ไทยแนะออสเตรเลีย-บาห์เรนร่วมเจรจาทางออกคดี "ฮาคีม"

ต่างประเทศ
5 ก.พ. 62
19:03
542
Logo Thai PBS
ไทยแนะออสเตรเลีย-บาห์เรนร่วมเจรจาทางออกคดี "ฮาคีม"
กระแสกดดันไทยไม่ให้ส่งตัวฮาคีมให้บาห์เรนเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แม้ไทยจะยืนยันว่ายังไม่ได้ส่งตัวและไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาชี้แจงบทบาทของไทยเพื่อลดแรงกดดัน ขณะที่วันนี้ UNHCR ได้เข้าพบรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

วันนี้ (5 ก.พ.2562) ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าพบ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นการส่วนตัว โดยใช้เวลาพบกันประมาณ 30 นาที

พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความขอบคุณกรณีของ น.ส.ราฮาฟ ชาวซาอุดิอาราเบีย นอกจากนี้ยังแสดงความห่วยใยในกรณีของฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน วัย 25 ปี ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย แต่ไม่ได้ก้าวล่วงกระบวนการ เนื่องจากขณะนี้เรื่องของฮาคีมอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว

ท่าทีรัฐบาลไทยต่อกรณี "ฮาคีม"

สำหรับท่าทีของทางการไทยเกี่ยวกับเรื่องฮาคีม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ และไม่อยากให้รีบตัดสินไปก่อนการพิจารณาของศาล ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับทางการออสเตรเลียและบาห์เรนแล้ว พร้อมเตรียมการรับมือเพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขออย่ากดดัน เพราะไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ พร้อมแนะประเทศคู่กรณีคือประเทศออสเตรเลียและบาห์เรนใช้วิธีทางการทูตหาทางออกร่วมกัน แต่หากไม่สามารถพูดคุยได้ ไทยก็พร้อมเป็นคนกลาง

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีนี้ด้วยเช่นกันว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถให้ความคิดเห็นได้

ส่วนความคืบหน้าของกระบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของฮาคีม ทนายความของฮาคีมระบุว่าอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดคำร้องของอัยการและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อใช้ต่อสู้ คัดค้านการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในชั้นศาล ซึ่งมีเวลาประมาณ 60 วันก่อนศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 เม.ย.นี้

"ออสเตรเลีย" เรียกร้องไทยใช้อำนาจปล่อยตัวฮาคีม

แม้ไทยยืนยันว่าจากนี้ไปเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล แต่ออสเตรเลียก็ยืนยันว่าไทยสามารถปล่อยตัวฮาคีมได้ โดยไม่ต้องอ้างอิงกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

นายมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ย้ำถึงความกังวลของรัฐบาลออสเตรเลียต่อกรณีที่ทางการไทยคุมขังฮาคีม ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียและเตรียมส่งตัวนายฮาคีมกลับไปดำเนินคดีในบาห์เรน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้อำนาจปล่อยตัวฮาคีมให้เดินทางกลับไปพบกับครอบครัวในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่พำนักถาวร โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

 

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลีย ระบุว่า ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่อัยการไทยเปิดเผยว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวฮาคีม เพื่อให้สามารถเดินทางกลับไปยังออสเตรเลียได้ หลังจากศาลอาญาขยายเวลาการควบคุมตัวต่อไปอีก 2 เดือน เพื่อให้ยื่นหลักฐานต่อศาลสำหรับคัดค้านการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากฮาคีมปฏิเสธเดินทางกลับบาห์เรนโดยสมัครใจ

ขณะที่ผู้แทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า รัฐบาลไทยควรตระหนักถึงเจตนาของทางการบาห์เรนที่ต้องการลงโทษฮาคีม จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งทำให้เสี่ยงที่จะถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ถูกทรมานและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่สมควรหากถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรน

แฮชแท็ก "ฮาคีม" ถกเถียงในทวิตเตอร์

ชุมชนทวิตเตอร์มีการถกเถียงเรื่องของฮาคีมกันไม่น้อย แต่เรื่องราวของเขาซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวโยงกับหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ข้อกฎหมาย การกักขัง ทุกครั้งที่มีข้อมูลเพิ่มก็จะทำให้เกิดแฮชแท็กใหม่ๆ ตามมา ซึ่งแฮชแท็กที่ขึ้น 2 อันดับความนิยมในทวิตเตอร์ เมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) คือ #SaveHakeem และ #BoycottThailand และล่าสุดมี #saveThailand เพื่ออธิบายว่าไทยอยู่ในสถานะคนกลาง ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้

#SaveHakeem เป็นแฮชแท็กแรกที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของฮาคีมที่ถูกกักขังอยู่ในประเทศไทย เรียกร้องให้เขาได้รับความช่วยเหลือ โดยมีคนดังร่วมติดแฮชแท็กนี้ อย่าง ดิดิเยร์ ดร็อกบา, เคร็ก ฟอสเตอร์ อดีตนักฟุตบอลกองกลางทีมชาติออสเตอรเลีย ที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือฮาคีม

 

และเมื่อภาพที่ฮาคีมถูกใส่กุญแจข้อเท้า ถูกรีทวิตและแชร์ต่อกันมากมาย จนมี #BoycottThailand เกิดขึ้นในบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นต่างชาติ ต่อเนื่องมาถึงคนไทย เช่น Jack Buckley ยูทูปเบอร์ ทวิตข้อความว่า เราทำให้นักฟุตบอลของคุณเป็นอิสระแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาคุณปล่อยตัวนักฟุตบอลของเรา จนกระทั่งมาสู่ #boycottThaigovernment

ล่าสุด ในกลุ่มทวิตเตอร์คนไทยเริ่มติด #saveThailand โดยนำเสนอข้อความอีกด้านว่าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของออสเตรเลีย ไทยไม่ได้ผิดอะไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง