แพทย์ชี้ "มลพิษทางอากาศ" กระทบเด็กรุนแรง

สิ่งแวดล้อม
23 ม.ค. 62
13:29
2,120
Logo Thai PBS
แพทย์ชี้ "มลพิษทางอากาศ" กระทบเด็กรุนแรง
แม้ภาครัฐยืนยันว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังไม่วิกฤต แต่ก็พบการตื่นตัวของประชาชน โดยเฉพาะกับเด็กๆ ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์ว่าหากยังไม่มีมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังจะส่งผลกระทบรุนแรงกับเด็ก

"เด็ก" ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดจาก PM 2.5 โดยข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นสรีระทางร่างกาย หรืออุปกรณ์ป้องกันอย่างหน้ากากเอ็น 95 ก็ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้อย่างเต็มที่

ขณะนี้มี 4 กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบกับฝุ่น PM 2.5 หลักๆ คือคนที่ทำงานในที่โล่ง, ผู้ป่วย, คนชรา และเด็ก แต่มาตรการของรัฐยังไม่ชัดเจน หลายโรงเรียนเริ่มงดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในปัญหาหากรัฐบาลไม่แก้ไข นอกจากฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กแล้ว ยังทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้ตามวัยที่เหมาะสมจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะดีขึ้น

ส่วนมาตรการรณรงค์ให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งรัฐชี้ว่ายังไม่ใช่สถานการณ์วิกฤต ส่งผลให้เด็กบางกลุ่มที่มีข้อจำกัดเรื่องฐานะ หรือไม่คิดว่าเป็นปัญหาวิกฤตมากพอที่จะต้องป้องกันตัวเองจากมลพิษ ก็อาจทำให้พวกเขาไม่คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นต้องซื้อ เพราะต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในครอบครัว

"เด็ก" เสี่ยงรับ PM 2.5 มากกว่าผู้ใหญ่

ผลกระทบสำหรับเด็กเล็ก ค่อนข้างชัดว่ามีผลกับสุขภาพ พัฒนาการทางกายและสมองในระยะยาว ซึ่งหากพวกเขาได้รับฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่วัยเด็กจะทำให้ระยะเวลาในการสะสมฝุ่นนานขึ้นและมีโอกาสเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยแพทย์อธิบายว่า เด็กเล็กเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ เริ่มตั้งแต่อัตราการหายใจ โดยปกติแล้วเด็กแรกเกิดจะมีอัตราการหายใจ 50 ครั้งต่อนาที เด็กเล็ก 30 ครั้งต่อนาที ในขณะที่ผู้ใหญ่หายใจอยู่ที่ 20-30 ครั้งต่อนาที ซึ่งตัวเลขนี้บอกได้ว่าอัตราการหายใจยิ่งเร็ว ยิ่งสูด PM 2.5 เข้าไปได้มากกว่า จึงหมายความว่าเด็กที่หายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ก็มีโอกาสรับฝุ่น PM 2.5 ได้มากขึ้น

ส่วนกลไกทางร่างกายของเด็กที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ เช่น ทางเดินหายใจและถุงลมที่ยังขยายตัวไม่เต็มที่ บวกกับการขับเมือกที่มาช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมก็ยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับผู้ใหญ่ จึงทำให้ฝุ่นเดินทางลงปอดได้เร็ว โดยไม่มีตัวกรอง ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกัน หรือเม็ดเลือดขาวในเด็ก ก็ยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว หรือมีประสิทธิภาพเท่ากับผู้ใหญ่ จึงทำให้เด็กป่วยง่าย ติดเชื้อง่ายและรับฝุ่น PM 2.5 ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่

นอกจากนี้ หน้ากากอนามัยที่วางจำหน่ายก็ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับเด็กโดยเฉพาะ ส่งผลให้การสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่ผลกระทบในทางสุขภาพเท่านั้น โดย พญ.ปองทอง ปูรานิธี ย้ำว่าฝุ่นสามารถแทรกซึมสู่เลือด และระบบประสาทได้ เท่ากับว่าผลกระทบที่เกิดกับเด็กไม่ได้หยุดอยู่ที่สุขภาพเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้กับระบบสมอง ส่งผลให้เด็กมีภาวะสมาธิสั้น รวมถึงส่งผลต่อไอคิวด้วย

WHO เผยเด็กเสียชีวิตจากมลพิษนับแสนคนต่อปี

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า แต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิตมากกว่า 1.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 570,000 คน

สำหรับมาตรการในต่างประเทศ จะมีการกำหนดว่าค่าฝุ่นระดับไหนควรอยู่นอกอาคาร หรือในอาคาร แต่ก็มีปัญหาว่ามาตรฐานการวัดค่าฝุ่นของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ส่วนของประเทศไทยยังมีมาตรฐานการวัดค่าฝุ่นที่ไม่เป็นสากล

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพิชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำว่า การไม่ยอมรับว่าสถานการณ์ฝุ่นในประเทศวิกฤต เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราไม่มีรูปธรรมของการแก้ปัญหา

 

ประเด็นสำคัญคือการไม่ยอมรับว่ามันเป็นวิกฤตมลพิษทางอากาศ และไม่ยอมรับว่าเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข ยังมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี หรืออาจเป็นเรื่องที่ไม่ต้องการแสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้นมีหลายข้อเสนอเห็นตรงกันว่าควรมีการสั่งให้หยุดโรงเรียน ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่ารัฐจะมีมาตรการรองรับเด็กๆ ที่ต้องหยุดเรียนหรือไม่ และที่สำคัญจะมีมาตรการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่เข้มข้นมากกว่าการใช้มาตรการเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง