เปิดตำนาน 59 ปี "ดีเบต" ประชันวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้นำ

การเมือง
28 ก.พ. 62
15:22
1,522
Logo Thai PBS
 เปิดตำนาน 59 ปี "ดีเบต" ประชันวิสัยทัศน์ว่าที่ผู้นำ
การดีเบตคืออะไร มีที่มาอย่างไร และเป็นเพียงการถกเถียงกันเท่านั้นหรือไม่ ไทยพีบีเอสออนไลน์ได้รวบรวมที่มาของการดีเบตให้ได้ทราบกัน

ในการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ นอกเหนือจากการหาเสียง หรือฟังคำชี้แจงถึงนโยบายแต่ละพรรคการเมืองที่มีผู้สมัครเสนอเป็นตัวแทนประชาชนในการรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และเป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีเรื่องของวิสัยทัศน์และไหวพริบปฏิภาณที่ประชาชนที่มีคำถามหลากหลายอยากเห็นจากตัวแทนพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรคและผู้ที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนอยากเห็นในการดีเบตเพื่อรับฟังเหตุผลในการตัดสินใจก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง

ดีเบต คืออะไร

“ดีเบต” หรือ “การโต้วาที” คือ ประชันวิสัยทัศน์ โดยผู้ที่มีความเห็นต่างกันหรืออยู่ในฝ่ายตรงข้าม เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่แสดงถึงวัฒนธรรมทางการเมืองในวิถีประชาธิปไตยที่ช่วยให้ประชาชนตัดสินใจลงคะแนนเสียงในช่วงการเลือกตั้งได้ดียิ่งขึ้น

การดีเบตจะจัดขึ้นโดยเชิญผู้แทนที่เป็นกลาง โดยตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองจะมาร่วมแถลงนโยบาย แสดงทัศนะ ทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แลกเปลี่ยนความเห็นและชิงไหวชิงพริบร่วมกัน พร้อมทั้งย้ำจุดเด่นของตน เน้นจุดอ่อนฝ่ายตรงข้าม ในประเด็นที่กำหนดให้ในเวลาที่กำหนด ทีละฝ่าย จนครบจำนวนผู้เข้าร่วมดีเบต โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์

ภายในเวลาที่กำหนดให้นี้จะทำให้ประชาชนได้เห็นแนวทางนโยบายและทักษะความเป็นผู้นำของผู้ลงสมัครเลือกตั้ง นำไปสู่การพิจารณาลงคะแนนให้กับฝ่ายที่ตนชอบ
การดีเบตแตกต่างจากการเถียงกันด้วยวาทกรรมทำร้ายฝ่ายตรงข้ามอย่างที่ใครหลายเข้าใจ ผลชี้วัดความนิยมการดีเบตไม่ได้วัดจากฝีปากกล้า วาทกรรม หรือความสามารถเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งแต่วัดจากผู้ที่กลมกล่อมจากทักษะที่หลากหลาย และสามารถโน้มน้าว หรือหักล้างฝ่ายตรงข้ามได้ ผลการดีเบตในแต่ละครั้งนำไปสู่การสำรวจโพลความเห็นของประชาชนว่าต้องการบุคคลใดมาเป็นผู้นำ

“ดีเบต” กำเนิดที่สหรัฐฯ

การดีเบตครั้งแรก เริ่มขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 กันยายน ปี 1960 ระหว่างจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ พรรคเดโมแครต กับ ริชาร์ด เอ็ม นิกสัน พรรครีพับลิกัน เวทีการดีเบตครั้งนั้นถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ช่อง CBS และทางวิทยุโดยพิธีกร โฮเวิร์ด เค. สมิธ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เห็นผู้นำจากทั้ง 2 พรรคแสดงความคิด และวิสัยทัศน์ และนับเป็นจุดเริ่มต้นเวทีดีเบตทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก

 

หนึ่งในถ้อยคำระหว่างการดีเบตของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ 

หากพวกเราทำได้ดีในตอนนี้ ทำหน้าที่ของพวกเราอย่างเต็มที่ และก้าวไปข้างหน้า เมื่อนั้นผมคิดว่าเสรีภาพจะคงอยู่อย่างมั่นคงกับโลกนี้ หากพวกพวกเราพ่ายแพ้ เช่นนั้นเสรีภาพก็พ่ายแพ้ไปกับพวกพวกเราด้วย

ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นเคนเนดี้ เป็นฝ่ายชนะ และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐฯ และนิกสันแพ้คะแนนเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี แม้ฝ่ายสนับสนุนริกสันจะเรียกร้องให้มีการประท้วงผลการเลือกตั้ง แต่นิกสันได้ยอมรับและประกาศพร้อมสนับสนุนเคนเนดี้ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี

“ทรัมป์-ฮิลลารี” คนดู 100 ล้านคน 

นอกจากนี้ ยังมีการดีเบตครั้งประวัติศาสตร์ เช่นกัน คือ การดีเบตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 เมื่อปี 59 ระหว่างนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ผู้มีแนวคิดชาตินิยมขาวจัด ภายใต้แนวคิดของพรรค Fighting for Us และนายโดนัล ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน มีนโยบายหาเสียงภายใต้แนวคิด “Make America Great Again” ต้องการนำพาอเมริกากลับมาแข็งแกร่งเหมือนในอดีตและปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อ่อนแอ นับเป็นการดีเบตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีตัวแทนเป็นสุภาพสตรีร่วมชิงชัย

 

การดีเบตครั้งแรกของทั้งคู่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮอฟตรา ในเมืองลอง ไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก ในคืนวันที่ 26 ก.ย. 2559 เวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ หรือตรงกับ 08.00 วันที่ 27 ก.ย. 2559 ตามเวลาของไทย เป็นเวลา 90 นาที การดีเบตของทั้งคู่มีผู้ชมทั่วโลกผ่านโทรทัศน์มากกว่า 100 ล้านคน นับว่าเป็นเวทีดีเบตที่มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์

ผลหลังการดีเบตครั้งนั้น ออกมาว่า ฮิลลารี เป็นฝ่ายมีคะแนนนำเหนือทรัมป์ ด้วยคะแนน 48% ต่อ 46%

ประเด็นคำถามในการดีเบตเรื่องภายในประเทศ คือ ประเด็นเรื่องการเก็บภาษี นโยบายประกันสุขภาพ การว่าจ้าง ประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและชาติพันธุ์ นางคลินตันมีจุดยืนชัดเจนคือ ต้องการให้คนรวยเสียภาษีมากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม และให้คนจนมีส่วนแบ่งในความร่ำรวยนั้น ส่วนทรัมป์สนับสนุนการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กับกลุ่มนายทุนและนักธุรกิจ

ในประเด็นต่างประเทศ คือ ประเด็นความร่วมมือต่อสู้กลุ่มไอเอส หรือร่วมมือกับกลุ่มนาโต้และพันธมิตร นางคลินตันมีประสบการณ์มากกว่า เข้าใจและสามารถพูดอย่างมีเหตุผล ส่วนนายทรัมป์ตอบตอบว่าความร่วมมือทางทหารนั้น มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่ต้องเสียสละมากมาย ตามจริงมันเป็นการปกป้องผลประโยชน์สหรัฐอเมริกาแทบทั้งนั้น ซึ่งมีมากกว่าประเทศอื่นเสียด้วยซ้ำ

เจเรมี เมเยอร์ (Jeremy Mayer) อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน (George Mason) อธิบายความแตกต่างของตัวแทนจากทั้ง 2 พรรคไว้ว่า คลินตัน เป็นผู้ที่สนับสนุนการทำงานระหว่างประเทศ และเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคี ต้องการใช้เครื่องมือของอำนาจทุกรูปแบบ ทั้งด้านการทหาร ด้านการทูต และด้านการพัฒนา อีกทั้งไม่ลังเลที่จะใช้กำลังทหารในการดำเนินงาน

ในขณะที่ทรัมป์มีแนวคิดค่อนข้างเป็นชาตินิยม สนับสนุนการดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว และอาจนำสหรัฐฯ กลับไปสู่ยุคสมัยของการแยกตัวออกเป็นโดดเดี่ยวเหมือนในอดีตและไม่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการช่วยสร้างชาติให้กับประเทศที่อ่อนแอ

ไทยเริ่มดีเบตยุค “ทักษิณ” 

ขณะที่ในประเทศไทยมีการจัดเวทีดีเบตครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 เวลา 9.00 -12.00 น. ณ ห้องประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง นายวรินทร์ เทียมจรัส เลขานุการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต เพื่อถกประเด็นความเห็นที่แตกต่างและนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงในขณะนั้น

 

หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติหลังการชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2549 และการจัดการวันเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 เม.ย.2549

มีผู้ร่วมดีเบตจาก 2 ฝ่ายความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนั้นคือ พรรคไทยรักไทยและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยตัวแทนพรรคไทยรักไทย คือ นายทักษิณ ชินวัตร (อดีตนายกรัฐมนตรี) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ นายพิภพ ธงไชย

การประชันวิสัยทัศน์ในครั้งนั้นเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งภายหลังความวุ่นวายของสสถานการณ์ทางการเมืองแต่การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 เม.ย.49 ถูกวินิจฉัยจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าไม่เป็นธรรม ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนดจนนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

“อภิสิทธิ์” ท้า “ยิ่งลักษณ์” ดีเบต

ในปี พ.ศ.2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้จัดการชุมนุมใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภา
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดให้มีการตั้ง ส.ส. ในวันที่ 3 ก.ค.54 ต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทย เปิดเผยรายชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้สมัคร ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1

 

ทำให้นายอภิสิทธิ์ เสนอให้มีการดีเบตระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ ตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังนโยบายและแนวทางการบริหารประเทศ และเห็นว่าเป็นธรรมเนียมประชาธิปไตยที่ผู้สมัครจะแสดงวิสัยทัศน์แก่ประชาชนก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่พรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธการดีเบตครั้งนั้น จนกระทั่งวันที่ 3 ก.ค.54 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.265 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง

ปชป.ดีเบตเลือก “หัวหน้าพรรค” คนใหม่

นอกเหนือจากการเลือกตั้ง ในไทยก็มีการดีเบตภายในพรรคการเมืองเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดย พรรคประชาธิปัติย์ ได้มีการดีเบตผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร ระยะเวลา 90 นาที ถ่ายทอดสดผ่านทางเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ เว็บไซต์ของพรรคและเฟซบุ๊กแฟนเพจของพรรค ซึ่งต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้รับการโหวดและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อ และเป็นแคนดิเดตนายกจากพรรคประชาธิปัตย์

กกต.จัดเวทีดีเบต ก่อนเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ได้จัดเวทีดีเบตให้แคนดิเคตนายกฯของแต่ละพรรคได้แสดงวิสัยทัศน์ และเป็นเวทีแถลงนโยบายให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เป็นข้อมูลในการลงคะแนนเสียงที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ โดยให้จับสลากเลือกคำถาม ในการดีเบตนโยบาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา การเกษตร สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสาธารณสุข จากตัวแทน 54 พรรคการเมือง โดยมีการบันทึกภาพและออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และช่องยูทูปตั้งแต่วันที่ 15-21 มี.ค.62

สำหรับการจับคู่ดีเบตได้พิจารณาจากจำนวนการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองจะพบกันในลักษณะ 2 พรรค และ 3 พรรค ซึ่งจะเริ่มบันทึกเทปตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. - 4 มี.ค.นี้ ประชาชนสามารถติดตามการประชันวิสัยทัศน์ได้ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ 21 สถานี สถานีวิทยุ 7 สถานี และช่องยูทูป ตั้งแต่วันที่ 15 - 21 มี.ค. ผลการจับคู่ประชันนโยบายทั้ง 6 ด้านของพรรคการเมือง มีดังนี้

นโยบายด้านศึกษา

พรรคพลังท้องถิ่นไท พบกับ พรรคประชานิยม
พรรคแผ่นดินธรรม พบกับ พรรคกรีน
พรรคมติประชา พบกับ พรรคคลองไทย
พรรคภาคีเครือข่ายไทย พบกับ พรรครวมใจไทย

นโยบายด้านการเกษตร

พรรคอนาคตใหม่ พบกับ พรรคประชาชนปฏิรูป
พรรคประชาชาชาติ พบกับ พรรคไทรักธรรม
พรรค ถิ่นกาขาวชาววิไล พบกับ พรรคกลาง
พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พบกับ พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

นโยบายด้านสังคม

พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พบกับ พรรคเพื่อชาติ
พรรคพลังประชารัฐ พบกับ พรรคประชาภิวัฒน์
พรรคภราดรภาพ พบกับ พรรคไทยธรรม
พรรคทางเลือกใหม่ พบกับ พรรคประชากรไทย
พรรคพลังรัก พบกับ พรรคพลังแรงงานไทย
พรรคผึ้งหลวง พบกับ พรรคชาติพันธุ์ไทย
พรรคประชาไทย พบกับ พรรคพลังไทยดี

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

พรรคภูมิใจไทย พบกับ พรรคเสรีรวมไทย และ พรรคประชาธิปัตย์
พรรคเศรษฐกิจใหม่ พบกับ พรรคพลังชาติไทย
พรรคเพื่อไทย พบกับ พรรคไทยศรีวิไลย์
พรรคพลังธรรมใหม่ พบกับ พรรคความหวังใหม่
พรรคคนงานไทย พบกับ พรรคไทยรักชาติ และ พรรคเพื่อแผ่นดิน

นโยบายด้านความมั่นคง

พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พบกับ พรรคชาติไทยพัฒนา
พรรคประชาธรรมไทย พบกับ พรรคประชาธิปไตยใหม่
พรรคพลังปวงชนไทย พบกับ พรรคชาติพัฒนา
พรรคพลังไทยรักชาติ พบกับ พรรคฐานรากไทย
พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พบกับ พรรคพัฒนาประเทศไทย
พรรคพลังครูไทย พบกับ พรรคพลังสังคม
ส่วนการดีเบตนโยบายด้านสาธารณสุขไม่มีพรรคไหนจับได้

ประเด็นร้อน 250 เสียง ส.ว.

นอกเหนือจากการจัดดีเบต โดยหน่วยงานกลางอยาง กกต.แล้ว ภาคเอกชนและ สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้จัดการ ทั้งไทยพีบีเอส และช่องอื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงนโยบายและประชันวิสัยทัศน์ในนโยบายด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การทหาร อื่นๆ


แต่ประเด็นซึ่งเป็นที่จับตาอย่างยิ่ง คือ ในรายการดีเบต เจาะกึ๋น 3 ขั้วใหญ่ทางการเมือง ถ่ายทอดสดทางช่อง 9 MCOT HD เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมดีเบตจาก 4 พรรค คือ ,นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์,คุณหญิงสุดารัตน์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามถึงตัวเลข 250 ส.ว.ที่อาจสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐได้ตอบอย่างว่า เรื่องส.ว. 250 ไม่ใช่ประเด็น เพราะจำนวนดังกล่าวไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ผมไม่คิดว่าตรงนั้นมีประเด็นที่สำคัญ ผมคิดว่าทุกคนต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกใคร แต่ 250 เนี่ยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัว ส.ว. เอง

"ประยุทธ์" ปฏิเสธร่วมดีเบต

ขณะที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ที่พ่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ให้ร่วมในเวทีดีเบต ซึ่งทางกกต.ได้ระบุคุณสมบัติผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคสามารถเข้าร่วมการดีเบตได้ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายการเมืองว่าอาจขัดต่อกฎหมายได้เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ


ด้าน พล.อ.ประยุทธ ปฏิเสธพร้อมบอกว่า

ขอให้ไปดูในต่างประเทศว่าเวทีดีเบตเป็นอย่างไร ผมคงไม่ไปหรอกตอนนี้ ไม่ว่าใครจะมากระตุ้นอย่างไร ผมก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้กลัวด้วย ข้อสำคัญคือ ผมกำลังทำงานอยู่ ซึ่งจะเสียเวลาที่ผมจะต้องไปประดิดประดอยคำพูด ออกมาให้มันปวดหัว เพราะทำงานในระบบมันก็แย่พอแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็เป็นข้อเท็จจริง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าอยากทราบวิสัยทัศน์ของผม ในฐานะถ้าผมจะเป็นนายกฯ ต่อไป วิสัยทัศน์ของผมมีอยู่แล้ว คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

 

อย่างไรก็ตาม การดีเบตถือว่าเป็นแนวทางตามระบอบประชาธิปไตยที่สะท้อนแนวคิด ทัศนคติ ความสามารถและแนวทางการบริหารของนักการเมืองที่เสนอตัวเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางในการตัดสินใจว่าประชาชนจะเลือกผู้นำคนใดในการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้

 

เรื่อง : ทิพากร ไชยประสิทธิ์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง