ช่องว่างระหว่างวัย...แรงงาน(สูงอายุ)

สังคม
5 มี.ค. 62
15:35
787
Logo Thai PBS
ช่องว่างระหว่างวัย...แรงงาน(สูงอายุ)
"สังคมสูงวัย" คำยอดฮิตของ พ.ศ.นี้ที่เรามักได้ยินบ่อยครั้ง แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจ เพราะสิ่งที่ตามมาคือประเทศไทยจะพัฒนาและจัดการระบบจัดสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผู้สูงอายุเหล่านี้อย่างไร โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังเป็นแรงงาน

โดยในบทความนี้จะเน้นไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีงานทำ-มีรายได้ แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน

ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้เหล่านี้ มักประสบปัญหาความยากจน ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม หรือแม้กระทั่งมีหลักประกันทางสังคมที่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ จนนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ อาทิ การเข้าถึงบริการสวัสดิการด้านสุขภาพ การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น

จากงานวิจัย "การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" โดย สกว. พบว่า ปัญหาของผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม  ทำให้ใช้สิทธิในการรักษาด้านสุขภาพจากหลักประกันสุขภาพเป็นหลัก

ในส่วนของปัญหาที่พบมากที่สุด คือ รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้ ไม่มีหลักประกันทางรายได้ที่มั่นคง ซึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบที่มีหลักประกันทางรายได้และได้รับสิทธิการคุ้มครองจากประกันสังคม

เนื่องมาจากนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม ที่มักจะเน้นให้การคุ้มครองดูแลแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในวัยผู้สูงอายุเป็นส่วนหลัก

ประกอบกับช่องว่างของกฎหมายบางประการที่ทำให้ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้อย่างเต็มที่ และยังไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ

ในภาพรวมหากดูจากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจจำนวนและปัญหาของแรงงานนอกระบบในปี พ.ศ.2557 พบว่า ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนคนที่มีงานทำทั้งหมด 38.4 ล้านคน โดยเป็นแรงงานนอกระบบอยู่ร้อยละ 57.6 ของคนที่มีงานทำ

โดยแรงงานนอกระบบหมายถึงผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมที่เป็นเสมือนหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น เช่นการมีกองทุนประกันสังคมที่จะค่อยให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย คลอดบุตร เป็นต้น

จากจำนวนแรงงานนอกระบบอาจกล่าวได้ว่าแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นเป็นแรงงานที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมและได้รับสวัสดิการทางสังคมอย่างเป็นระบบ หรือมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมของแรงงานเกิดขึ้น

โดยในกลุ่มของผู้สูงอายุเป็นแรงงานนอกระบบร้อยละ 8.2 ของจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด หรือราว ๆ 3.5 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบเหล่านี้มักจะได้รับผลกระทบจากช่องว่างหรือข้อจำกัดของกฎหมายบางประการ ที่ทำให้พวกเขาไม่มีหลักประกันจากประกันสังคมที่แรงงานทุกคนควรได้รับความคุ้มครอง

ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาค่าตอบแทนต่ำ งานหนักกว่าที่ควรจะเป็น ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน ไม่ได้รับประกันเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน รวมไปถึงการเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ

ถึงแม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะพยายามสร้างระบบสวัสดิการและหลักประกันทางสังคมต่างๆ ให้แก่แรงงานนอกระบบ แต่ก็ยังมีช่องว่างทางกฎหมายบางประการอันจะกล่าวต่อไปที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการที่รัฐจัดให้อย่างเต็มที่ และไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบ

สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานทั้งในและนอกระบบ แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดสิทธิของผู้สูงอายุไว้หลายอย่าง แต่สิทธิดังกล่าวก็เป็นเพียงสิทธิโดยทั่วไปที่ผู้สูงอายุควรได้รับ ไม่ใช่สิทธิเฉพาะในการคุ้มครองผู้สูงอายุโดยตรง

ซึ่งจากช่องว่างตรงนี้ทำให้แม้แต่ผู้สูงอายุที่เป็นลูกจ้างในตลาดแรงงาน ต้องตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุ จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับการคุ้มครองการจ้างงานในระดับที่เหมาะสม

ในส่วนของผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ทำการขยายความคุ้มครองในระบบประกันสังคมให้กับแรงงานนอกระบบมากขึ้น โดยการมีระบบประกันสังคมภาคสมัครใจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40

โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2556 ได้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2556 เพื่อขยายความคุ้มครองการประกันสังคม ตามมาตรา 40 ให้แก่แรงงานนอกระบบที่มีอายุ 15-60 ปี และแรงงานนอกระบบที่มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้มีหลักประกันในยามที่แก่ชรา เช่น ได้รับการคุ้มครองในเรื่องประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และเงินบำนาญชราภาพ โดยผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับประกอบกับการแก้ไขกฎหมายโดยการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ก็ส่งผลให้ทางเลือกที่ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนเองสิ้นสุดลง ต้องรับเงินคืนหรือย้ายไปเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติแทน

แต่ด้วยเงื่อนไขของกองทุนการออมแห่งชาติในมาตรา 30 มีเงื่อนไขว่าคนที่จะมีสิทธิเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 60 ปี จึงกลายเป็นว่าผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนนี้ได้

ทำให้ในปัจจุบันผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบนอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมแล้ว ยังไม่สามรถเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติได้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวมีช่องข้อจำกัดที่กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้ความคุ้มครองครอบคลุมเฉพาะแรงงานนอกระบบที่อายุไม่เกิน 60 ปีเท่านั้น

หรืออาจกล่าวได้ว่าความพยายามขยายความคุ้มครองในระบบประกันสังคมให้กับแรงงานนอกระบบในตอนนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคมเหมือนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบเนื่องจากต้องขาดหลักประกันและความคุ้มครองต่างๆ เช่น ในด้านการใช้บริการด้านสุขภาพ

ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบจึงต้องพึ่งพาสวัสดิการด้านบริการสุขภาพจากหลักประกันสุขภาพตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แทน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังพบสภาพปัญหาและข้อจำกัดในการใช้บริการของผู้สูงอายุมากมาย ทั้งไม่มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ความยุ่งยากของการส่งตัวผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาล เป็นต้น

แนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ แนวทางแรก คือภาครัฐต้องมีแนวนโยบายการสร้างรายได้สร้างอาชีพโดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำอาชีพตามความถนัดของตนเอง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้ มีเงินเก็บ เพื่อการดำรงชีวิตและเตรียมความพร้อมก่อนถึงวัยสูงอายุ

อีกทั้งควรเพิ่มแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และประกันชีวิต ออกแบบระบบงานประกันที่รองรับต่อกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

แนวทางต่อมา คือ เน้นการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่าย

แนวทางสุดท้ายคือส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้แสดงบทบาท เน้นเปลี่ยนความคิดจากเป็นผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ หันมาช่วยเหลือตนเองและสังคมเพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

ที่มา: ภุชงค์ เสนานุชและคณะ, การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560.

ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง