ปรับเกณฑ์ฝุ่นพิษสูง 75 ให้ผู้ว่าฯ กทม.ใช้กฎหมายรายเขต

สิ่งแวดล้อม
24 ม.ค. 62
19:13
7,447
Logo Thai PBS
ปรับเกณฑ์ฝุ่นพิษสูง  75 ให้ผู้ว่าฯ กทม.ใช้กฎหมายรายเขต
คณะกรรมการควบคุมมลพิษ ไฟเขียวออกมาตรการควบคุมค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 เป็นรายเขตที่เกินมาตรฐาน โดยให้ผู้ว่าฯ กทม. ยุติกิจ กรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดได้ทันที หากเขตใดค่าเฉลี่ยเกิน 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

วันนี้( 24 ม.ค.2562) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ว่า ที่จะประชุมมีมติออกระดับควบคุมค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลใหม่ด้วยการแก้ปัญหาค่าฝุ่นละอองเป็นรายเขตที่เกินมาตรฐาน คือ

  • ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 50-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้เดินหน้ามาตรการทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ 
  • ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรา 28/1 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญและมีอำนาจยุติกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ทันที
  • ค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ทส.จะเรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทันทีในการพิจารณาข้อกฎหมายออกมาควบคุมมลพิษ

โดยจะใช้อำนาจเฉพาะพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเท่านั้น ด้วยการประกาศยุติการทำกิจกรรมที่ก่อให้มลพิษจากแหล่งกำเนิด และค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จะประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทันที ในการพิจารณาข้อกฎหมายออกมาควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการต่อไป

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ช่วงวันที่ 28-29 ม.ค.นี้ ต้องเฝ้าระวังสภาพอากาศ เนื่องจากอิทธิพลมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุม ภาคกลางจะส่งผลให้สภาพอากาศปิด และลมสงบนิ่งอาจทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นได้ ทั้งการควบคุมการจราจรให้คล่องตัว ไม่จอดรถริมถนน การตรวจจับควันดำ ใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 เพื่อควบคุมมลพิษลดลงในช่วงวิกฤติ

 

 

เสนอตั้ง "สำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม"แก้มลพิษทางอากาศ

ด้านนายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า คุณภาพอากาศของไทย ไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับสารโลหะหนัก และจุลินทรีย์ มีเพียงแค่สารตะกั่วเพียงตัวเดียว สิ่งที่น่ากังวลคือโลหะหนัก และจุลินทรีย์สามารถเกาะติดฝุ่นขนาดเล็กนี้เข้าสู่ปอดได้ โดยที่ไม่รู้ค่ามาตรฐานเลยว่าไม่ควรเกินเท่าใด ขณะที่การแก้ปัญหาเหมือนการเขี่ยบอล เพราะมีหลายหน่วยงานในการแก้ปัญหา

ดังนั้นเสนอให้การตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอากาศให้เป็นหนึ่งเดียว คล้ายการบริหารจัดการน้ำที่มีคณะทำงานขึ้นมา โดยอาจตั้งสำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยขึ้น คล้ายกับสำนักปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด เมื่อเกิดปัญหามลพิษทางอากาศขึ้นสามารถมีอำนาจจัดการได้ทันที  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศธ.ชี้หยุดเรียน "หนีฝุ่น" ใช้ดุลยพินิจโรงเรียน

คพ.ชงบอร์ดมลพิษประกาศภัยพิบัติทางอากาศ-ปรับค่าฝุ่น PM2.5

ทส.พร้อมใช้กฎหมาย หากฝุ่น PM 2.5 วิกฤตอีกรอบ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง