นักวิชาการเรียกร้องออกร่าง กม.อากาศสะอาด

สังคม
23 ม.ค. 62
15:00
1,593
Logo Thai PBS
นักวิชาการเรียกร้องออกร่าง กม.อากาศสะอาด
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ร่างกฎหมายอากาศสะอาดและจัดตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลสภาพอากาศโดยเฉพาะเหมือนสหรัฐฯ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พร้อมมองดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศแค่ PM2.5 และ AQI ไม่เพียงพอ ควรกำหนดมาตรฐานของสารพิษที่เกาะมากับ PM2.5 ด้วย

วันนี้ (23 ม.ค.2562) ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัมนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เปิดเผยถึงวิกฤติฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า จากงานวิจัยที่ได้ทำมาประมาณ 10 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับปัญหามลพิษที่ประเทศอังกฤษ สิ่งที่อยากจะสื่อไปทางสาธารณะให้ทราบคือเรามองแต่ PM2.5 และ AQI อย่างเดียว ซึ่งแค่ 2 ตัวนี้ไม่เพียงพอ เพราะว่า AQI เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ได้มาจากการคำนวณของค่าแก๊ส เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และค่าของ PM10 และล่าสุดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางกรมควบคุมมลพิษมีการนำเอา PM2.5 เข้ามาบวกรวมเข้าไปในการคำนวณค่า AQI ของไทย ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลที่ปฏิบัติกันมา เพียงแต่ว่ายังมีสารเคมีที่เป็นพิษ รวมไปถึงจุลินทรีย์ที่อันตรายอีกหลายชนิด ซึ่งอยู่ในฝุ่น PM2.5 ซึ่งไม่ค่อยได้มีการกล่าวถึงอย่างสารพิษ เช่น สารก่อมะเร็ง หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน สารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อการกลายพันธุ์ หรือว่ายาฆ่าแมลงต่างๆ ซึ่งจัดอยู่ในสารอินทรีย์ย่อยสลายยาก พวกนี้เวลาปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว อยู่ได้ใน 2 แบบ แบบแรกอยู่ในแบบแก๊ส เป็นไอระเหย อีกแบบอยู่ในรูปแบบของฝุ่นละออง ซึ่งไม่ได้มีขนาดเดียว

 

 

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว เกิดวิกฤติหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งที่พูดกันมากเป็น PM10 ซึ่งค่ามาตรฐานที่ใช้คือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายใน 24 ชั่วโมง คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อวิวัฒนาการเกิดขึ้น วิทยาศาสตร์พัฒนามากขึ้น แนวโน้มของนักวิชาการจะมองขนาดของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น มีการมองไปที่ PM1.0 แล้ว ไม่ใช่เพียง PM2.5 แม้ว่า PM2.5 เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด แต่เขาจะมองเล็กกว่านั้นอีก นี่คือทิศทางและแนวโน้มของวงการวิชาการโลกที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ

 

 

 

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า เรื่องที่เรียกร้องมาโดยตลอดและยังไม่เกิดขึ้นคือค่ามาตรฐานของสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศภายนอกอาคาร ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ซึ่งยังไม่รวมถึงค่ามาตรฐานของสารพิษอีกหลายชนิดที่เป็นสารพิษชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งประเทศไทยเพิ่งมาพูดถึง PM2.5 และระยะหลังเป็น AQI ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ ทั้งที่จริงๆ แล้ว สารพิษเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่กลับถูกละเลยและไม่ได้สนใจอะไรเลย PM2.5 เปรียบเสมือนเป็นยานพาหนะที่สารพิษเข้ามาในส่วนที่ลึกที่สุดของปอดแล้วท้ายที่สุดก็เข้าไปสู่กระแสเลือด ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อคือตัวชี้วัด PM2.5 เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ถ้าไม่มี PM2.5 สารพิษจะเข้าไปในส่วนที่ลึกที่สุดของปอดได้ สิ่งที่จะต้องทำต่อคือ PM2.5 มีอะไรเกาะมาด้วยบ้าง ซึ่งเราไม่รู้อะไรเลย

 

 

 

ทั้งนี้ อยากเสนอให้หน่วยงานของรัฐกำหนดมาตรฐานของสารพิษที่เกาะมากับ PM2.5 เช่น สารก่อมะเร็งยังไม่มีค่ามาตรฐานเลย ซึ่งภายนอกอาคารจำเป็นต้องมี และโลหะหนักหลายชนิดจำเป็นต้องมี รวมไปถึงสารอินทรีย์ย่อยสลายยากอื่น ซึ่งอยู่ในอนุสัญญาสตอกโฮล์ม จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายมาควบคุมให้ชัดเจน แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่เรียกร้องมาโดยตลอด คือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งในปี ค.ศ.1952 เกิดวิกฤติหมอกควันรุนแรงในอังกฤษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 12,000 คน จากโรคระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากมีการใช้ถ่านหินเกี่ยวกับการสร้างความอบอุ่นในครัวเรือนในช่วงเวลานั้นที่เป็นฤดูหนาวพอดี ซึ่งจะมีปรากฏการณ์คล้ายกับประเทศไทย คือปรากฏการณ์อีเมอร์ชั่น ทำให้ปริมาตรอากาศหดตัวลง ความเข้มข้นเลยพุ่งสูง อากาศกักตัวนิ่งไม่ไปไหน เลยทำให้เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องกดดันรัฐบาลอังกฤษ ให้มีการร่างพระราชบัญญัติเรื่องกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นมาแยกออกมาต่างหากในปี ค.ศ.1956 หรือ 4 ปีหลังจากเกิดวิกฤติหมอกควันในกรุงลอนดอน และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ได้มีการออกกฎหมายอากาศสะอาดขึ้นมา

 

 

 

ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีกฎหมายต่างๆ ที่แยกออกมาดูแลสภาพอากาศโดยเฉพาะ เช่น สิงคโปร์มีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาในปี ค.ศ.1971 หรือมาเลเซียมีการร่างข้อบังคับคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อากาศสะอาด) ขึ้นมา แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ในพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 และนำเรื่องอากาศเข้าไปอยู่ในนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายก
รัฐมนตรีนั่งเป็นประธานอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ควรจะมีหน่วยงานคล้ายกันกับสำนักปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสั่งเปิดปิดโรงงานได้ หากโรงงานนั้นไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม ปลดปล่อยมลพิษออกมามากเกินไป ซึ่งควรจะมีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อดูแลสภาพอากาศโดยเฉพาะ ควรจะแยกออกมาต่างหากจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

 

 

 

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า ยังมีข้าราชการดีๆ ตั้งใจจะทำงานเพื่อประเทศชาติจำนวนมากอย่างในกรมควบคุมมลพิษ แต่บางคนอยู่ในลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนกับว่าตกเป็นจำเลยของสังคม แต่ส่วนหนึ่งคืออำนาจในเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถที่จะไปก้าวล่วงหน่วยงานราชการอื่นได้ ซึ่งจะคล้ายกับปัญหาน้ำของประเทศที่พยายามให้มีกระทรวงน้ำเกิดขึ้น เพราะว่าไม่สามารถบูรณาการได้เลย หน่วยงานราชการแต่ละหน่วยล้วนแล้วมีความเกี่ยวข้องกับน้ำด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนในประเทศไทยเองเรื่องสิ่งแวดล้อมมาทีหลัง จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.สาธารณสุข มีมาก่อน ขณะที่ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม มาทีหลัง ในขณะที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก่อน จึงมีสำนักป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องนี้เลยโดยตรง

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง