คาด "วังเหนือ" ยังเจออาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง 1 เดือน

ภัยพิบัติ
22 ก.พ. 62
11:41
890
Logo Thai PBS
คาด "วังเหนือ" ยังเจออาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง 1 เดือน
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุวันนี้ (22 ก.พ.) เกิดอาฟเตอร์ช็อกพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปางรวม 5 ครั้ง ขนาด 1.7-2.3 หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.9 เมื่อ 20 ก.พ.นี้ ทางจังหวัด เข้าสำรวจความเสียหายบ้านเรือน จัดกลุ่มความเสี่ยง ขณะที่คาดจะมีอาฟเตอร์ช็อกต่อนานนับเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 4.9 ที่อ.วังเหนือ จ.ลำปางเมื่อเวลา 16.05 น.ของวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยพื้นที่ ต.ทุ่งฮั้ว มีความเสียหายกับอาคารบ้านเรือน และยอดเจดีย์เอียง ล่าสุดวันนี้ (22 ก.พ.2562) กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ยังรายงานว่ายังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีก 5 ครั้ง ดังนี้

  •  เวลา 02.02 น. ขนาด 1.9  ลึกลงไปในดิน 5 กิโลเมตร
  •  เวลา 02.50 น. ขนาด 1.5  ลึกลงไปในดิน 10 กิโลเมตร
  •  เวลา 03.25 น. ขนาด 2.3  ลึกลงไปในดิน 10 กิโลเมตร
  • เวลา  04.24 น. ขนาด 1.7  ลึกลงไปในดิน 10 กิโลเมตร
  • เวลา  10.07 น. ขนาด 1.9  ลึกลงไปในดิน 2 กิโลเมตร

 

เช็กลิสต์ความเสียหายบ้านเรือน 

นายสุวิทย์ โควสุวรรณ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า แผ่นดินไหวในอ.วัง เหนือ จ.ลำปาง เมื่อ 2 วันเกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก จึงส่งผลกับรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง

จากการศึกษารอยเลื่อนนี้ พบว่าแผ่นดินไหวที่ อ.วังเหนือ น่าจะยุติแล้ว เพราะครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่ประเทศเพื่อนบ้านดังนั้นรอยเลื่อนพะเยา จะไม่ปลดปล่อยพลังออกมาอีก

โดยวันนี้ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวจังหวัดลำปาง เข้าสำรวจบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ในพื้นที่อ.วังเหนือ เพื่อจัดลำดับกลุ่มอาคารบ้านเรือนที่เสียหายเป็นกลุ่มต่างๆ

เบื้องต้น พบว่าบ้านได้รับความเสียหายกว่า 60 หลังในพื้นที่ 7ตำบลของ อ.วังเหนือ ซึ่งเป็นจุด ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยจะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ และให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังป้องกัน

 

ติดตามพฤติกรรมรอยเลื่อนพะเยา

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จะลงพื้นที่ จ.ลำปาง เพื่อติดตามเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น พร้อมวางแนวทางป้องกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ขณะนี้ยังมีอาฟเตอร์ช็อก ระดับ 2 หรือ 3 ซึ่งเป็นภาวะปกติและอาจจะต่อเนื่องไปเดือนๆ แต่ประชาชนทั่วไปอาจไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน 

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า ข้อกังวลว่าจะมีผลกระทบกับรอยเลื่อนอื่นๆ ของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา เช่น รอยเลื่อนแม่ลาว ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ครั้งรุนแรงที่สุดที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2557 หรือไม่ ทั้งนี้จากการติดตามพฤติกรรม และวัดคลื่นแผ่นดินไหวตลอดแนวรอยเลื่อนพะเยาที่มีความยาวประมาณ 90 กิโลเมตร  ยังไม่พบสัญญาณบ่งชี้ที่น่าเป็นห่วง แต่กรมทรัพยากรธรณี  กรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเฝ้าระวังดูพฤติกรรมภาคเหนือทุกรอยเลื่อนในช่วงนี้

ในช่วง 2-3 ปี ต้องระวังภัยธรรมชาติทุกตัว ทั้งดินถล่ม และแผ่นดินไหว เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ แต่ก็ไม่ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงตื่นตระหนก 

สำหรับรอยเลื่อนพะเยา เป็นรอยเลื่อนที่เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จุดศูนย์กลางอยู่ในอ.พาน จ.เชียง ราย เมื่อ 25 ปีก่อน ขนาด 5.1 แต่สำหรับครั้งนี้ เกิดที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ขนาด 4.9 และลึกกว่าผิวดินกว่า 20 เมตรเท่านั้น จึงส่งผลให้บ้านเรือนได้รับผลกระทบไม่มากนัก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้แผ่นดินไหว "ลำปาง" สัญญาณอันตราย แนะเพิ่มงบฯเสริมแกร่งอาคาร

จ.ลำปาง แผ่นดินไหวถี่ 25 ครั้ง อาคาร-บ้านเรือนแตกร้าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง