงงานกัมพูชากว่าเมียนมา เพราะจะมีทักษะในการทำงานมากกว่า คนลาวส่วนใหญ่จะไม่เลือกแกะกุ้ง จะชอบทำงานพวกร้านอาหาร เป็นเด็กปั๊มมากกว่าจริงๆ แล้วบางครั้งถ้าขาดแคลนแรงงานก็ไม่มีสิทธิ์เลือกต้องทำหมด

แนวโน้มความต้องการของนายจ้าง-สถานประกอบการ

“อนาคต 5-10 ปีมองว่าแรงงานต่างชาติก็ยังหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอยู่ ยกเว้นในกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านมีความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การจัดการที่ดีเรื่องของค่าจ้างค้าแรงขั้นต่ำ แต่ในเมื่อการรองรับก็ยังน้อยอยู่ตอนนี้ และคนไทยก็เลือกที่จะไม่ทำงานบางอย่างเพราะฉะนั้นในอนาคตเราก็ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติอยู่ดี” นายสมพงษ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มแรงงานต่างชาติที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือจากเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้แม้ว่ากัมพูชาจะมีโรงงานแต่ค่าแรงน้อย ทำให้แรงงานยังต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ส่วนพม่าที่จะเปิดอุตสาหกรรมอีกหลายประเภทก็ยังดำเนินการช้าอยู่ ค่าแรงก็น้อยเช่นกัน การเข้ามาของแรงงานมีจำนวนมากขึ้น

“เป็นคำถามว่า รัฐบาลไทยจะมีการบริหารจัดการที่ดีได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมันเกาะเกี่ยวกับประเด็นของนานาชาติ ที่จับตามอง ทั้งในเรื่องของสถานประกอบการหลายแห่ง ยังมีการละเมิดสิทธิแรงงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องแรงงานที่เป็นลูกเรือประมง เป็นแรงงานทาส เพราะฉะนั้นการจัดการที่จะต้องทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งเรื่องเรือประมงทะเลในน่านน้ำและนอกน่านน้ำของไทย นโยบายปีต่อปีของรัฐบาลก็ต้องมองในเรื่องมิติของการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น ต้องมากกว่ามิติเรื่องของความมั่นคง ความมั่นคงก็ยังต้องคงอยู่ ถ้าเรามองเรื่องการคุ้มครองดีขึ้น ความมั่นคงก็จะตามมาเหมือนกัน เพราะเราถูกจับตามองจากนานาชาติ”

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ภาครัฐต้องส่งเสริมด้านการศึกษา เพราะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย บางครั้งก็ไม่ได้มาตัวคนเดียว นำครอบครัวมาด้วย หรือก็อาจจะสร้างครอบครัวในประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าแรงงานเหล่านี้ยังอยู่ในประเทศไทย ก็ยังเป็นปัจจัยการผลิตหนึ่งที่สำคัญ การฝึกฝนให้แรงงานต่างชาติมีทักษะความรู้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีเราก็จะไม่ต้องไปฝึกใหม่ เพราะเราขาดแคลนแรงงานไทยในอุตสาหกรรม จึงต้องนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน แต่หากเราส่งเสริมเป็นเรื่องเป็นราว มีการจัดการที่ดีก็น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและสามารถอยู่ร่วมกับคนไทยได้

<"">

หากมองเรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย มูลค่าการผลิตในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากพี่น้องแรงงานต่างชาติ ถ้าหากเราสามารถดึงแรงงานเหล่านี้ มามีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติไทยในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานเท่านั้น ควรให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน พัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ที่แรงงานเหล่านั้นอาศัยอยู่เกิดรู้สึกว่า มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะคนไทยชอบมองว่า การรวมตัวมากๆ ของแรงงานเหล่านี้ก็จะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชนสกปรก มีขยะเพิ่มขึ้น ความไม่มีระเบียบวินัย ความจริงแล้วแรงงานเหล่านี้ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่เราไม่ค่อยยอมให้แรงงานเหล่านี้มีพื้นที่และโอกาส การที่เราเข้าสู่ AEC การอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนหรือพื้นที่ที่มีแรงงานชาวต่างชาติจำนวนมาก ก็ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านศิลปวัฒนธรรมกันมากขึ้นด้วย

“บางครั้งเราอาจจะต้องมองข้ามแรงงานที่มีทักษะ ต้องมองมิติทางวัฒนธรรม ต้องมาดูตรงนี้ด้วยว่าจะพัฒนาศักยภาพคนได้อย่างไร ในฐานะที่แรงงานต่างชาติเหล่านี้ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเรา”

นอกจากนี้บริษัทจัดหางานก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างถูกกฎหมาย จากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานข้ามชาติ ระบุรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับใบอนุญาตให้คนหางานทำงานในประเทศไทย จำนวน 249 บริษัท แต่มีบริษัทที่ยกเลิกใบอนุญาตไปแล้ว 16 บริษัทได้ (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 23 เม.ย. 2558)

นายณรงค์ ไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท คำมะนีไทย จำกัด ที่ให้บริการและรับปรึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติ ลาว เมียนมา กัมพูชา เปิดเผยว่า เมื่อมีการเปิดให้เคลื่อนย้ายแรงงานงานเสรีก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก ยังต้องขออนุญาตเหมือนเดิม หากไม่ได้เป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นตามเงื่อนไขแรงงานของ AEC 7 อาชีพ

ส่วนตัวแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงของรัฐบาลระหว่างประเทศ ก็คงจะดำเนินการเหมือนเดิม แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการรับสมัคร นายจ้างจะแจ้งความประสงค์ไปยังประเทศต้นทางให้จัดหาแรงงานให้ ขณะที่แต่เดิมจะใช้วิธีนี้ แต่ปัจจุบันเมื่อเข้าสู่ AEC เดินทางไปมาสะดวกแล้ว ลูกจ้างอาจเข้ามาดูนายจ้างก่อน หรืออาจเข้ามารับสมัครงานในเมืองไทยเอง เมื่อเข้ามาพูดคุยสัมภาษณ์ ทดสอบกันแล้วก็อาจจะตกลงแล้วค่อยกลับมาดำเนินงานต่อ ทำตามกฎหมายให้ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

“ปัจจุบันแรงงานเมียนมามีมากที่สุด รองลงมาคือ กัมพูชา ลาวน้อยที่สุด เพราะว่าคนของเขาน้อยอยู่แล้ว การดำเนินการในลาวไม่เหมือนที่อื่น เพราะคนที่ไม่มีรายได้ก็ไม่มีเลยจริงจริง ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารก็ จะสูงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการทำพาสปอร์ต การจะทำเอกสารอะไรที่เป็นของส่วนตัว การเดินทางก็ยากลำบาก กัมพูชาจะเดินทางสะดวกกว่า ส่วนพม่าจะเข้ามาในรูปแบบของการพิสูจน์สัญชาติ คนก็มีมากกว่า เข้าออกก็สะดวกพอสมควร” นายณรงค์กล่าว

<"">

สำหรับอาชีพที่ชาวเมียนมาเข้ามาทำจะเป็นสายการผลิต เช่น ปอกกุ้ง อยู่ในสายการผลิต ในแถบจ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ทำงานเกี่ยวกับเรื่องอาหารโรงชำแหละไก่ ส่วนงานก่อสร้างชาวกัมพูชา มีทักษะในการทำงานก่อสร้างดีกว่า จำพวกก่อ ฉาบ ขณะที่แรงงานเมียนมาจะได้แค่ผูกเหล็ก

ส่วนแรงงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุดเป็นคนลาว คนลาวฟังภาษาไทยรู้เรื่อง พูดสื่อสารกันรู้เรื่อง สั่งงานเข้าใจง่าย การกินอยู่ก็คล้ายๆ กัน มีวัฒนธรรมประเพณีใกล้ๆ กัน นายจ้างต้องการคนลาวมาทำงานแม่บ้าน เลี้ยงเด็ก มาทำความสะอาดบ้าน ดูแลคนป่วยคนชรา มากที่สุด แต่คนลาวมีจำนวนน้อย

ส่วนเมียนมาจะทำงานเก็บเงินเป็นหลักและมีรายได้พิเศษมาจากงานเหมา พร้อมจะทำงานอย่างเต็มที่และไม่เลือกงาน งานสกปรกก็ไม่เกี่ยง แต่ถ้าอยู่รวมตัวกันมากๆ ก็จะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอยู่บ้าง คนกัมพูชาจะมีข้อดีคือจะสู้งานกว่าชาติอื่น มีทักษะในการทำงานดีกว่า ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

สำหรับงานที่ลูกจ้างต้องการเข้ามาทำมากที่สุดคือ งานอุตสาหกรรมเป็นอันดับ 1 เพราะมีสวัสดิการที่ดีหลายอย่าง เช่น มีเงินค่าล่วงเวลา มีรถรับส่ง หอพัก อาหาร แต่หากคนที่ชอบงานก่อสร้างก็จะไม่เข้ามาทำงานในสายอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะงานก่อสร้างเมื่อจบงานก็สามารถหยุดยาวได้ แต่ถ้าเป็นสายอุตสาหกรรมต้องทำงานเป็นเวลา แต่มีข้อดีในเรื่องสวัสดิการต่างๆ

“สำหรับความต้องการแรงงานข้ามชาติก็มองว่ายังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ แม้นายจ้างต้องการเปลี่ยนมาจ้างแรงงานไทย แต่เพราะแรงงานไทยเข้าๆออกๆ แรงงานไทยทำงานตามฤดูกาล ช่วงไหนนาแห้งแล้งคนไทยก็จะไม่ขาด เพราะทำนาไม่ได้ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูทำนา แรงงานไทยก็จะน้อยลงไป บางครั้งแรงงานทำงานไปนานๆ ก็เปลี่ยนอาชีพ ไปทำธุรกิจของตัวเอง แรงงานจึงยังขาดแคลน” นายณรงค์กล่าว

ทุกวันนี้แม้จะพบว่าในประเทศไทยมีความต้องการแรงงาน ประกาศรับสมัครงานจำนวนมาก แต่ทว่ายังคงมีคนไทยจำนวนมากที่ว่างงานเช่นกัน ขณะที่การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติก็ยังมีจำนวนมาก ไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มอาเซียน จึงมีคำถามว่า คนไทยไม่มีศักยภาพหรือคุณสมบัติ เพียงพอที่จะทำงาน งานไม่เหมาะกับผู้ที่ว่างงาน หรือเป็นเพราะคนไทยเลือกงานที่จะทำกันแน่

ยไมพร คงเรือง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง