เลือกตั้ง62 : วิเคราะห์ แนวทางวินิจฉัยยุบ "ไทยรักษาชาติ"

การเมือง
13 ก.พ. 62
19:14
2,574
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง62 : วิเคราะห์ แนวทางวินิจฉัยยุบ "ไทยรักษาชาติ"
นอกจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนแล้ว พรรคไทยรักษาชาติ กำลังถูกจับตามอง ว่าจะเป็นพรรคการเมืองพรรคที่ 3 ที่มีเหตุการกระทำนำไปสู่คำสั่งยุบพรรคการเมืองหรือไม่

คำสั่งยุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติครั้งนี้ มีเวทีการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 24 มี.ค.2562 นี้เป็นตัวประกัน ? นั่นเพราะยุบ.หรือไม่ยุบ กำลังสะเทือนถึงผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอีก 283 คนด้วย

หากดูตัวเลขผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ ที่มีผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตจำนวน 175 คน และมีผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อีก 108 คน หรือ 283 คน ที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ตามกฎหมาย "ไทยรักษาชาติ" ยังคงเป็นพรรคการเมือง และยังไม่ถูกยุบ ซึ่งมีสถานะถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่ตามกระบวนการทางกฎหมายก็ย่อมต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาด้วยนี่จึงเป็นเหตุให้กฎหมายเขียนกำหนดไว้ด้วยว่า กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นสมควรสามารถสั่งระงับการกระทำนั้นได้ ซึ่งหมายถึงการระงับการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นไปได้ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) ศาลรัฐธรรมนูญจะรับ-ไม่รับ อาจจะมีคำสั่งเพิ่มเติมมาด้วย

วันนี้ กกต.ลงมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ความผิดสั่งยุบหรือไม่ยุบพรรคไทยรักษาชาติแล้ว มาตรา 93 ในกฎหมายพรรคการเมืองสืบเนื่องและอ้างอิงไว้ว่า กรณีเห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ระงับการกระทำไว้ชั่วคราวได้และกรณีนี้กำลังถูกตั้งคำถาม จึงตั้งสมมติฐานการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ 3 ทาง

 

 

1.เมื่อ กกต.ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเห็นควรรับไว้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งระงับการกระทำชั่วคราว ซึ่งสถานการณ์นี้อาจหมายถึงการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ไม่ใช่แค่ กก.บห.แต่หมายรวมไปถึงผู้สมัคร ส.ส.ทั้งหมดของพรรคด้วย

เงื่อนไขจึงมีอยู่ว่า ถ้าสุดท้ายศาลรัฐธรรมวินิจฉัยมีคำสั่งไม่ยุบพรรคแล้วผู้สมัครกลับแพ้การเลือกตั้งอ้างว่า เวลาหาเสียงน้อย นี่คือช่องว่างให้เกิดคำถามว่า...ใครจะรับผิดชอบกับสิทธิ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น "เพราะต้นทางบอกว่า "ผิด" แต่ปลายทาง...ชี้ "ไม่ผิด"

 

 

ถ้าเทียบกับกรณีที่ 2.ต้นทางบอกว่า "ผิด" ปลายทางก็บอกว่า "ผิด" แบบนี้ถือว่าจบโดยบริบูรณ์

 

 

กรณีที่ 3.ถ้า กกต.ส่งเรื่องให้พิจารณายุบและพรรคศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งให้ระงับชั่วคราว แล้วบริบทของพรรคไทยรักษาชาติหรือของผู้สมัคร ส.ส.กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.พ.จะเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่และใครจะได้ประโยชน์ก็ต้องตั้งคำถามไว้ด้วย

นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยชี้แจงไว้ว่า ตามกฎหมายหากยังไม่มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ยังสามารถดำเนินกิจกรรมการเมืองได้แต่ทางมารยาทก็ไม่ควร และหากรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ระบุไว้โดยเฉพาะระยะเวลาการตัดสิทธิ์ จากเหตุถูกยุบพรรคให้หมายความว่า "ตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต"

 

 

นี่จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด หาก กกต.จะประกาศรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไทยรักษาชาติทั้งหมดในวันที่ 15 ก.พ.นี้ หากไม่ชัดเจนก็จะเป็นเงื่อนไข แต่จะดีมากกว่านั้นหากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าจะรับและมีคำสั่งเพิ่มเติมเรื่องของผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติทั้งหมด

อีกข้อคำนึงคือ ผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติ พวกเขามีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคไทยรักไทยเดิม กับพรรคพลังประชาชนเดิม และกับพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะมีมวลชนกลุ่ม นปช.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นี่อาจเป็นอีกประเด็นที่ต้องคิดต่อถึงสถานการณ์การเมือง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง