วิเคราะห์ "บรูไน" เพิ่มบทลงโทษตามกฎหมายอิสลาม

ต่างประเทศ
29 มี.ค. 62
19:58
15,097
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ "บรูไน" เพิ่มบทลงโทษตามกฎหมายอิสลาม
หลังบรูไนเตรียมเพิ่มบทลงโทษสถานหนักในกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม ที่มีประเด็นเรื่องบทลงโทษที่รุนแรง เกี่ยวกับการปาหินผู้กระทำความผิดจนเสียชีวิต ประเด็นนี้ทำให้เกิดความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในบรูไนเป็นวงกว้าง

วันนี้ (29 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเป็นอนุรักษ์นิยมจากการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรง เหมือนเป็นการส่งสารไปถึงโลกมุสลิมให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความศรัทธาของบรูไนที่มีต่อศาสนาอิสลาม

กฎหมายชารีอะห์ คือประมวลกฎหมายที่มาจากคำสอนและหลักนิติศาสตร์พื้นฐานของศาสนาอิสลาม ครอบคลุมการดำเนินชีวิตของประชาชน การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การทำธุรกรรมสัญญา ไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว

ประเทศและเมืองที่นำเอากฎหมายชารีอะห์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบมีทั้ง มอริเตเนีย ซูดาน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ เยเมน อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน มัลดีฟส์ ส่วนในอาเซียนมีบรูไนและจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย

บรูไน ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ใช้กฎหมายชารีอะห์เป็นกฎหมายอาญาทั่วประเทศและมีการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2557 เป็นบทลงโทษสถานเบา ทั้งการปรับและการจำคุก สำหรับผู้มีความผิดฐานตั้งครรภ์นอกสมรส หรือการไม่ละหมาดวันศุกร์

ระยะที่ 2 เป็นบทลงโทษที่มีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการเฆี่ยนและการตัดมือผู้กระทำผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนระยะที่ 3 เป็นบทลงโทษสถานหนัก คือการปาหินจนตาย ซึ่งใช้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้กระทำผิดฐานคบชู้ ล่วงละเมิดทางเพศ และหมิ่นศาสนา ซึ่งระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เผชิญกับแรงกดดันและกระแสต่อต้านอย่างหนักจากทั่วโลก จนสมเด็จพระราชธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ทรงชะลอแผนการบังคับใช้กฎหมายออกไป

 

ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันในขณะนี้ คือการนำเอาบทลงโทษในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มาบังคับใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในวันที่ 3 เม.ย.2562 ทำให้บทลงโทษนั้นรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บรูไนยุติแผนการนำบทลงโทษมาบังคับใช้เพราะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ขณะที่รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า การใช้บทลงโทษสถานหนักทำให้ภาพลักษณ์ของบรูไนดูแย่ในสายตาของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดกระแสการคว่ำบาตรเพื่อต่อต้านกฎหมายชารีอะห์อีกครั้ง หลังจากทั่วโลกเคยคว่ำบาตรบรูไนมาแล้วเมื่อปี 2557

ขณะที่ ดร.ชัยวัฒน์ มีสัญฐาน ประธานศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเพิ่มบทลงโทษตามกฎหมายชารีอะห์แสดงให้โลกมุสลิมเห็นถึงความศรัทธาต่อศาสนาอิสลาม ส่วนกระบวนการพิจารณาคดีนั้นมีขั้นตอนซับซ้อน ไม่ได้บังคับใช้กันง่ายๆ

ดร.ชัยวัฒน์ ย้ำว่าผู้ที่มีแผนเดินทางไปท่องเที่ยวบรูไนยังคงไปได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบรูไนอย่างเคร่งครัดและหลีกเลี่ยงการกระทำความผิด นอกจากนี้ควรทำความเข้าใจถึงพื้นฐานทางสังคมและแนวคิดของบรูไน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนคนไทยไป "บรูไน" อย่าทำผิด กม.เสี่ยงโทษหนักปาหิน-แขวนคอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง