"คนจนเมือง" จนแบบไหน?

สังคม
27 ก.พ. 62
19:58
1,312
Logo Thai PBS
"คนจนเมือง" จนแบบไหน?
“คนจนเมือง” ไม่ได้อยู่แค่ในชุมชนแออัด แต่ยังเห็นในพื้นที่อื่นๆ เช่น ย่านเมืองเก่า แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ชายแดน แม้ไม่ได้เหมือนกันในทุกมิติ แต่ก็มีความเชื่อมโยงและทับซ้อนกัน คนจนเมืองแต่ละกลุ่มเผชิญปัญหาและมีวิถีชีวิตในมิติที่แตกต่างกันไป

*อ่านฉบับเต็มได้ที่ โครงการวิจัยชุดความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง (2560) โดย ดร.สุปรียา หวังพัชรพล และคณะ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

คนจนเมืองกลุ่มแรกถือว่าเป็นกําลังสําคัญในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการของเมือง คนกลุ่มนี้มีรายได้ต่ำและมักถูกละเลยสิทธิที่จะอยู่ในเมือง (Right to the City) ขาดการรับรองและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จําเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทํากินในเขตเมือง มักจะถูกเบียดขับด้วยการไล่รื้ออยู่เสมอ จากการบุกรุกที่ว่างเปล่าหรือพื้นที่สาธารณะ เพราะไม่มีที่อยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่ต้น

เมื่อมีการพัฒนาเมืองมากขึ้น เจ้าของที่ดินที่เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่จะเข้ามาไล่รื้อที่อาศัยของคนจนเมืองกลุ่มนี้ เมื่อชุมชนถูกไล่รื้อ คนกลุ่มนี้ก็ต้องบุกรุกพื้นที่ใหม่กลายเป็นปัญหาการไร้ที่อยู่ซ้ำซ้อน

ปัญหาการไร้ที่อยู่แบบซ้ำซ้อนทำให้คนกลุ่มนี้ติดอยู่ในกับดักความจน เพราะการย้ายที่อยู่และที่ทำกินบ่อยทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสในการสร้างรายได้เป็นระยะเวลานาน

 

กลุ่มชุมชนผู้อยู่อาศัยเดิม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพต่างๆ และชุมชนทางวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนาของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนทั้งในทางตรงและทางอ้อม

โดยที่ผลประโยชน์ในการพัฒนาหรือการลงทุนหลักนั้นกลับตกเป็นของคนนอกพื้นที่และนายทุนเสียเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่การเข้ามาของคนนอกยังทำให้คนในพื้นที่ดั้งเดิมสูญเสียที่ดินและทรัพยากรที่จําเป็นในการดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมไป คนจนเมืองกลุ่มนี้มักปรากฏอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเมืองกลุ่มนี้ต้องกลายเป็นคนจนคือ การขาดอำนาจต่อรองในกระบวนการกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ยิ่งการพัฒนาเมืองดำเนินไปอย่างเข้มข้น พวกเขายิ่งเสียอำนาจให้กับนายทุนหรือคนนอกที่เข้ามาในพื้นที่

ปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในกรณีนี้คือ การไล่รื้อที่ดินของคนในพื้นที่เพื่อนำไปทำโครงการก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ

 

แรงงานในระบบและนอกระบบที่ย้ายเข้าสู่เมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนไทยจากชนบทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

กลุ่มแรงงานที่ย้ายเข้าสู่เมืองมักขาดการรองรับด้านพื้นที่โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและสวัสดิการทางสังคม รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับลูกหลาน

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ คนจนเมืองกลุ่มนี้มักถูกมองว่าแปลกแยก ไม่เข้าพวกกับคนในพื้นที่ และถูกกีดกัน จนทำให้พวกเขารู้สึกถึงความยากจนทางศักดิ์ศรีได้อีกด้วย

ไม่มีสวัสดิการด้านที่อยู่รองรับได้มากพอ พวกเขาจะจับกลุ่มรวมตัวกันหาที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในเมืองกลายเป็นชุมชนแออัด ซึ่งส่วนมากมักไปตั้งในพื้นที่มีเจ้าของอยู่ก่อนแล้วเกิดเป็นปัญหาชุมชนแออัดคล้ายกับคนจนเมืองกลุ่มที่หนึ่ง

นอกจากนี้ การเกิดชุมชนแออัดในรูปแบบเฉพาะ เช่น ชุมชนแออัดของแรงงานข้ามชาติ ยังมีผลในการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อคนเมืองกลุ่มอื่น ก่อเกิดเป็นการสร้างความแปลกแยก และการกีดกันคนจนกลุ่มนี้อีกต่อหนึ่ง

 

คนชายขอบเป็นกลุ่มคนจนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ โอกาส และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม โดยเฉพาะยังไม่ได้รับการสร้างเสริมศักยภาพตามสิทธิที่พึงมีจากภาครัฐและสังคม ซึ่งส่งผลต่อความยากจนทางรายได้และด้านอื่นๆ

ในงานวิจัยได้แบ่งคนจนกลุ่มนี้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ คนชายขอบทางสภาพร่างกาย และคนชายขอบทางสถานะทางสังคม

คนชายขอบทางสภาพร่างกาย หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงวัยเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในอนาคต ผู้สูงอายุจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในปี พ.ศ.2557 พบว่า มากกว่าร้อยละ 34 ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน (มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 2,572 บาท) ซึ่งทำให้ประชากรกลุ่มนี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

ส่วนสำหรับผู้พิการ ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 3 ของประชากรทั้งประเทศ นักวิจัยพบว่า กลุ่มคนพิการจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดอยู่ในภาวะความจนอย่างมาก

ข้อมูลในปี 2558 ชี้ว่าร้อยละ 42 ของกลุ่มคนพิการไม่ได้รับการศึกษา ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุและไม่ได้ทำงาน ทำให้ผู้พิการตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อความยากจน และประสบความลำบากในการดำเนินชีวิต

คนชายขอบทางสถานะสังคม มักจะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเพศสภาพ และกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพบริการทางเพศ

นักวิจัยได้ให้ความสนใจกับกลุ่มคนชายขอบจากการประกอบอาชีพบริการทางเพศโดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาทำงานตามชายแดน เพราะเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวในแง่ภาพลักษณ์และการเปิดเผยตัวตนมากที่สุด คนกลุ่มนี้จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะหลุดจากความยากจน หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากับกับคนกลุ่มอื่นๆ

 

ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง