ภัยใกล้ตัว! รับมือฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ได้มีแค่เฉพาะนอกบ้าน

สังคม
25 ม.ค. 62
17:21
21,072
Logo Thai PBS
ภัยใกล้ตัว! รับมือฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ได้มีแค่เฉพาะนอกบ้าน
แพทย์ รพ.จุฬาฯ ชี้ภายในอาคารก็เสี่ยงเจอฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมได้ จากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งควันจากการจุดธูป การพริ้นต์งาน และการทำอาหาร แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด พบเด็กป่วยภูมิแพ้ มีอาการกำเริบเร็วและรุนแรงขึ้น

วันนี้ (25 ม.ค.2562)  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ PM 2.5 ตระหนักอย่างไม่ตระหนก

รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ระบุว่า ในช่วงที่กรุงเทพมหานครเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 พบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีอาการกำเริบเร็วและรุนแรงขึ้น

บางเคสหมอนัด 3 เดือน แต่คนไข้มารักษาก่อนนัดหรือเข้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลอื่นบ่อยขึ้น บางคนต้องเพิ่มยาแก้แพ้ โดยทานทุกวัน บางคนใช้ยาพ่นจมูกมากขึ้น นอนไม่หลับ ไอ ระคายคอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก


ขณะที่มีคนไข้เด็กโรคภูมิแพ้ที่ไม่มีอาการกำเริบมาประมาณ 1 ปี แต่กลับมีอาการนอนไม่หลับ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไม่มีอาการไข้หรือน้ำมูกร่วมด้วย รศ.พญ.พรรณทิพ จึงเริ่มทำวิจัยในการสำรวจเบื้องต้น ร่วมกับ น.ส.ธนพร จิตติพลังศรี นำเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง  PM 2.5 ไปวัดภายในบ้าน และนอกบ้านเด็กคนดังกล่าวแล้วพบว่า มีค่าสูง โดยภายนอกวัดค่าฝุ่นได้ 80 มคก.ลบ.ม. ส่วนภายในวัดได้ 55 มคก.ลบ.ม. 

 

 

ซักประวัติเพิ่ม พบว่า บ้านเด็กอยู่ติดริมถนน ร่วมกับมีการก่อสร้างอยู่ใกล้ๆ บ้านด้วย จึงแนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยทำความสะอาดอากาศในบ้าน


ขณะที่มีการทดสอบวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ในบ้านอีก 5 หลัง รวมเป็น 6 หลัง พบว่าภายนอกและภายในบ้านมีค่าฝุ่น PM 2.5 ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยการทดสอบ 10 วัน พบว่า ในช่วงที่มีการเปิด-ปิดประตูบ้านค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้นเฉพาะจุดอย่างมีนัยยะอีกด้วย

นอกจากนี้  น.ส.ธนพร และคณะยังได้ทำการศึกษาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในอาคาร 7 แห่งจาก 4 ประเภท คือ บ้าน โรงแรมหรือคอนโด สำนักงาน และโรงพยาบาล โดยผลการศึกษาพบว่า มี 2 สถานที่พบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ภายในอาคารมากกว่าภายนอกอาคาร ได้แก่ โรงแรมในพื้นที่สีลม กทม. ภายในอาคารวัดค่าได้เฉลี่ยประมาณ 24 มคก.ต่อ ลบ.ม. ส่วนภายนอกอาคารวัดได้เฉลี่ยเพียง 9 มคก.ลบ.ม. และอีกพื้นที่ คือ บ้านใน บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ภายในอาคารวัดค่าได้เฉลี่ยประมาณ 46 มคก.ต่อ ลบ.ม. ส่วนภายนอกอาคารวัดได้เฉลี่ย 11 มคก.ต่อ ลบ.ม.

สำหรับต้นกำเนิดของ  PM 2.5 ภายในบ้านมาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ควัน เครื่องพิมพ์เอกสาร การประกอบอาหาร และพื้นที่ริมถนน ดังนั้น รศ.พญ.พรรณทิพ แนะนำว่า ควรอยู่ในบ้านให้มากขึ้น โดยตรวจสอบให้มั่นใจว่าภายในบ้านไม่มีแหล่งกำเนิด PM 2.5 และอาคารมีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าช่วงไหนที่ค่า PM 2.5 ต่ำๆ หรือมีอากาศปลอดโปร่งก็ควรเปิดประตู-หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศด้วย เพราะการปิดประตูหน้าต่างทตลอดเวลา อาจทำให้เกิดเชื้อราและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผู้อาศัยหายใจออกมาจนสะสมอยู่ภายในบ้านได้ 

หากต้องออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยให้แนบกับรูปหน้ามากที่สุด สำหรับเด็กนักเรียน โรงเรียนบางแห่งเริ่มให้เด็กเข้าแถวช่วงเช้าภายในอาคาร งดกิจกรรมกลางแจ้งแล้ว

ทั้งนี้ รศ.พญ.พรรณทิพา ย้ำว่าสำหรับผู้ปกครองเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะภูมิแพ้ต้องคอยสังเกตอาการและแยกระหว่างผลกระทบจากการติดเชื้อหรือผลกระทบจากฝุ่นให้ชัดเจน เพราะอาการติดเชื้อเด็กจะมีไข้แต่เพียง 1 สัปดาห์ก็จะหาย แต่หากมีอาการเป็นๆ หายๆ ติดต่อกัน ให้สงสัยไว้ก่อนว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบกับตัวเด็กหรือไม่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง