3 นักวิชาการ ลาออกกรรมการแก้ปัญหาสารเคมีเกษตร

สังคม
7 ก.พ. 62
06:50
11,988
Logo Thai PBS
3 นักวิชาการ ลาออกกรรมการแก้ปัญหาสารเคมีเกษตร
นักวิชาการอิสระ 3 คนที่คัดค้านการใช้สารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง ลาออกจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการเรียกประชุมด่วนว่าเป็นการสร้างแรงกดดันต่อการทำหน้าที่

ท่าทีที่หนักแน่นของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, ศ.พรพิมล กองทิพย์ และ รศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ที่พร้อมใจแถลงลาออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและจำกัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นประธาน เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุถึงสาเหตุสำคัญเพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่สามารถดำเนินการให้มีการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่น่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้

 

 

ภายหลังการขับเคลื่อนของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงจาก 700 องค์กร ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.2561 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 ที่ไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิด และขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มารับฟังข้อเรียกร้องในฐานะตัวแทนรัฐบาล พร้อมประกาศว่าจะเลือกให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก นำมาซึ่งรูปธรรมในการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.2561 ท่ามกลางความคาดหวังว่าอาจเป็นทางออกของทิศทางการใช้สารเคมีของไทย

จากนั้นมีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2561 ซึ่งครั้งนั้นคณะกรรมการฝั่งนักวิชาการอิสระได้รวบรวมข้อมูลวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบการใช้สารเคมีเกษตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ที่ประชุมสรุปความเห็นร่วมกัน แต่ที่ประชุมกลับเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และกลายเป็นคำถามจากกรรมการฝั่งนักวิชาการว่าเป็นความซ้ำซ้อนและพยายามทอดเวลาการพิจารณาออกไปหรือไม่ และย้ำมากขึ้นเมื่อการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 20 ก.ย.2562 ซึ่ง 1 ในวาระสำคัญคือการตั้งอนุกรรมการ ทำให้นักวิชาการและภาคประชาชนคัดค้านด้วยการไม่เข้าร่วมประชุม

ฟางเส้นสุดท้าย คือการนัดประชุมเร่งด่วนวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง 1 ในวาระสำคัญที่จะมีการพิจารณา คือ ข้อร้องเรียนของสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ที่คัดค้านมติและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และข้อเสนอของสภาวิจัยแห่งชาติ (ว.ช.) ที่เสนอให้ยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งกลุ่มนักวิชาการมองว่าเป็นการแสดงเจตนาของคณะกรรมการชุดนี้เพื่อสร้างแรงกดดันไม่ให้มีการทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นักวิชาการ 3 คน จึงเลือกวิธีการลาออก เนื่องไม่สามารถใช้กลไกนี้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์เพื่อหาทางออกให้กับการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดได้ จากนี้ต้องวัดใจรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้าย รวมถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าผู้ใดจะแสดงความกล้าประกาศนโยบายที่ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหานี้

 

 

ขณะที่นายสุวพันธ์ ระบุเพียงว่า ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกของทั้ง 3 คน แต่ยืนยันว่ามีความคืบหน้าในการทำงานและเปิดรับข้อมูลทุกฝ่าย ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี และส่งความเห็นของสภาวิจัยแห่งชาติ ที่เสนอให้ยกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 14 ก.พ.นี้

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แนะนำให้ทุกฝ่ายรอดูมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายอย่างละเอียด เพราะหากกำหนดกรอบเพียงคร่าว ๆ ว่า ให้ลด ละ เลิก โดยไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ก็ไม่ต่างไปจากที่ผ่านมา ซึ่งมติครั้งนี้จะถือเป็นบทพิสูจน์รัฐบาล คสช.ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ว่าจะตัดสินใจเลือกสุขภาพประชาชนเป็นหลักตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง