กสทช.ขีดเส้น 10 พ.ค. ผู้ประกอบการยื่นคืนช่องทีวีดิจิทัล

เศรษฐกิจ
17 เม.ย. 62
15:37
1,223
Logo Thai PBS
กสทช.ขีดเส้น 10 พ.ค. ผู้ประกอบการยื่นคืนช่องทีวีดิจิทัล
กสทช.ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจทัล 22 ช่อง แจ้งสิทธิเลิกประกอบกิจการ ภายใน 10 พ.ค.นี้ และเตรียมคืนเงินประมูลทีวีดิจิทัล 986 ล้านบาท ให้ 3 ช่อง ส่วนค่ายมือถือได้สิทธิยืดเวลาจ่ายค่าประมูล 4G เป็น 10 งวด ใน 10 ปี

วันนี้ 17 เม.ย.62 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ประกอบการโทรคมนาคม และโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดินมารับฟังรายละเอียด หลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการสามารถคืนช่องทีวีดิจิทัลได้ และสามารถขยายเวลาชำระเงินประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ออกไปได้

นายฐากร กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใดประสงค์คืนใบอนุญาต โดยไม่ต้องการประกอบใบกิจการต่อให้แจ้งความจำนงคืนใบอนุญาตภายในงวันที่ 10 พ.ค.62 พร้อมให้สิทธิ์ผู้ประกอบการทั้ง 22 ช่องในกลุ่มธุรกิจที่ประมูลได้ ไม่ต้องจ่ายเงินที่ค้างชำระในงวดที่ 5 และงวดที่ 6 รวมจำนวนกว่า 13,624.2 ล้านบาท เพื่อบรรเทามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวี ที่อุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลงใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่จะนำเงินค่าประมูลคลื่น 5G ย่านความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ ที่จะมีขึ้นกลางปี 2562 นี้ และคาดว่าจะมีบริษัทโทรคมนาคม ที่สนใจและชนะประมูลมาจ่ายแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

สำหรับผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่ยังไม่ชำระงวดที่ 4 ที่เลยกำหนดแล้วเมื่อเดือน พ.ค.61 ขณะนี้มีรวมทั้งหมด 17 ช่อง ที่ค้างชำระรวม 3,215.2 ล้านบาท ทาง กสทช. ขอให้เงินค่าประมูลมาชำระภายในวันที่ 8 ส.ค.62 แต่ถ้ายังไม่มีเงินชำระ ขอให้ชำระเฉพาะค่าดอกเบี้ยตามร้อยละ 7.5 ตามอัตราธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดก่อน

ส่วนสถานีโทรทัศน์ที่จ่ายเงินประมูลงวดที่ 5 ล่วงหน้ามาแล้ว 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 7, เวิร์คพอยท์และสปริงนิวส์ รวม 986 ล้านบาท กสทช.จะแจ้งให้ทั้ง 3 ช่องมารับคืนในภายหลัง

นอกจากค่าเงินประมูลแล้วยังมี "ค่าโครงข่ายสัญญาณ" (มักซ์) ทีวีดิจิทัล ที่ กสทช.จะรับผิดชอบแทนจ่ายแทนผู้ประกอบการทั้ง 22 ช่อง ทั้งร้อยเปอร์เซนต์ นับจากนี้ไปอีก 9 ปี 6 เดือน รวมประมาณ 18,775 ล้านบาท จนกว่าจะสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการทั้ง 22 ช่อง ได้จ่ายมาตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ยืดเวลา 10 ปี จ่ายค่าประมูล 4G 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านโทรคมนาคม นายฐากร กล่าวว่า จะขยายระยะเวลาชำระเงินประมูลจากเดิมกำหนดไว้ 4 งวด แบ่งออกเป็น 10 งวด ในระยะเวลา 10 ปี สำหรับผู้ที่ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซที่ผ่านมา สำหรับบริการ 4G มีวงเงินประมูลรวมกว่า 1.9 แสนล้านบาท โดยผู้ชนะประมูล ทั้งบริษัทเอไอเอส และทรูมูฟ จะต้องแจ้งสิทธิ์ขอแบ่งจ่ายภายในวันที่ 10 พ.ค.62 เช่นกัน และอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ทั้ง 2 บริษัท จะต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ สำหรับบริการ 5G ที่คาดว่าจะประมูลในช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค.นี้ หากไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ จะไม่ได้รับสิทธิ์การขยายเวลาชำระค่าประมูล

สำนักงาน กสทช. ได้ตั้งคณะทำงานด้านโทรคมนาคม 4 ชุด เพื่อทำหน้าที่จัดทำหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ เกี่ยวกับการประมูลและการจัดทำหลักประกันใหม่ รวมถึงคณะกรรมการด้านโทรทัศน์อีก 3 ชุด เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขและการชดเชย กรณีคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล การคืนหลักประกันและการสำรวจกำหนดการวัดเรตติ้งใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง