ทำยังไง ? ให้เมืองกรุงน่าอยู่

สังคม
25 ม.ค. 62
17:39
1,014
Logo Thai PBS
ทำยังไง  ? ให้เมืองกรุงน่าอยู่
ภัยคนเมือง ความเสี่ยงรอบด้านทั้งอุบัติเหตุจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ปัญหามลพิษจากฝุ่น อาชญากรรม นักวิชาการด้านพัฒนาเมือง ชี้กฎหมายมีรองรับ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ด้านผู้เคยประสบเหตุเจอน้ำปูนหกใส่รถ เตือนจุดก่อสร้างรถไฟฟ้า

จากเหตุเครนก่อสร้างคอนโดมิเนียม ถล่มย่านพระราม 3 ถล่ม จนเป็นเหตุให้มีผู้มีเสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บสาหัส 3 คน จึงนำมาสู่คำถามถึงความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงในชีวิตค่อนข้างมากทั้งการก่อสร้าง ปัญหาอาชญากรรมไปจนถึงปัญหามลพิษที่ ล่าสุดต้องเผชิญกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มานานเกือบ 1 เดือนแล้ว 

 

 

การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด


นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า จากอุบัติเหตุเครนถล่มในพื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียม จนถึงเหตุอาคารถล่มย่านรามคำแหง และการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง จนถึงการระบายน้ำเสียจากท่อที่ไหลใส่ประชาชน พบว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ มีกฎหมายที่สามารถบังคับใช้ได้ทั้งหมด โดยพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แต่การบังคับใช้กฎหมายจะต้องเข้มงวดมากกว่านี้ เนื่องจากที่ผ่านมามักที่จะไม่เคร่งครัดหากไม่เกิดเหตุขึ้น

ทั้งนี้ การดูแลควบคุมความปลอดภัยพื้นที่ก่อสร้างต่างในต่างประเทศจะควบคุมทั้งความปลอดภัย การเฝ้าระวังมลพิษฝุ่นควัน เสียง แรงสั่นสะเทือน ส่วนพื้นที่ก่อสร้างในกรุงเทพฯจะพบว่าบางแห่งไม่มีป้ายกำหนดเวลาการก่อสร้างที่แล้วเสร็จ หรือจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น  

 


ขณะที่จากการสำรวจของโครงการ Good Walk พบว่า อุปสรรคในการเดินเท้าของประชาชนคือการเดินไม่สะดวก มีสิ่งกีดขวาง วัสดุปูพื้นที่ไม่ดีพอ เป็นหลุมบ่อ ทำให้ประชาชนไม่อยากเดิน รวมถึงการตระหนักรู้สาธารณะที่น้อย ทำให้เกิดการทิ้งขยะ และฝุ่นควันที่เป็นปัญหา ยิ่งทำให้คนไม่กล้าเดินเพราะกังวลผลกระทบต่อสุขภาพ

การแก้ไขปัญหาจะค่อนข้างผิดฝาผิดตัวคือ ในต่างประเทศจะเน้นการสร้างเมืองเดินเท้าเพื่อลดปัญหามลพิษที่เกิดจากการเดินทาง ด้วยระบบรถยนต์ส่วนบุคคล แต่เราไม่สามารถผลักดันให้เกิดเมืองเดินเท้าได้ และคนก็ไม่อยากเดินเท้ามาสูดฝุ่นมลพิษ

 

สร้างจิตสำนึกประชากรแฝง สร้างรั้วป้องกันอาชญากรรม


ขณะที่ปัญหาอาชญากรรม เกิดขึ้นจากกายภาพของกรุงเทพฯ ที่มีซอยลึก และซอยตันจำนวนมาก และทำให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่เสี่ยงเพราะมืด เปลี่ยว และขาดการเฝ้าระวัง รวมถึงการขาดความรู้สึกว่าคนข้างนอกเป็นครอบครัว ต่างจากชนบทที่รู้จักกัน ช่วยกันสอดส่องดูแล ทำให้สังคมเมืองอันตรายมากขึ้น

 


คนกรุงเทพฯเป็นคนมีกรรม ทั้งค่าเดินทางที่แพง รายได้ต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง การบริการสาธารณะของเมืองก็ไม่ดีพอ


ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ยังมองว่า การบริหารจัดการกรุงเทพฯ ที่ต้องรับผิดชอบดูแลประชากรกว่า 10 ล้านคน แบ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ตามทะเบียนราษฎร์ราว 6 ล้านคน และประชากรแฝงอีก 4 ล้านคน ผู้บริหารเมืองควรที่จะคำนึงถึงกลุ่มประชากรแฝงด้วยการสร้างความรู้สึกให้พวกเขาเป็นเจ้าของเมืองด้วย จะทำให้กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งของชาวกรุงเทพฯและประชากรแฝงได้อย่างแท้จริง

 

 

ให้ความสำคัญ Universal Design 

นายอดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากดูแลบุคคลทั่วไป การที่จะให้ทุกชีวิตใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต้องคำนึงถึงกลุ่มคนอื่นด้วยเช่น กลุ่มคนพิการ เด็ก หรือ ผู้สูงอายุ ซึ่งการออกแบบกายภาพของระบบสาธารณูปโภคต้องให้ทุกคนสามารถใช้ได้ด้วยรูปแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ที่ขณะนี้อาจตีโจทย์ผิดและทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างผู้พิการ และบุคคลทั่วไปด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วต้องช่วยให้ผู้พิการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนทั่วไปได้อย่างปกติที่สุด

หากโครงสร้างเมืองไม่พิการ ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุก็สามารถดูแลตัวเองได้ เช่นการสร้างสะพานลอย หรือ ปุ่มกดเพื่อข้ามทางม้าลาย แต่เราเน้นการสร้างสะพานลอยซึ่งกลุ่มผู้พิการไม่สามารถใช้สะพานลอยได้

 

  

 

“คนกรุง” ต้องดูแลตัวเอง


น.ส.สุทธาทิพย์ มุสิกอง หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการและเจ้าหน้าที่สัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประมาณเดือน ก.พ.ปี 61 ขณะขับรถยนต์เพื่อเดินทางกลับบ้านพักเส้นทางถนนพหลโยธิน – สะพานใหม่ ได้ประสบเหตุน้ำปูน จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าตกใส่รถยนต์จนได้รับความเสียหายแต่ไม่มากนัก ต้องใช้น้ำยาล้างออกมีค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 3,000 กว่าบาท

 

แต่เดิมมีความคิดที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้รับเหมา แต่คาดว่าจะเสียเวลา และความเสียหายที่ไม่มากนักจึงไม่ฟ้องดำเนินคดี แต่หากเป็นกรณีที่รุนแรงกว่านี้ เช่น อุปกรณ์ก่อสร้างขนาดใหญ่หล่นลงมาทับใส่รถที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินก็คิดว่าจะต้องดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี


การอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากดูแลตัวเองยังต้องดูคนอื่นด้วย คนกรุงเทพฯต้องยึดคตินี้ เพราะแม้ว่าจะมีมาตรการป้องกันแต่อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

 
อย่างไรก็ตาม น.ส.สุทธาทิพย์ ระบุว่า ประชาชนทั่วไปควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ แม้ว่าจะมีความระมัดระวังตัวเอง รวมถึงก็ต้องการให้ผู้รับเหมาหรือผู้ที่ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพิ่มความเข้มงวดในมาตรการรักษาความปลอดภัยมากกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง