ปฏิรูปกองทัพ! แค่วาทกรรมหาเสียงพรรคการเมือง?

การเมือง
24 ก.พ. 62
13:13
1,154
Logo Thai PBS
ปฏิรูปกองทัพ! แค่วาทกรรมหาเสียงพรรคการเมือง?
นักวิชาการ วิเคราะห์โยบายปฏิรูปกองทัพ เป็นเพียงวาทกรรม หรือการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อหาเสียงจบ หรือ เลือกตั้งจบ ปฏิรูปกองทัพก็ไม่สามารถทำได้ เพราะบริบทภารกิจมีความหลากหลายมิติ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีส่วนได้เสียในกองทัพ

วันนี้ (24 ก.พ.2562) หากจะพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกองทัพหรือการปฏิรูปตำรวจ คงต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย แต่ก็ต้องบอกว่าหลายยุค-หลายสมัย ต่างก็มีความพยายามให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเวลานี้ พรรคการเมืองที่ต่างขั้วต่างอำนาจ กับรัฐบาลปัจจุบัน ก็ประกาศความทมุ่งหวังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง-จัดระเบียบกันใหม่

นั่นก็เพราะว่าแทบทุกครั้ง ที่บ้านเมืองเกิดปัญหาเกิดความวุ่นวาย จนนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติกองทัพ ก็มักจะถูกเลือกให้เข้ามารับบทบาทนำ เป็นกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ฝ่ายการเมือง หรือนักการเมือง ผูกเป็นปมปัญหาทิ้งเอาไว้

และเหตุการณ์ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดก็ต้องยอมรับว่ายุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม คู่ขัดแย้งทางการเมือง เรียกร้องให้กองทัพเข้ามายุติปัญหา และสุดท้ายก็เกิดเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ขึ้น


ภายใต้ข้อเรียกร้องที่ว่าด้วยการปฏิรูป แม้จะยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัด แต่ตลอดเกือบ 5 ปี รัฐบาล-คสช.ก็ย้ำบ่อยครั้งว่า พยายามปฏิรูปกองทัพให้เล็กลง โดยเฉพาะการวางกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ก็ยังติดปัญหาที่กำลังพลส่วนใหญ่ ยังผูกขาดกับภารกิจดูแลความสงบเรียบร้อย

ไม่ต่างจากการปฏิรูปตำรวจ ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา กลั่นกรองแล้วกลั่นกรองอีก จะชุดของพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ หรือชุดของนายมีชัย ฤชุพันธ์ รูปธรรมที่เห็นก็คือการแก้ และตรากฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูป 2 ฉบับคือพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ร.บ.สวบสวนคดีอาญา แต่ก็ยังไปไม่ถึงภาคปฏิบัติ

นักวิชาการชี้ "ปฎิรูปกองทัพ" แค่วาทกรรม

รศ.วันวิชิต บุญโปร่ง ชี้ว่า นโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคการเมืองเป็นเพียงวาทกรรม หรือการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อหาเสียงจบ หรือ เลือกตั้งจบ ปฏิรูปกองทัพก็ไม่สามารถทำได้ เหตุผลคือบริบทภารกิจมีความหลากหลายมิติ และคนที่ต้องการปฏิรูปกองทัพ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีส่วนได้เสียในกองทัพ

รวมไปถึงกลุ่มพรรคการเมือง หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่ชอบบทบาทของกองทัพ เพราะเข้ามาเกี่ยวพันกับเรื่องทางการเมืองมากกว่าภารกิจหลัก และหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ที่นอกจากจะมีความชัดเจนของการแบ่งขั้วอำนาจแล้ว น่าจะชัดเจนถึงทิศทางของประเทศ ว่าจะจริงจังกับปฏิรูปกองทัพแค่ไหน

ขณะที่รศ.ยุทธพร อิสรชัย มองว่า เป็นเพียงนโยบายของพรรคการเมือง ในการสะท้อนปัญหาในช่วงเลือกตั้ง แต่เรื่องการปฏิรูปกองทัพ มีการพูดกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยเพื่อร่วมกันหาทางออก ในการปรับเปลี่ยนกองทัพให้ทันกับกระแสโลก

ตั้งข้อสังเกตพรรคการเมืองที่ชูนโยบายการปฏิรูปกองทัพ เป็นผลมาจากการคงอำนาจของรัฐบาล-คสช. ที่เกิดจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557

 

แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้น และน่าจะชี้ให้เห็นภาพความขัดแย้ง-เห็นต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคลได้ชัดขึ้น เพราะรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด คือการยึดอำนาจรัฐบาลในขั้วอำนาจเดิม ที่มีบุคคลในตระกูล"ชินวัตร" ขับเคลื่อนอยู่

ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปกองทัพหรือจะปฏิรูปตำรวจ อาจอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง ว่าจะเลือกพรรคการเมืองใดมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ไม่ว่าจะได้รัฐบาลในขั้วอำนาจเดิม หรือขั้วอำนาจใหม่ ก็ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงในองค์กร หรือโครงสร้างของตำรวจ และทหารไม่ได้ แต่นั่นต้องหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น จึงจะเรียกว่า การปฏิรูปเป็นรูปธรรม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง