เลือกตั้ง 2562: พรรคการเมืองขานรับ “กระจายอำนาจ” คืนท้องถิ่น

การเมือง
16 มี.ค. 62
12:35
808
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562: พรรคการเมืองขานรับ “กระจายอำนาจ” คืนท้องถิ่น
โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง 2562 หลายพรรคการเมืองชูนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้และท้องถิ่นบริหารจัดการตัวเอง พร้อมชูแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระบบบำบัดน้ำเสีย และขยะทะเล

“การเมือง การกระจายอำนาจ”

น.ส.ศิริกัญญา พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ชูธงเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อคืนอำนาจสู่ประชาชน โดยแบ่งรายได้ท้องถิ่นและส่วนกลาง สัดส่วน 50 : 50 เพิ่มงบประมาณจากการเก็บภาษีตัวใหม่ เช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง กลับมาเป็นรายได้หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อเก็บภาษีแล้วรายได้หลัก ร้อยละ 70 ต้องจัดสรรให้ทางจังหวัด ส่วนร้อยละ 30 ส่งคืนส่วนกลาง

นอกจากนี้ มีนโยบายให้จังหวัดจัดการตนเอง ส่งเสริม อปท.ตามความต้องการแต่ละพื้่นที่ เช่น การท่องเที่ยว การค้าขายชายแดน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเริ่มนโยบายรัฐเปิดเผยตั้งแต่ส่วนท้องถิ่น ป้องกันการทุจริต เบื้องต้นจะไม่ยุบหน่วยงานส่วนภูมิภาคทันที แต่จะมอบหมายงานสาธารณะทั้งหมดเป็นของ อปท. และโอนย้ายบุคลากรบางส่วนจากส่วนภูมิภาคไปสังกัด อปท. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่น

 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจะไม่มีความหมายหากภารกิจยังอยู่กับรัฐบาลส่วนกลาง


ขณะที่นายวราวุธ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นประเด็นที่สำคัญรองจากการศึกษา พร้อมยกตัวอย่างชลบุรีโมเดล หัวใจสำคัญ คือ เริ่มในจังหวัดที่มีความพร้อม ปัจจุบันการกระจายงบประมาณมักผูกไปกับภารกิจด้วย ทำให้การพัฒนาไม่ต้องตามความต้องการของท้องถิ่น

 

บางท้องถิ่นเป็นชุมชนเมือง บางท้องถิ่นต้องการพัฒนาบุคลากร พัฒนาการอุปโภคบริโภค ส่วนกลางควรให้งบฯ แต่ละท้องถิ่นได้บริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพ

 

ด้านนายสุวัจน์ พรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า พรรคสนับสนุนการกระจายอำนาจ ลดความเหลื่อมล้ำแต่ละพื้นที่ ตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณอุดหนุนท้องถิ่นให้ได้ ร้อยละ 35 รวมทั้งให้อำนาจในการบริหารจัดการโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ และส่วนกลางต้องสร้างความทั่วถึงของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ


งบประมาณต้องตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างเพียงพอ ส่วนจังหวัดที่สำคัญนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้ง


นายเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มเรื่องการกระจายอำนาจทั้ง อปท. อบจ. ก่อนหน้านี้เคยออกกฎหมายสัดส่วนงบประมาณที่จัดสรรให้ท้องถิ่นอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลต่อมาไม่ได้มีการนำไปสานต่อ โดยมั่นใจว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะนำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณที่จัดสรรให้ท้องถิ่นขึ้นเป็น ร้อยละ 35 ภายใน 4 ปี รวมทั้งให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ


ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศ 12 มหานครเศรษฐกิจ ลดความซับซ้อนส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น


ขณะที่นายนพดล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาท้องถิ่นต้องให้ท้องถิ่นแก้ไข เป็นการฝึกฝนประชาธิปไตยจากฐานราก เช่น ปัญหา PM 2.5 ที่ จ.เชียงใหม่ ต้องแก้ปัญหาโดยคนเชียงใหม่ รวมทั้งกระจายอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลางไปให้ท้องถิ่น ต้องจัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 35 ให้เกิดขึ้นได้จริง

 

พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดเลือกตั้งราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดที่พร้อม ส่วนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า การกระจายอำนาจจะเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งปัญหาสุขภาพและความเหลื่อมล้ำ ในระยะสั้นต้องทำให้เกิดความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ใช้วีธีการโซนนิ่งดูแลจังหวัดเล็กๆ และภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบ


ด้านภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจล้านเปอร์เซ็น หมดเวลาให้รัฐใช้เงินอย่างไร้ประสิทธิภาพ ถึงเวลากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตัวเองและกำหนดทิศทางอนาคตเองได้

ภาครัฐต้องจริงจังและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ

 

สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมือง

นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า รากของปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชาติ คือความใส่ใจของภาครัฐ โดยพรรคมีนโยบายกรุงเทพฯ สะดวกสบาย ให้ไปทำงาน 4 วัน อีก 1 วันทำงานที่บ้าน เรียน 4 วัน อีก 1 วัน เรียนออนไลน์ที่บ้าน เป็นการจัดสรรเวลาทำงาน ลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวว่า หลักการและกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) กับ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่การปฏิบัติจริงๆไม่ได้ทำเช่นนั้น

เสนอให้เปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B7 B10 และ B20 กับรถยนต์จะช่วยลดมลพิษได้ และปรับมาตรฐานเป็นน้ำมันจาก 3 , 4 เป็นยูโร 5

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะทบทวนกฎหมายละเมิดเสรีภาพ ทั้ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ นิคมอุตสาหกรรมให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ให้เครื่องมือชุมชนตรวจสอบด้วยตัวเอง มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์

ปัญหาคือรัฐหวงแหนทรัพยากรเป็นของตัวเอง แต่ไม่ปลูกฝังว่าคือทรัพย์สินร่วมกันของประชาชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหาคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ต้องให้บริหารจัดการตัวเองได้ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากร เพราะท้องถิ่นจะรู้จุดอิ่มตัวของพื้นที่ตัวเอง ขณะที่การแก้ปัญหาฝุ่นละออง ต้องทำตามกฎหมาย ปลูกฝังการปลูกต้นไม้มากขึ้น และธนาคารต้นไม้

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่บางทีก็มองเห็นและมองไม่เห็น ดังนั้นรัฐบาลมองคนเดียวไม่ได้ประชาชนต้องช่วยดูแล โดยการกระจายอำนาจให้ทุกคนได้ช่วยกัน วันนี้เราพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ในต่างทั่วโลกมีการปรับใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์กันหมดแล้ว

ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหา เช่น โครงข่ายโทรคมนาคม 5 จี เพื่อปรับปรุงดาวเทียม ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า

นายเกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แก่นของปัญหาคือรวมศูนย์ไม่กระจายอำนาจ กฎหมายไม่ได้มาตรฐาน เรื่องที่ดินทำกินประชาชนเดือดร้อน ต้องแก้ไขกฎหมาย แก้การทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ

พลังงานไม่เอาถ่านหิน ใช้พลังงานทดแทน กระจายงบประมาณให้เมืองดูแลตัวเอง มีสภาประชาชนเข้ามากำกับดูแล

นายนพดล ปัทมะ พรรคเพื่อไทยปัญหาพื้นฐานคือการกระจาย ต้องฟังเสียงคนท้องถิ่นให้มากที่สุด ป่าเป็นปัญหาใหญ่ สิ่งแวดล้อมคือชีวิต พรรคมีนโยบายปลูกป่า 50 ล้านไร่ ส่วนมลพิษในเมือง PM 2.5 จะใช้บี 20 บี 100 มาแทนน้ำมันดีเซล และศึกษาการสร้างอาคารฟอกอากาศ นำสายไฟฟ้า สายโทรคมนาคมลงดินเพื่อปลูกต้นไม้เพิ่ม ลดโดยสารสาธารณะต้องเป็นไปใช้ระบบไฟฟ้า นำการขนส่งมวลชนมาใช้แทนรถยนต์ส่วนตัว และดูแลปัญหาขยะทะเล

ต้องมีขั้นตอนการดำเนินการตามหลัก Polluter Pays Principle (PPP) ผู้ก่อมลพิษต้องชดใช้

นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแบนถุงพลาสติกบางประเภทในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีนี้ แต่ต้องหาวธีรีไซเคิลก่อน เช่น บริษัทแชมพู อาจนำเอาขยะทะเลมารีไซเคิล ผลิตเป็นขวดใหม่ จะขายถุงพลาสติกไหม อาจต้องค่อยๆ แก้กันไป ต้องรับฟังปัญหาทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ผลิตถุงและผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง