Insight : สูตรพิสดาร "ล็อก" นายกฯ

การเมือง
20 มี.ค. 62
13:09
820
Logo Thai PBS
Insight : สูตรพิสดาร "ล็อก" นายกฯ
วิเคราะห์ 3 สูตรพิสดารเลือกนายกฯ และวิเคราะห์ 3 สูตรปกติตามกลไกรัฐสภา

เลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ ระบบเลือกตั้งก็เรื่องหนึ่ง เลือกนายกฯ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ทบทวนความจำ เรามี ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน (ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช.) ทั้งหมดจะร่วมโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งต้องใช้เสียงเกิน "ครึ่งหนึ่ง" ของรัฐสภา หรือมากกว่า 375 เสียง จำตัวเลขนี้ให้ดี

การจัดรัฐบาลจึงมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบเรียงจาก "พิสดาร" มากไปหาน้อย จนคุณผู้ชมอาจคิดว่าบางสูตรแทบจะเป็นไปไม่ได้

สูตร 1 Death Lock เลือกนายกฯ ไม่ได้

สูตรนี้จะถูกหยิบใช้กรณีที่ พลังประชารัฐ ได้เสียงน้อยมาก คือได้ ส.ส. ต่ำกว่า 80 ที่นั่ง จึงไม่มีความชอบธรรมในการเป็นแกนกลางตั้งรัฐบาล แต่อาจต่อรองกับพรรคขนาดกลาง หรือพรรคขนาดเล็ก ให้ได้เสียงเกิน 125 เสียง จากนั้นจับมือกับ ส.ว. 250 โหวต "ไม่เลือก" บุคคลที่พรรคเสียงข้างมากเสนอชื่อเป็นนายกฯ

สูตรนี้ถูกแย้งว่า ในเมื่อพลังประชารัฐ รวมเสียงได้ถึง 125 เสียง ทำไมไม่ตั้งรัฐบาลเองตั้งแต่แรก (ส.ส. 125 + ส.ว. 250 = 375 เสียง) คำตอบคือ 1.ตามธรรมเนียมปฏิบัติพรรคที่ได้เสียงข้างมาก ย่อมมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน 2.การต่อรองกับพรรคขนาดกลางและพรรคอื่นๆ นำไปสู่การตกลงผลประโยชน์ หรือการล็อกตัว "นายกฯ" ที่จะสนับสนุน ซึ่งอาจเป็นคนของพลังประชารัฐเองหรือพรรคการเมืองอื่น

ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีเสียง ส.ส.อย่างน้อย 250 คน เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล และป้องกันการถูกถอดถอน

สูตร 2 "บิ๊กไซส์" พรรคร่วมรัฐบาล

สูตรนี้จะคล้ายๆ กับ "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่หลายคนพูดถึง คือการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม. แต่จะเหลือบางพรรคเท่านั้นที่เป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านอันดับ 1 ที่ประกาศตัวชัดเจน คือพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศว่าถ้ามีรัฐบาลแห่งชาติจะขอเป็นฝ่ายค้าน อันดับ 2 มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้านร่วม เพราะประกาศตั้งแต่ต้นว่า ไม่เอาเผด็จการ-ไม่เอาสืบทอดอำนาจ เนื่องจาก "รัฐบาลแห่งชาติ" ย่อมมีพลังประชารัฐ ที่ถูกตีตราว่าเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ คสช. ร่วมอยู่ด้วยแน่นอน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็นฝ่ายค้าน หากมีรัฐบาลแห่งชาติ แม้ประกาศไม่เอา "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นนายกฯ แต่ยินดีร่วมงานกับพลังประชารัฐ

พูดให้ง่ายขึ้น คือ ถ้าพลังประชารัฐร่วมกับประชาธิปัตย์ ดัน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ยินดีร่วมมือ (สูตรนี้จะเล่าในสูตรตั้งรัฐบาลในแบบพิสดารน้อย)

สูตร 3 ตาอิน ตานา เสียเก้าอี้ให้ "ตาอยู่"

"ตาอยู่" ที่ว่า พวกเขาคุ้นเคยกับการอยู่ลำดับที่ 4 ของตาราง (ลงไป) นั่นคือพรรคขนาดกลางที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ เป็นประจำ ได้แก่ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ถ้าสมมติ 3 พรรคนี้มี ส.ส.ในมือไม่ต่ำ 50 คน และพรรคพลังประชารัฐก็ได้ ส.ส.อยู่ในระดับเดียวกัน บวกเลขเสร็จจะได้ ส.ส. 100 ที่นั่ง เมื่อบวกรวมกับพรรคอื่นๆ ที่ยินดีร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล ตัวเลข ส.ส. 125 คน คงไม่ไกลเกินเอื้อม สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สบาย (จำตัวเลขชุดเดิม ส.ส. 125 + ส.ว. 250 = 375)

แต่สูตรนี้เสี่ยงที่เก้าอี้ "นายกฯ" จะตกอยู่ที่ "ตาอยู่" อย่างพรรคภูมิใจไทย เพราะขั้วพรรคขนาดกลาง มีอำนาจต่อรองไม่ต่างจากพลังประชารัฐ ถ้าจะสกัด เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ไม่ให้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องแลกเก้าอี้นายกฯ กับการคุมอำนาจรัฐบาล

อย่างไรก็ตามสูตรนี้ รัฐบาลจะไม่เสถียร ทั้งแง่อำนาจต่อรอง "คนใน" รัฐบาล ขณะที่ฝ่ายค้าน "ถอดถอน" นายกฯ ได้ง่าย ด้วย ส.ส. 250 คน

เมื่อไล่เรียงสูตรที่เรียกว่า "พิสดารมาก" กันมาแล้ว มาดูสูตรทั่วๆ ไปที่วิเคราะห์กันตามตลาดนัดหนังสือพิมพ์

สูตร 1 พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 ตั้งรัฐบาล

ถ้าอิงกันตามสถิติเลือกตั้ง 2554 อันดับ1 คือพรรคเพื่อไทย หากแต้ม ส.ส.เพื่อไทยได้ใกล้เคียง 200 ที่นั่ง ย่อมตั้งรัฐบาลได้สบายๆ แต่การบริหารประเทศหลังจากนั้น ทั้งด่าน 250 ส.ว. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะคอยตรวจการบ้านงานปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นคนละเรื่อง

เรียกว่าตั้งรัฐบาลง่าย แต่จะบริหารได้ง่ายหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

พูดถึงแต่สถิติปี 2554 ถ้ามาดูครั้งนี้ คิดแบบมุมกลับถ้าพลังประชารัฐ ได้เสียงใกล้ 200 ที่นั่ง ก็จัดตั้งรัฐบาลได้สบายๆ แต่ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่างสูตรนี้ควรจับยัดในสูตร "พิสดารมาก" หรือไม่นั้น อันนี้ขอเถียง เพราะการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้นะครับท่านผู้ชม

ยิ่ง "ลุง" เปิดตัวผ่านคลิปบนเวทีปราศรัยพลังประชารัฐ และลงพื้นที่ถี่ยิบด้วยภารกิจนายกรัฐมนตรี ไม่แน่...

สูตร 2 พรรคอันดับ 2 ตั้งรัฐบาล

สูตรนี้คนโฟกัสไปที่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ หากประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ดังสถิติในการเลือกตั้ง ปี 2554 ย่อมมีความชอบธรรมกว่า พรรคอันดับ 3 ซึ่งความเป็นไปได้ในสูตรนี้ คือ พลังประชารัฐหรือภูมิใจไทย ดังนั้นเก้าอี้นายกฯ ตามสูตรนี้ จะหนีไม่พ้นคนพรรคประชาธิปัตย์

อีกด้านหนึ่ง หากพลังประชารัฐ ชิงมาเป็นอันดับ 2 ในช่วงโค้งสุดท้าย ลักษณะรูปการณ์ก็จะไม่แตกต่างกันจากกรณีประชาธิปัตย์ แคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ ที่ชื่อ "ลุงตู่" ก็จะได้เก้าอี้นายกฯ

สูตร 3 พรรคใหญ่คะแนนต่ำ

สูตรนี้ไม่จัดอยู่ในหมวด "พิสดาร" เพราะมีโอกาสเป็นไปได้ ที่เลือกตั้งครั้งนี้พรรคใหญ่เจ้าประจำในการเมืองไทย จะได้ ส.ส. เกิน 100 ไม่มาก (ไม่เฉียด200) ยกตัวอย่างพรรคใหญ่ที่ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์" สะดุด หลังพรรคพันธมิตรถูกยุบ จึงทำให้อำนาจในการต่อรองพรรคขนาดกลาง และ "พรรคหน้าใหม่" ที่มีกระแสดีๆ ในช่วงท้ายลดลง

จังหวะนี้จึงเป็นโอกาสดีของพรรคอัน 2 อันดับ 3 ที่มีคะแนนห่างจากอันดับ 1 ไม่มาก จะฉวยโอกาสเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล และเสนอคนของพรรคเป็นนายกฯ เรียกได้ว่า สูตร 3 เป็นสูตรที่ต่อยอดมากจากสูตร 2 ในกรณีที่พรรคอันดับ 1 ชนะแบบไม่ขาดลอย

ผลการเลือกตั้งไม่อาจหยั่งรู้-คาดคะเน

ดังสูตรการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกฯ ไม่ใช่การคาดการณ์ล่วงหน้า แต่เป็นการคำนวณตามคณิตศาสตร์การเมือง จะจิ้มสูตรไหนไม่ใช่ผมเป็นคนจิ้ม แต่เป็นการตัดสินใจของท่านผู้ชม

เจษฎา จี้สละ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง