ไขคำตอบ ! "ทางด่วน" ไม่รับเหรียญ-แบงก์ชำรุดจริงหรือ?

สังคม
5 เม.ย. 62
10:34
5,795
Logo Thai PBS
 ไขคำตอบ ! "ทางด่วน" ไม่รับเหรียญ-แบงก์ชำรุดจริงหรือ?
ทางด่วน แจงเหตุไม่รับเหรียญเงิน-แบงก์ชำรุด เนื่องจากยึดแนวปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุมีการอบรมพนักงานเก็บเงินวิธีดูเหรียญ-แบงก์ปลอม ชี้เหตุการณ์บนโซเซียล เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจไม่รับเหรียญ 10 ชำรุดได้ เพราะต้องนำไปแลกเองมูลค่าหายครึ่งนึง

วันนี้ (5 เม.ย.2562) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Ton Battle โพสต์คลิปวิดีโอความยาวกว่า 2 นาที พร้อมข้อความระบุเมื่อทางด่วนไม่รับเหรียญ​ 10​ บาท​ บอกว่าเหรียญชำรุด​ เมื่อดุลพินิจจากพนักงาน​ เป็นคนตัดสิน​แล้วบอกผมจะหนีด่านจ่ายเงิน บอกเลยว่ายาว เหตุเกิด​ ด่วนบางพลี-สุขสวัสดิ์​ ช่องจ่ายเงินเทพารักษมุงหน้าบางพลี​ ถ้าไม่ได้ลุง​ รปภ​ นะ​ คงหลาย​ชั่วโมง

ทั้งนี้จากเสียงที่สนทนาที่เกิดขึ้น  ผู้โพสต์ระบุว่าจะจ่ายเงินค่าทางด้วน 25 บาท แต่เจ้าหน้าที่เก็บเงินบอกว่าเหรียญชำรุด และบอกว่าเหรียญ 10 ใช้ไม่ได้ และไม่รับ โดยให้หาเงินเหรียญอื่นมาจ่าย แต่ผู้โพสต์บอกว่ามีเงินอยู่เพียงเท่านั้น 

พร้อมทั้งพยายามอธิบายว่า เขาทอนมา ก็จะนำมาจ่ายค่าทางด่วน โดยเจ้าหน้าที่ก็ยังสอบถามกลับมาว่าค่าผ่านทาง 25 บาท แต่มีเหรียญที่ใช้ไม่ได้ 10 บาท และจะไม่รับ พยายามจะให้เขาหาเงินมาจ่ายเงินให้ครบ ไม่งั้นจะไม่ยอมให้ออกจากทางด่วน ท่ามกลางรถที่ติดยาว จนพนักงานรักษาความปลอดภัยมาแลกเหรียญชำรุดเพื่อระบายรถ

 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางด่วนไม่รับเหรียญชำรุด ก่อนหน้านี้เมื่อ 22 ก.ย.2558 ในโลกออนไลน์ ก็เคยมีคลิปออกมาเผยแพร่ พบว่ามีพนักงานเก็บเงินกับผู้ใช้ทางด่วนว่าเหตุใดจึงไม่รับธนบัตรเก่า ทั้งๆที่ธนบัตรก็ไม่ได้ชำรุดแต่อย่างใด พร้อมกับถามว่ามันทุเรศมากเลยเหรอ เงินมันไม่มีค่าขนาดนั้นเลยเหรอ ขณะที่พนักงานชี้แจงว่า เมื่อรับแบงก์เก่าแล้ว พอส่งให้ธนาคาร ก็ถูกธนาคารตีกลับมา หลังจากนั้นหญิงคนที่ถ่ายคลิปก็ได้พูดขึ้นมาว่า แบงก์ขาดธนาคารยังรับไว้เลย

ทางด่วน ชี้แจงเหรียญ-แบงก์ชำรุดไม่รับ

ขณะที่จากการสอบไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทางการทางพิเศษมีแนวทางวิธีเรื่องการรับเงิน และแบงก์ชำรุดตามประกาศของธนาคาร และมีการอบรมพนักงาน ในการดูเหรียญ รวมถึงป้องกันการใช้แบงก์ปลอมนำมาชำระค่าทางด่วน 

การปฏิเสธไม่แบงก์ชำรุดขึ้นกับดุลยพินิจของพนักงานเก็บเงินที่อาจจะดูจากผู้ใช้บริการส่งให้ เช่น ธนบัตรใบละ 100 บาท แต่มีลักษณะฉีกขาดครึ่งใบ ก็จะทำให้มูลค่าเงินลดเหลือเพียง 50 บาท มีรอยเปื้อนคราบน้ำมัน ส่วนเงินเหรียญอาจจะบิ่น หรือบางครั้งอาจจะมองไม่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ ก็จะถูกตีว่าชำรุด

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ บอกอีกว่า หลักการปฏิบัติพนักงานบางคนจะบอกว่าขอธนบัตรใบใหม่ เพราะเขารู้ว่าถ้ารับมาแล้วก็ต้องนำไปแลกเอง และมูลค่าของเงินจะหายไป บางคนต้องควักกระเป๋าเองที่ผ่านมาเคยมีหลายเคสที่คนขับรถเข้าทางด่วนลืมกระเป๋าสตางค์ไม่มีเงิน พนักงานก็จ่ายแทน หรือบางคนก็ขอหมายเลขรถ และทำรีพอร์ตบันทึกไว้ ไม่มีผลอะไรในทางกฎหมาย ถ้าผ่านมาก็มาจ่ายภายหลัง 

ส่วนกรณีเกิดขึ้นที่พนักงานปฏิเสธไม่รับเหรียญ ทางการพิเศษ จะตรวจสอบข้อมูลและรายงานให้ผู้บริหารทราบ แต่เบื้่องต้นจากการดูคลิป พนักงานได้อธิบายเหตุผลที่ไม่รับเหรียญ 10 ที่มีลักษณะชำรุด และไม่ได้มีเจตนาที่จะกักขังผู้ใช้บริการทางด่วน รวมทั้งส่วนหนึ่งไม่ได้มีการติดประกาศแจ้งเรื่องไม่รับเหรียญ แบงก์ชำรุดที่ชัดเจนให้ผู้ใช้ทางด่วนรับทราบ

ยอมรับว่าพนักงานอาจจะไม่ใช้ดุลพินิจในการแก้ปัญหานี้ โดยใช้เวลามากในการอธิบายกัน จนเกิดรถติดสะสม จนทำให้รปภ.เป็นคนที่เข้ามาแลกเหรียญเพื่อตัดปัญหา ซึ่งขอชื่นชมพนักงานรปภ.คนดังกล่าว
ภาพ:ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพ:ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพ:ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

แบบไหนเรียกว่าแบงก์ชำรุดใช้ไม่ได้ 

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 มาตรา 18 จำ​แนกไว้ 4 ลักษณะ ดังนี้

  • ธนบัตรครึ่งฉบับ คือ ธนบัตรที่ถูกแยกตรงกลางหรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืนเท่านั้น หลักเกณฑ์การรับแลก ให้รับแลกเปลี่ยนแต่ละครึ่งฉบับเพียงครึ่งราคาของราคาเต็มของธนบัตรนั้น 
  • ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน หลักเกณฑ์การรับแลก ถ้าไม่เกินสองท่อน แต่ละท่อนเป็นธนบัตรแบบและชนิดราคาเดียวกัน ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
  • ธนบัตรขาดวิ่น คือ ธนบัตรซึ่งมีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไป หลักเกณฑ์การรับแลก - ​ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อเห็นประจักษ์ได้ว่าส่วนที่เหลืออยู่มีมากกว่าครึ่งฉบับ ให้รับแลกเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น
  • ธนบัตรลบเลือน คือ ธนบัตรที่มีเหตุทำให้อ่านข้อความหรือตัวเลขไม่ได้ความ หลักเกณฑ์การรับแลก - ให้รับแลกเปลี่ยนเฉพาะเมื่อการลบเลือนนั้น ไม่ถึงทำให้ไม่รู้ได้ว่าเป็นธนบัตรแท้จริง โดยให้รับเปลี่ยนเต็มราคาของธนบัตรนั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง