เลือกตั้ง 2562: การศึกษาไทย "ปฏิรูป" อย่างไรจึงจะสำเร็จ?

การเมือง
4 มี.ค. 62
20:32
1,341
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562: การศึกษาไทย "ปฏิรูป" อย่างไรจึงจะสำเร็จ?
วันที่ 6 กับเวที 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับตัวแทน 5 พรรคการเมืองในหัวข้อ การศึกษาไทย ปฏิรูปอย่างไรจึงจะสำเร็จ หนุนลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาให้ตรงกับเด็กและเหมาะสมกับพื้นที่

วันนี้ (4 มี.ค.2562) วันที่ 6 ไทยพีบีเอส จัดรายการ 10 วัน 1000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย พูดคุยกับแกนนำพรรคการเมือง 5 พรรคเกี่ยวกับทิศทางในประเด็น การศึกษาไทย ปฏิรูปอย่างไรจึงจะสำเร็จ 

 

อะไรคือยุทธศาสตร์สำคัญในการปฏิรูปการศึกษา 

 

 

นายวิทยา ศรีชมภู พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า อ้อมไป ไม่ไปถึงนักเรียน ไม่ทดสอบที่เด็ก ขณะที่นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช พรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ไม่ทันความจริงของโลก ไม่ตอบโจทย์มนุษยชาติจริงๆ เช่นเดียวกับนายกนก วงษ์ตระหง่าน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ตรงที่ตัวนักเรียน จัดการไม่ตรงบริบท ส่วนนายนพดล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 1.ความเหลื่อมล้ำ โอกาสคนรวยคนจน 2.การศึกษาในแต่ละพื้นที่ 3.การใช้เงิน ที่ใช้งบประมาณมากแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ ขณะที่นายพะโยม ชิณวงศ์ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า โอกาสทางการศึกษา โดยขณะนี้โลกเป็นโลกใบเดียวกันจะทำให้เกิดการแข่งขันได้อย่างไร

 

นโยบายด้านการศึกษาของแต่ละพรรค

 


นายพะโยม ชิณวงศ์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เรื่องการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการประกอบอาชีพและการร่วมสังคม ทุกคนต้องได้พัฒนา ทุนมนุษย์อยู่ที่การศึกษา ซึ่งภาพรวมในการพัฒนาบุคคล ต้องดูที่คุณภาพชีวิต สมรรถนะในการทำงานและร่วมสังคม เสนอ 2 ประเด็น 1.แก้ปัญหาเก่า เรื่องโอกาสทางการศึกษา โดยการแก้หนี้ กยศ.ที่มีผู้เป็นหนี้ 5 ล้านคน ใช้แล้ว 1 ล้านคน ยังเหลืออีก 4 ล้านคน ซึ่งรัฐต้องดูแลงบประมาณด้านการศึกษาปลดภาระผู้ค้ำประกัน ผ่อนได้นาน 10 ปี 2. คือการศึกษาออนไลน์ ซึ่งจะทำในรูปแบบ Thailand sharing University 

 

คนทั้ง 67 ล้านคน ได้รับการศึกษาแบบทั่วถึง เท่าเทียม และเติมเต็มทุกส่วนสู่การศึกษากระแสหลัก

นายนพดล กล่าวว่า ปัญหาการศึกษา คือ 1.เรื่องความเหลื่อมล้ำ 2.เรื่องการใช้เงินงบประมาณ เพื่อไทยจะไม่ปล่อยให้เด็กคนใดต้องอยู่ข้างหลัง จะทำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ให้ฟรีจริง ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงที่สมองพัฒนามากที่สุด โดยให้มีบุคลากร มีศูนย์เด็กอัจฉริยะทั่วประเทศ โดยมีการสอนเรื่องภาษา การทำกับข้าว หรือทักษะอื่นๆ และให้เปลี่ยนการเรียนแบบท่องจำเป็นคิดวิเคราะห์ ส่วนชั่วโมงเรียนต้องลดน้อยลง อย่างในฮ่องกง 720 ชั่วโมงต่อปี แต่ของไทย เรียนกว่า 1,000 ชั่วโมง แต่ผลสัมฤทธิ์กลับได้ไม่เทียบเท่าฮ่องกง และต้องคืนครูให้ห้องเรียน ลดภาระอื่น อาชีวะ ให้เรียนฟรีในสาขาขาดแคลน และให้กองทุน เถ้าแก่อาชีวะ จบช่างกลเป็นเจ้าของอู่ได้

นายกนก กล่าวว่า การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาคนประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื้อหาและหลักสูตรต้องปรับให้เข้ากันกับผู้เรียน จัดการศึกษาให้โรงเรียนมีอิสระในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนได้ จัดตั้งกองทุน Smart education fun เพื่อให้ยกระดับการศึกษาอย่างก้าวกระโดด การศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคุณธรรมด้วยผ่านการเป็นแบบอย่างของครู โดยเน้นการพัฒนาครูให้จัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้มาตรการสร้างเด็กตั้งแต่แรกเกิด - 8 ขวบให้มีอาหารที่ดี เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนให้มีสถานดูแลเด็ก ปฐมวัย ทั้งที่ทำงานในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้แม่ให้นมลูกและใกล้ชิดลูกในที่ทำงานได้ สนับสนุนครูปฐมวัย ให้สามารถพัฒนาเด็กทั้งสมอง ร่างกายและอารมณ์เพื่อให้เติบโตมาเป็นคนดี พร้อมส่งเสริมการศึกษาฟรี 17 ปี และในมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้มีกองทุน กยศ.อย่างเพียงพอ

นายวิทิตนันท์ ระบุว่า นโยบาย 5 นโยบาย คือ 1.มุ่งตรงไปที่คนเรียน ไม่ใช่เฉพาะนักเรียน หากเข้าสู่ระบบ ต่อไปเด็กไทยต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ ภาษาที่ 2 คือ ภาษาดิจิทัล 2.มุ่งไปสู่คุณครู ให้ครูเป็นครูไฮเทค และเข้าใจนักเรียน เตรียมกองทุนให้ครู 1 ล้านบาท ไปเรียนหนังสือแล้วนำความรู้มาสอนเด็กในชุมชน 3.อุทยานความรู้ เปลี่ยนโรงเรียนเป็นโรงรู้ เรียนผ่านออนไลน์ และมีสนามกีฬา รวมถึง Art Space ด้วย 4.ส่งเสริมให้ เด็กเรียนรู้การวิพากษ์วิจารณ์ ไตร่ตรอง ความเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีความคิดสร้างสรรค์ และ 5.ส่งเสริมครูให้กลับห้องเรียน ลดภาระหนี้สินของครู ทำให้หนี้ไม่เกิด ทำให้ครูคล่องตัวในการสอนหนังสือ มีกองทุนปลดหนี้ครู พร้อมสร้างอาชีพเสริมในออนไลน์ให้ครู คือสอนหนังสือออนไลน์

นายวิทยา กล่าวว่า การเรียนในสิ่งที่ใช่ คือใช่ที่ชาติต้องการ ตลาดประเทศเป็นอย่างไร ต่างประเทศเป็นอย่างไร ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน หากได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ทุกคนก็พร้อมจะใช้ในสิ่งที่เรียน บางรัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยมาก แต่กระทรวงศึกษาธิการเป็นของทุกกระทรวง แผนการศึกษาเป็นของทุกคนในประเทศ ไม่ใช่รัฐมนตรี ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา

 

ได้เรียนในสิ่งที่ใช่ ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน แล้วการศึกษาต้องไม่เปลี่ยนไปตามการเมือง โดยนักเรียนต้องได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียนและเป็นตัวตนของเขาเอง ไม่ใช่เก่งอย่างเดียว

 

บริหารจัดการงบประมาณอย่างไร ให้ปฏิรูปการศึกษาได้

 

นายวิทยา กล่าวว่า งบประมาณส่วนใหญ่อ้อมไปไม่เข้าถึงนักเรียน การที่โรงเรียนเป็นนิติบุคคล จัดการตัวเองได้ อาจจะยุบหน่วยงานให้เหลือน้อยที่สุด ลดการคิดอัตราส่วนของครู เช่น ครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน แต่อย่างน้อยต้องคิดว่าปรับโครงสร้างต้องมีครูครบทุกวิชา

นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า เรื่องงบประมาณเป็นปัญหาโลกแตก แต่ปัจจุบันที่เป็น 4.0 กระบวนการเรียนรู้เปลี่ยนไป คือ ไม่ต้องเรียนที่โรงเรียน ก็จะสามารถลดบุคลากรได้ ใช้ที่อื่นก็ได้ ใช้เพียงแค่ 20% ของงบประมาณมาใช้แล้วนำที่เหลือไปพัฒนาศูนย์เพาะบ่มการเรียนรู้อัจฉริยะแทน 100,000 ล้าน สามารถใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้ เรียนเป็นโปรเจกเช่นไปช่วยชุมชนในตัวอย่างจริงเลย โลกนี้ต้องหลอมรวม การศึกษาต้องช่วยกันทั้งหมดทั้งรัฐ เอกชนเข้ามาสนับสนุนได้ หากเราต้องการให้เด็กเรียนโปรเจ็กจริงๆ ทำงานจริง โดยเอาเงินจากเอกชนมาช่วย โลกนี้ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ผลักภาระให้กระทรวงศึกษาอย่างเดียว เช่น หากมีการทำโปรเจก ฝุ่น PM 2.5 ให้เด็กจากหลายๆ กลุ่ม ครู และบริษัท และได้เงินจากบริษัทมาช่วยกันหาการแก้ไข

นายกนก กล่าวว่า งบประมาณการเรียนและอาหารมีบางส่วนอยู่แล้ว แต่ควรจัดการความไม่มีประสิทธิภาพ โดยการจัดการใน สพฐ. ซึ่งมีงบอยู่ตรงกลาง 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี นำสิ่งเหล่านี้มาจัดการใหม่ ต้องจัดการงบประมาณตรงไปที่นักเรียน อะไรไม่จำเป็นรอไปก่อน แต่นักเรียนรอไม่ได้ แต่เรื่องบางเรื่องไม่ต้องใช้เงิน แต่ควรใช้ความรู้ ส่วนที่ควรลงทุนที่สุด คือโครงสร้างในการปรับหลักสูตร ส่งเสริมการเรียนออนไลน์ และการพิมพ์หนังสือแบบเรียน ต้องมีการทบทวนใหม่ เนื่องจากไม่มีสัมฤทธิผลในการศึกษา หนังสือที่จำเป็นจริงๆ คือตำราที่เป็นแกน แต่หนังสือประกอบเป็นเรื่องรอง แต่เราจะทำอย่างไรให้ครูสอนนักเรียนด้วยตำราหลักโดยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ สิ่งที่ขาดมาก คือคู่มือการสอนของครูที่ยังไม่มีแบบเป็นระบบ

 

เมื่อถามว่าสอนอย่างไรให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ ครูต้องมีความใจเย็น และมีตรรกะ เชื่อมโยงคำตอบของนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องจัดทำคู่มือที่ได้มาตรฐาน และนำไปใช้ในท้องถิ่น เพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างเท่าเทียม

นายนพดล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นให้เงินทุกบาทตกไปถึงมือเด็ก เอาตัวเด็กเป็นตัวตั้ง โดยอุดรูรั่ว เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้บทบาทของผู้ปกครองและชุมชนได้บริหารในโรงเรียน การประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ประเด็นที่ 2 ต้องเพิ่มงบประมาณการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อปี 2561 ใช้งบประมาณการศึกษาลดลง พรรคเพื่อไทยไม่เน้นซื้ออาวุธ แต่ต้องการติดอาวุธทางปัญหา โดยการใช้งบพัฒนาการศึกษาใช้งบประมาณน้อยได้ แต่หากไม่พอแต่จำเป็นก็ต้องเติมให้ได้ ประเด็นที่ 3 ต้องลงทุนซอร์ฟแวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ เช่น การสร้างการเรียนออนไลน์ ใช้เงินให้ฉลาดมากขึ้น ประเด็นที่ 4 คือ การให้ความเป็นธรรมกับโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเราให้งบประมาณต่อหัว ซึ่งจะทำให้ได้น้อยกว่า ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงในส่วนนี้ โดยต้องพัฒนาเด็กให้พูดได้ 4 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ และคอมพิวเตอร์

นายพะโยม กล่าวว่า งบประมาณทางการศึกษา ไม่ใช่ 500,000 ล้านบาท ในกระทรวงศึกษาธิการ แต่รวมกับกระทรวงอื่นๆ ประมาณ 800,000 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่างบประมาณเพียงพอ แต่จะบริหารจัดการอย่างไร ต้องดูมิติทุกมิติ อย่างมิติของผู้เรียน หากในการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเด็ก 12 ล้านคน โดยเด็กปฐมวัยสำคัญที่สุด เด็กโตขึ้นมาเรียนประถมศึกษาต้องทุ่มเทในการเรียน เพื่อสนับสนุนหากเด็กต้องการไปสายวิชาการ หากมีการพัฒนาต้องพัฒนาการศึกษาไปทั้งระบบ แต่ขณะนี้ที่มีปัญหางบประมาณ เพราะงบประมาณอยู่ที่ส่วนกลางเป็นหลัก เราต้องดูว่าตัวพื้นที่จริงๆ ต้องใช้อะไร เพราะในโรงเรียนมีเพียงเงินอุดหนุนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เงินงบประมาณ ซึ่งบางครั้งได้เงินงบประมาณก็ไม่ตรงตามที่ต้องการ นอกจากนี้ งบประมาณครูอัตราจ้างทำงานมากแต่ค่าตอบแทนน้อย เพราะฉะนั้นการศึกษาทางออนไลน์จะตอบโจทย์มาก

จะแก้ไขปัญหาภาระหน้าที่ครูอย่างไร

 

นายพะโยม ระบุว่า ประเด็นแรก ครูต้องมาจากการผลิต ให้ได้ครูที่ตรงตามความต้องการจริงๆ ครูในทุกระดับโดยเฉพาะเด็กเล็กสำคัญมาก โดยต้องมีครูที่เรียนมาโดยตรง ค่าตอบแทน เมื่อมีการ บรรจุแต่งตั้ง เมื่อมาในกระบวนการเรียนการสอน ต้องมีการพัฒนากระบวนการพัฒนาเด็ก เปลี่ยนการสอนท่องจำเป็นการปฏิบัติจริงให้เด็กได้มีพัฒนาการ และในส่วนนี้จะเป็นเกณฑ์ในความก้าวหน้าทางการงาน ไม่ต้องเสียเวลากับเอกสาร เป็นการลดภาระและให้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

นายวิทยา กล่าวว่า ครูไม่มีคุณภาพ บรรจุยากออกก็ยาก ครูที่ไม่ต้องการวิทยฐานะ สอนอย่างไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ แต่การศึกษาทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต้องดูว่าครูครบเอกหรือไม่ หากไม่ครบต้องมีการรวมโรงเรียน โดยอาจส่งเสริมรถรับ-ส่ง ให้ไปเรียนในโรงเรียนดีๆ ครูต้องการันตีคุณภาพเด็ก หากเด็กอ่อนต้องขยับอย่างไร เด็กเก่งจะส่งเสริมอย่างไร มีเกณฑ์มาตรฐานกลาง ครูต้องยอมรับให้มีการประเมินคุณภาพครู ในส่วนของการประเมินวิทยฐานะ ทุกวันนี้ครูต้องวิ่งหาวิธีเขียน เราต้องแก้ปัญหาให้ครูเปลี่ยนเป็นวิ่งหาวิธีการสอน โดยให้มีมาตรฐานกลางให้ครูสอนให้ได้มาตรฐาน หากสอบไม่ได้เกิน 2 ครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นผู้ช่วยสอน โดยให้ผู้อำนวยการ และผู้ปกครองช่วยดูแลและประเมินผล ต้องท้าทายและปรับเกณฑ์ประเมินครู

นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มทุนสร้างหุ่นยนต์มาแทนคนและแทนครูแล้ว แต่ปัจจุบันครูไทยยังตื่นเต้นกับการสอน coding ขณะที่จีนกำลังสอนให้ AI เขียน Coding แทนครูแล้ว พรรคชาติพัฒนาได้สอบถามเด็กได้คำตอบว่าครูควรเป็นโค้ชและเป็นเพื่อน เมื่อมีโปรเจกให้เด็กได้เรียนเป็นกลุ่ม ให้กระทรวงศึกษาธิการกล้าที่จะเปลี่ยน โดยให้มีการเทรนกับเทรนเนอร์ โดยใช้เทคโนโลยี

นายกนก กล่าวว่า ครูต้องดีและเก่ง สอนทั้งวิชาการ และจริยธรรม ปัญหาหลักในวิทยฐานะวันนี้ คือ ความก้าวหน้าของครู ไม่ใช่ความก้าวหน้าของนักเรียน การประเมินผลรวมของการศึกษาไทย คือ การสอบ แต่ไม่มีการประเมินการสอน ไม่มีใครมาประเมินว่าครูสอนถูกหรือผิด ควรปรับ 2 ประเด็น คือ 1.ครูฝึกหัดในหลักสูตร 3 ปี สอนได้เป็นอย่างจริง 2.ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้ครูโดยเทรนวันแรกทำได้เลย สิ่งสำคัญ คือ ครูต้องมีใจอยากสอน ครูต้องเป็นตัวแทน เป็นแบบอย่างให้นักเรียนได้เรียนรู้และทำตามโดยเฉพาะในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ขณะที่ชนบท ยังประสบปัญหาขาดแคลนครูเก่ง ต้องปรับเปลี่ยนการให้สวัสดิการแบบกลับหัว ต้องคืนครูที่ดีให้นักเรียน

 

 

นายนพดล กล่าวว่า การผลิตครูต้องมีตัวเลขชัดเจนว่าครูจะเกษียณกี่ตำแหน่ง ขณะนี้จบ 70,000-80,000 คน บรรจุได้ 20,000 คน ต้องมองหาว่าหลายหมื่นคนที่เหลือหายไปไหน โดยต้องมองตำแหน่งครูแต่ละเอกให้เหมาะสม การพัฒนาครู หากมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในสมาคมครูผ่านทางออนไลน์ เช่น ครูสอนภาษาอังกฤษคนละจังหวัด สามารถแลกเปลี่ยนเทคนิคเพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น ต้องให้ครูใช้เวลา 80-90% อยู่กับเด็กโดยให้เด็กเขียนเรียง
ความให้เด็กคิด กระตุ้น ท้าทายเด็กให้แก้ไขปัญหา โดยครูต้องตั้งคำถามให้เด็กเรียนรู้อยู่เสมอ ส่วนสุดท้าย คือ การประเมิน ซึ่งต้องดูที่ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก แต่เมื่อไปปรับโครงสร้างใหญ่ในทันทีอาจทำให้การแก้ปัญหาไม่สำเร็จได้ แต่ต้องทำแม้จะมีแรงเสียดทาน ยากดีมีจน เด็กต้องได้เรียน มีโอกาสทางการศึกษาอย่างน้อย 15 ปี และต้องพัฒนาคุณภาพ โดยเน้นที่เด็กปฐมวัย ลงงบประมาณอย่างเต็มที่ 

 

ควรเปลี่ยนหลักสูตรการท่องจำเปลี่ยนเป็นการสร้างทักษะ คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ เน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก พร้อมปรับวิชาหลักให้ไม่มากเกินไป เด็กต้องมีคุณธรรม จริยธรรม

 

หากได้เป็นรัฐบาลจะหนุนเสริมการศึกษากลุ่มคนไร้สัญชาติอย่างไร และประเมินผลอย่างไร

 

นายพะโยม กล่าวว่า เด็กชาวเขา ชนเผ่า ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ ซึ่งต้องมีการจัดการศึกษาให้มีศักยภาพเท่ากันทุกคน สนับสนุนการศึกษาออนไลน์ให้เข้าถึงทุกคนโดยต้องสร้างแพลตฟอร์ม เนื้อหา หลักสูตร และกระบวนการให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทั้งเรื่องงบประมาณ และบุคลากร รวมถึงระยะทาง

นายนพดล กล่าวว่า โรงเรียนห่างไกลควรใช้สื่อออนไลน์ การวัดผลต้องดูที่โครงงาน การสร้างทักษะ และมีมาตรฐานโดยในอนาคตฐานจะเปลี่ยนจากการสร้างความรู้เป็นการสร้างสมรรถนะ

นายกนก กล่าวว่า หลักสูตรต้องมีการเปิดกว้าง ปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับบริบทของสภาพจริง ครูต้องปรับหลักสูตรเข้าสู่บริบทของพื้นที่ให้ได้ แต่วิชาเอกต้องยืนตามมาตรฐานกลาง วิชาสังคม วัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้ให้จัดการพื้นที่ตนเอง ปลูกต้นไม้ รักษาพื้นที่อนุรักษ์ของตนเองได้ อย่าเอาหลักสูตรไปเบี่ยงเบนให้เด็กสูตรเสียอัตลักษณ์แต่ดึงศักยภาพของชนเผ่าแต่ละพื้นที่

นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า เราอยู่ในโลก 4.5 Edutech คือ เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านออนไลน์ให้เด็กเข้าหาฐานความรู้เท่ากันโดยใช้บล็อกเชน และเน้นเรื่องท้องถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำและประเมินผลได้ คือ คนในท้องถิ่นต้องมีอาชีพในท้องถิ่นตนเอง ไม่หนีจากถิ่นฐาน และต้องเข้าใจโลก อยู่อย่างมีความสุข

นายวิทยา กล่าวว่า การศึกษาไม่ได้แบ่งแยกชนชาติใด การศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเป็นเชิงรุก บางคนที่ไม่ได้เรียนปริญญา แต่ทำงานวิศวกรรมอย่างดีมาก เราก็สามารถให้ปริญญาได้เลย เพื่อรับรองความสามารถ ครูที่เข้าไปช่วยชายแดน ต้องช่วยให้ปรับขั้น 2 ขั้นทุกปี เพราะลำบากกว่าคนอื่น ปัญหาการสอบเข้าของเด็กปฐมวัย คือ ต้องแก้ค่านิยมวิชาการ อาจต้องแก้ด้วยการการันตีเป็นรายบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอบเข้า

 

เห็นด้วยกับการสอบเข้าประถมศึกษาหรือไม่

 

 

นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช พรรคชาติพัฒนา ระบุว่า 0-6 คือ วัยทองของมนุษย์ มันมาจากความกลัวว่าลูกจะไม่ฉลาดแต่โง่ไปเลย เพราะเรากำลังยัดทุกสิ่งอย่างเข้าไป

 

เด็กวัยนี้ควรเล่นมากกว่า ดังนั้น ไม่ควรมีการสอบเข้า และควรให้พ่อแม่กลับมาเรียนใหม่ หากอยากให้เด็กเก่ง ต้องมีเวลาให้เขา ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยไอแพด

 

นายกนก กล่าวว่า ต้องตั้งใจเปลี่ยนระบบการสอบเข้า เพื่อความสะดวกของนักจัดการการศึกษา เนื่องจากเราต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ หากต้องการแก้ปัญหานี้จริง เราสามารถทำได้แน่นอน

นายนพดล กล่าวว่า ไม่ควรมีการทดสอบ แต่ควรพัฒนาบุคลากรด้านปฐมวัยมากขึ้น ครูต้องใส่ใจ มีรายงานประจำวันให้พ่อและแม่ มีปัญหากลั่นแกล้งเพื่อนหรือไม่ พ่อแม่ต้องให้เวลากับลูก

นายพะโยม กล่าวว่า ไม่ควรมีการสอบปัญหานี้เกิดจากค่านิยมของผู้ปกครอง ดังนั้น ควรมีการประเมินหากมีการแข่งขันมากเกินไป

นายวิทยา กล่าวว่า ต้องเตรียมความฉลาดของผู้ปกครองและครู เพื่อให้เปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก

 

หาก 20 ปีข้างหน้าการศึกษาไม่จำเป็นควรเตรียมเด็กอย่างไร


นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า การศึกษาต้องทำให้คนเลือกการใช้ชีวิตแบบตัวเราได้ และทำให้การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเกิดขึ้น

 

 

นายกนก กล่าวว่า การศึกษาได้ต้องสร้างสมรรถนะ ต้องระดมองค์ความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ ความรู้ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมคน

นายนพดล กล่าวว่า ต้องให้เด็กมีศักยภาพด้านภาษา และต้องมีทักษะเทคโนโลยี สอนให้เป็นนายหุ่นยนต์ไม่ใช่รับใช้หุ่นยนต์ และสอนความคิด

นายพะโยม กล่าวว่า ส่วนกลางต้องปรับหลักสูตร การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ได้ ท้องถิ่นต้องปรับการจัดการศึกษาให้ลูกหลานได้อย่างไร

 

ตัดผมสั้น เครื่องแบบ จำเป็นหรือไม่

นายพะโยม กล่าวว่า สิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันทุกคนต้องการอิสระ แต่สังคมไทยมีค่านิยมเรื่องยูนิฟอร์มอยู่ ดังนั้น จึงควรมีการทำการศึกษาทั้งเด็ก โรงเรียน และผู้ปกครองต้องช่วยกันตัดสินใจ

นายนพดล กล่าวว่า ทรงผมและเครื่องแบบไม่ได้ส่งผลต่อการเรียน แต่ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง เช่น ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน เราไม่สามารถตัดเสื้อโหลให้ทุกคนได้

นายกนก บอกว่า ควรเคารพสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับส่วนรวมด้วย ซึ่งด้วยสติปัญญาของนักเรียนและโรงเรียนจะตัดสินได้ แต่รัฐต้องไม่ปิดกั้น

นายวิทิตนันท์ กล่าวว่า ยูนิฟอร์มเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกัน เพราะเครื่องแบบเป็นสิ่งที่บอกตัวตน ตำแหน่งให้รู้จัก ต้องมีการตัดสินใจร่วมกัน

นายวิทยา กล่าวว่า ให้อิสระเขาในการคิด ตกลงกันเอง แล้วจะลงเอยกันเอง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง 2562: "นักการเมืองรุ่นใหม่" ไม่ใช่แค่สีสัน

เลือกตั้ง 2562: ทิศทางปฏิรูปกองทัพ-ปฏิรูปตำรวจ

เลือกตั้ง 2562: ​นโยบายต่างประเทศ "ยุคโลกป่วน"

เลือกตั้ง 2562: มองอนาคตไทยหลังเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง