ผู้นำท้องถิ่น-นักวิชาการ แนะใช้ "ขอนแก่น โมเดล" พัฒนาท้องถิ่นนำรัฐบาล

การเมือง
7 ก.พ. 62
15:52
405
Logo Thai PBS
ผู้นำท้องถิ่น-นักวิชาการ แนะใช้ "ขอนแก่น โมเดล" พัฒนาท้องถิ่นนำรัฐบาล
ผู้นำท้องถิ่นและนักวิชาการ เสนอพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ ชูธงท้องถิ่นนำรัฐบาล คล้าย "ขอนแก่น โมเดล" พัฒนาจุดแข็งสร้างอัตลักษณ์ชุมชนกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ จัดสรรงบให้สมศักยภาพ ออกกฎหมายห้ามทำให้ชัดเจน

วันนี้ (7 ก.พ.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.30 น. ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดเสวนาเรื่อง "เสียงเพื่อการกระจายอำนาจสู่การพัฒนาประเทศ" (Voices For Decentralization : Moving For National Development)
จัดโดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า และภาคีเครือข่ายโดยตัวแทนผู้นำท้องถิ่นจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ และบุคคลที่สนใจเข้าร่วม

 

 

 

 


การกระจายอำนาจ หัวใจสำคัญ "พัฒนาประเทศ"

 

ศ.วุฒิสาร ตันไชย

ศ.วุฒิสาร ตันไชย

ศ.วุฒิสาร ตันไชย


ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือการกระจายอำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรจากส่วนกลางให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถปกครองตนเองได้ตามเจตนารมณ์ของตนและได้รับประโยชน์สูงสุด การกระจายอำนาจจึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและยั่งยืน หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจแล้ว การปกครองท้องถิ่นย่อมมีความเข้มแข็งและเป็นรากฐานที่มั่นคงของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสามารถลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วถึง เท่าเทียม และเสมอภาค และด้านเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ตามความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทและสภาพภูมิสังคมของแต่ละชุมชนท้องถิ่น พร้อมยืนยันว่าการจัดเวที เพื่อต้องการให้ประชาชนเข้าใจในการเลือกตั้ง การให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความเห็นสะท้อนถึงพรรคการเมืองให้รับรู้ความต้องการ โดยที่ผ่านมา เชิญกลุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน มารับฟังไปแล้ว และวันนี้เน้นประเด็นการกระจายอำนาจ

 

อาศัยพลังความหลากหลายของท้องถิ่นมาเป็นจุดแข็ง

 

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

 


ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการอิสระ ระบุว่า หากดูวังวนของพรรคการเมืองขณะนี้ จะเห็นถึงการผูกขาดการพัฒนา ซึ่งทั้งยุทธศาสตร์ชาติ หรือนโยบายประเทศ หลายประเทศเหมือนกันอย่าง คือการพัฒนาช่วงเริ่มต้นโดยต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้วหลังจากนั้น การพัฒนาของท้องถิ่นต้องมองให้ลึกซึ้งในการเป็นแขนขา และต้องการอะไรจากท้องถิ่น ต้องการเห็นว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งเป็นอย่างไร ไม่ใช่การอัดงบหาเสียงว่าจะใช้งบอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมิติการพัฒนาต้องอาศัยพลังของความหลากหลายของท้องถิ่นมาเป็นจุดแข็ง เราจำเป็นต้องระเบิดพลังของท้องถิ่นออกมาให้เห็นและขับเคลื่อนไปสู่การกระจายอำนาจและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

วันนี้รัฐบาลอยากปลูกฝังประชานิยม มันไม่เคยยั่งยืน จะทำอย่างไรให้การดูแลแบบนั้นจะกลับมาเป็นปัญหาตามมาภายหลัง

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของท้องถิ่นกับหน่วยงานรัฐที่มีกฎระเบียบและไม่ได้ปลดล็อกให้ท้องถิ่นทำอะไรได้มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะทำอย่างไรให้หน่วยราชการเข้าใจว่าท้องถิ่นไม่ใช่แขนขาของหน่วยราชการอย่างเดียว แต่ศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองและการได้รับงบประมาณจัดสรรอย่างพอเหมาะ ให้บริหารจัดการ หรือการลงทุนได้อย่างเข้มแข็ง เช่น "ขอนแก่น โมเดล" ที่การพัฒนาท้องถิ่นเกิดจากคนในพื้นที่ที่ช่วยกันและรัฐสนับสนุนตามเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน

 

แผนยุทธศาสตร์เขียนดี แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

 

รศ.ตระกูล มีชัย

รศ.ตระกูล มีชัย

รศ.ตระกูล มีชัย

 

รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การพัฒนาท้องถิ่นนั้น เคยมีการผลักดันและขับเคลื่อนไปสู่การปรับแก้ในรัฐธรรมนูญ แต่สมัย สนช.ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการปรับแก้ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในการบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศ ที่ต้องการให้ดำเนินการแบบไม่ซ้ำซ้อน และยุทธศาสตร์ชาติ ที่ให้ดำเนินการอย่างชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนในบริการสาธารณะทั้งระดับประเทศ, ภูมิภาคและท้องถิ่น แผนยุทธศาสตร์เขียนไว้ดี แต่ไม่รู้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างไร

"พรรคการเมืองทุกพรรครับปากได้หรือไม่ว่าจะรับไปดำเนินการชัดเจนว่าท้องถิ่นห้ามทำดังนี้ 1.....2....3....4....5..... นอกนั้นอนุญาตให้ท้องถิ่นทำได้ทั้งหมด, การปรับแก้กฎหมายท้องถิ่น ให้ระบุไว้ในนโยบายรัฐบาลได้หรือไม่, อนาคตหากมีการกระจายบทบาทหน้าที่ให้ท้องถิ่นแล้ว ถามว่าบทบาทระดับภูมิภาคยังจำเป็นอีกหรือไม่, การถ่ายโอนภารกิจที่เป็นปัญหา เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ หรือโครงการอื่น, การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและกระจายอำนาจให้กับชุมชนของท้องถิ่นด้วย ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่กำลังหาเสียงในขณะนี้ว่าท่านเชื่อหรือไม่ว่า ท้องถิ่นจะดูแลตัวเองได้ดีกว่ารัฐบาล"

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความสามารถในการแข่งขัน, การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ที่อยู่ในชุมชน, การสร้างค่านิยมวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งทุกวันนี้องค์กรท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มากกว่ารัฐบาล

 

ใช้เวลา 7 ปี ผลักดัน "ขอนแก่น โมเดล" เป็นอิสระจากความเป็นรัฐ

 

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย

 

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า การผลักดัน "ขอนแก่น โมเดล" ใช้เวลา 7 ปี กว่าจะสำเร็จ ใช้ พ.ร.บ.เทศบาล 2496 ตั้งบริษัท (บ.ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) ) ขึ้นมา ให้เป็นอิสระจากความเป็นรัฐ โดยมีเทศบาล 5 แห่งร่วมกันดำเนินการ มีระบบตรวจสอบแบบเอกชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และขอ คสช.ทำรถโครงการรถไฟฟ้าขอนแก่น ที่ต้องระดมทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหารถติด และบริหารจัดการกันร่วมกัน 5 เทศบาล มีกฎหมายรองรับ และเกิดจาก ครม.ก็อนุมัติให้ขอนแก่นทำรถไฟฟ้าเองได้ด้วย

"การทำโครงการขณะนี้ กำลังขอระดมทุน 10,000-13,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการ และ 3 ปีหลังดำเนินการโครงการนี้ มีแผนงานเสนอเข้าตลาดทุน ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจะเป็นทุนเข้าเทศบาลทั้ง 5 แห่ง ไม่ใช่ของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง จะมีความมั่งคั่งประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งทางเทศบาลสามารถนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อได้ และถ้าเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์จะยิ่งเกิดการมีส่วนร่วมได้ ซึ่งแผนจังหวัดพัฒนาแบบมีแผน โดยคนขอนแก่นช่วยกันดำเนินการ และกำลังยื่นขอตั้ง "คณะกรรมการพิเศษจังหวัดขอนแก่น" มี 27 หน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชนมารวมกัน แม้ถ้ามีการโยกย้ายข้าราชการ ก็จะไม่เกิดผลกระทบ เราเดินหน้าแบบไทยๆ ไปแบบง่ายๆ ไม่ใช้รูปแบบจังหวัดจัดการตัวเอง มีการขอมติ ครม. เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องเขียนกฎหมายใหม่ การเดินต้องเดินให้โครงเล็กลงแต่ทำได้จริงๆ โดยมีกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ขอนแก่นดำเนินการเองได้ ซึ่งแนวทางกระจายอำนาจดีแน่นอน แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อม ขอให้เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากได้ก็จะเกิดความยั่งยืน พ้อยท์ของประเทศไทยน่าจะไปแบบนี้ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ในห้วงเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ เพื่อทำอะไรให้ประชาชน และรอแต่หน่วยงานราชการปลดล็อกให้ท้องถิ่นเดินต่อเองได้"

 

การกระจายอำนาจในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นจริง

 

ทนงศักดิ์ ทวีทอง

ทนงศักดิ์ ทวีทอง

ทนงศักดิ์ ทวีทอง


นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันการกระจายอำนาจ ไม่ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะความพยายามการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลจากผู้นำระดับท้องถิ่น คืองบประมาณที่เคยได้รับจัดสรร มีถึง 700,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 25 ของการอุดหนุนงบประมาณ ซึ่งลดลงเหลือ 100,000-200,000 ล้าน ทำให้ท้องถิ่นต้องแย่งการของบประมาณ และแต่เดิมการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, ผู้พิการ เฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาทในช่วงแรกที่เริ่มโครงการ และในปัจจุบันบานปลายเป็นปีละ 60,000 ล้านบาท

การที่รัฐบาลคิดอะไรออกมา ในหลายรัฐบาล ใช้อำนาจกับท้องถิ่น ซึ่งเงินอุดหนุนทั่วไปอยู่ที่ปีละ 50,000 ล้านบาท เป็นมาแบบนี้เกือบ 10 ปีแล้ว และมีการประมาณตัวเลขที่ไม่เป็นจริง มีการใช้อำนาจจากหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ดำเนินการไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

แนะหาจุดเด่นแต่ละท้องถิ่นมาต่อยอด

 

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

 

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุว่า ก่อนเป็นรัฐบาลเลือกตั้งได้งบอุดหนุนปีละ 60,000 ล้านบาท แต่หลังจากเป็นรัฐบาล คสช.ปรับลดเหลือปีละ 50,000 ล้านบาท แม้ปัจจุบันมีกฎหมายให้ท้องถิ่นคำนวนงบประมาณประมาณการที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง แต่กฎหมายก็ไม่ถูกบังคับใช้มาแล้ว 3 ปีแล้ว ซึ่งสิ่งที่ท้องถิ่นจะไปหางบมาดำเนินการเองก็ถูกต่อว่าหรือตั้งข้อสังเกต แต่รัฐเข้ามาก็เกิดปัญหาเช่นกัน ซึ่งจุดเด่นของแต่ละท้องถิ่นที่มี 7,000 กว่าแห่ง เพื่อต่อยอดเองได้ เช่น ญี่ปุ่น, จีน ที่มีจุดแข็งของตัวเอง ไปแข่งกันทำงาน เพื่อหานักลงทุนและการผลักดันจุดแข็งในพื้นที่ตัวเอง เช่น ไปจีน จะเห็นว่ามีชาหิมะ และเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ควรผลักดัน

 

ท้ารัฐบาลชุดใหม่ปฏิวัติกฎหมายท้องถิ่น

 

ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย

ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย

ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย

 

ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ระบุว่า รัฐบาลไหนเข้ามา กล้าหรือไม่ที่จะปฏิวัติกฎหมายท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่น ถ้าทำให้แข็งแกร่งมีความเข้มแข็ง

"ใครมาเป็นรัฐบาล ท่านกล้าประกาศไหม ในการผลักดันท้องถิ่น การจัดสรรงบประมาณ การให้ท้องถิ่นดำเนินการในสิ่งที่ให้ทำ เป็นห้ามทำ เช่น การไปจัดการเรื่องฉีดวีคซีนโรคพิษสุนัขบ้า แต่เมื่อไปฉีดวัคซีนให้สุนัข กลับมาบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นต้องการช่วยเหลือดูแลคนในพื้นที่เพื่อไม่ให้สุนัขไปกัดประชาชน หรือการที่ท้องถิ่นจะดำเนินการอะไร มาบอกว่าทำไม่ได้ เพราะไปแข่งกับเอกชน แล้วจะให้ท้องถิ่นดูแลคนในพื้นที่ได้อย่างไร แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นทำ เชื่อได้ว่าแต่ละท้องถิ่นจะสร้าง DNA ของตัวเองได้เป็นจุดเด่นของตัวเอง รวมถึงการผลักดันพลังจิตอาสาให้เป็นจุดแข็งของพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนได้ทำและนำเรื่องดีๆ ให้เกิดในชุมชน แต่ไม่ใช่ดำเนินการแล้วไม่มีกฎหมายรองรับแบบทุกวันนี้ ซึ่งการตรวจสอบในพื้นที่ทุกวันนี้ได้สร้างพลังให้คนตรวจสอบกันเอง"

 

ผู้แทนระดับท้องถิ่นร่วมสะท้อนปัญหาที่ต้องการให้ขับเคลื่อน

 

 

 

 

นอกจากนี้ ผู้แทนระดับท้องถิ่นที่เดินทางมาร่วมเสวนาจากหลากหลายแห่งในประเทศ ได้ร่วมสะท้อนประเด็นที่ต้องการให้พรรคการเมืองขับเคลื่อนหลังจากเลือกตั้ง เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน, การจัดการศึกษา, การจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่น, ทำอย่างไรให้จึงจะดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข, การให้ความสำคัญกับท้องถิ่น เพราะเป็นหน่วยที่ใกล้ชิดกับประชาชนและรู้เรื่องของท้องถิ่นมากที่สุด ทำอย่างไร รัฐหรือรัฐบาล จึงจะทำให้ประชาชนเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมในทางการเมือง, การพัฒนาส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีนักวิจัยชุมชนเพื่อสร้างอัตลักษณ์จุดแข็งของการพัฒนาประเทศ และการท่องเที่ยว, คนในชนบท สมควรได้รับการพัฒนามากกว่าคนในเมือง

สำหรับหลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่ตรวจสอบว่าพรรคการเมืองได้ดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง