เลือกตั้ง2562 : กองทัพกับการวางไลน์ทางการเมือง

การเมือง
3 มี.ค. 62
12:56
882
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2562 : กองทัพกับการวางไลน์ทางการเมือง
การเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคมนี้ อาจไม่ใช่แค่การต่อสู้ เพื่อคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองเท่านั้น เพราะมีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการต่อสู้ของขุนพลทหารที่มีปัญหาความขัดแย้ง จนก่อตัวกลายเป็นการแบ่งขั้วอำนาจ

วันนี้ (3 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนและหลังเลือกตั้ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพยังมีความจำเป็นต้องคงอำนาจ และคงสถานะ เพื่อดำรงบทบาทในการควบคุม-ดูแลบ้านเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย เหตุก็เพราะยังไม่อะไรเป็นเครื่องการันตีได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะไม่กลับไปสู่วังวนความขัดแย้งในแบบเดิมๆ

และสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้ คือท่าทีของกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองที่เกิดจากขั้วอำนาจเก่า และขั้วอำนาจใหม่ ที่ยึดโยงผูกติดกับเครือข่ายกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งพยายามก่อตัวและรวมตัวกันกลายเป็นพลัง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการเมือง พร้อมกับต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. และกองทัพ โดยเฉพาะการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามพรรคพลังประชารัฐ

 

 

 

 

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าการเดินเกมของพรรคการเมืองในทศวรรษนี้ อาจจะไม่แตกต่างไปจากอดีต แต่จะมีความชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งขั้ว แบ่งสี และแบ่งฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกองทัพ หรือฝ่ายทหาร ที่สนับสนุนการครองอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสิ่งที่เห็นได้นั้นสะท้อนผ่านสัญญาณการแอคชั่นของผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

ขณะเดียวกัน กลุ่มทหารอีกกลุ่มหนึ่ง หรือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าทหารในซีกฝ่ายตรงข้าม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งของกองทัพ ซึ่งมีผลสืบเนื่องจากการแต่งตั้ง-โยกย้ายนายทหาร แต่ปัจจุบันเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จะพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ หรือแม้แต่พรรคอนาคตใหม่ จึงมีข้อสังเกตว่าเลือกตั้งในครั้งนี้ นอกจากการแย่งชิงอำนาจของฝ่ายการเมืองแล้ว ยังเกี่ยวข้องและพัวพันกับการแย่งชิงอำนาจในกลุ่มทหารด้วยกันอีก

 

 

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

 

 

และเมื่อเหตุบ้าน-การเมือง กำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ซึ่งระหว่างทางอาจสุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ และกองทัพ ซึ่งยังคงอำนาจในการดูแลพื้นที่ให้ปลอดภัย ภายใต้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาท เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และสอดคล้องกับการแต่งตั้ง-โยกย้ายนายทหารกลางปี 2562 แม้จะเป็นเพียงการปรับ เพื่อรองรับทหารที่จะเกษียณอายุราชการในปลายเดือนตุลาคมนี้

แต่ก่อนหน้านี้ กองทัพบกก็มีการปรับโครงสร้างขุมกำลังปฏิวัติ หรือขุมกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมือง ทั้งกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และหน่วยรบพิเศษ จ.ลพบุรี ที่มี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904

 

 

 

 

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช วิเคราะห์ว่ากองทัพจะยังคงมีบทบาทนำในการดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก่อนและหลังเลือกตั้ง และเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลประชาธิปไตย เป็นการดีไซน์ หรือออกแบบมาจากชนชั้นนำทางทหาร โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาล-คสช.กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเลือกตั้ง จะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองแบบแยกขั้วอำนาจ จนทำให้เกิดความขัดแย้งคู่ขนานกับการเลือกตั้ง

 

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช

ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

 

 

ผศ.ดุลยภาค ยังชี้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพรรคการเมืองในการโจมตีกองทัพจะไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม หากแต่จะเกิดกระแสตีกลับจากกองทัพมากขึ้น พร้อมเห็นว่าพรรคการเมืองพยายามใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการล้มกองทัพ ผ่านการชูนโยบายตัดลดงบประมาณของกองทัพ หรือการปฏิรูปกองทัพ ดังนั้น หากต้องการรักษาบรรยากาศของบ้านเมืองกลุ่มพรรคการเมืองจะต้องหยุดเกมตรงนี้ไว้

การเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ อาจเทียบเคียงได้เหมือนสนามรบของพรรคการเมือง ที่เกิดขึ้นจากต่างขั้ว ต่างอำนาจ โดยกลุ่มหนึ่งพยายามเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ถูกเรียกว่าฝ่ายเผด็จการ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะอยู่ขั้วอำนาจไหน หรือขั้วอำนาจไหนจะคว้าชัยชนะ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง