นายกรัฐมนตรี ห่วงประชาชน "เครียด" ข่าวการเมือง

การเมือง
28 มี.ค. 62
09:46
3,133
Logo Thai PBS
นายกรัฐมนตรี ห่วงประชาชน "เครียด" ข่าวการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงประชาชนเสพข่าวการเมืองมากเกินจนเกิดภาวะเครียด พร้อมให้เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะอาจนำมาสู่ความขัดแย้งได้

วันนี้ (28 มี.ค.2562) พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นห่วงสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชนที่เฝ้าติดตามข่าวการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมือง ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการ

ขอความร่วมมือสื่อมวลชนนำเสนอข่าวในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดความเครียดหรือความวิตกกังวลของประชาชนเนื่องจากขณะนี้ใกล้เข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.นี้ 

นายกรัฐมนตรี อยากให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่คนไทยมีความสุข ความสามัคคีประเทศชาติมีความสงบ ส่วนรัฐบาลยังคงต้องทำหน้าที่ต่อไปเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน โดยไม่อยากให้นำปัญหาทางการเมือง ซึ่งยังเป็นเรื่องของอนาคตมาถกเถียงกันให้เกิดความสับสนหรือขัดแย้งไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี แนะให้ประชาชนแบ่งเวลาติดตามข่าวสารอย่างพอดี ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติโดยเฉพาะการพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกัน ควรเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และรู้จักแยกแยะได้ว่าสิ่งที่ฝ่ายการเมืองทำอยู่ในขณะนี้มีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร

เช็กอารมณ์เครียดการเมืองแค่ไหน 

นพ.กียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ข่าวการเลือกตั้งกำลังเป็นที่สนใจของประชาชน หากมีการติดตามข่าวสารมากจนเกินไป อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการทางกายได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอหรือตามแขนขา ชาตามร่างกาย หายใจไม่อิ่ม อึดอัดใน ช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือหลับแล้ว ตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้

ส่วนอาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการวิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก และปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยังยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่ เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง