"ประวิตร" กำชับเฝ้าระวังอากาศร้อนจัดกระทบฝึกทหาร-ตำรวจ

สังคม
22 เม.ย. 62
13:36
529
Logo Thai PBS
"ประวิตร" กำชับเฝ้าระวังอากาศร้อนจัดกระทบฝึกทหาร-ตำรวจ
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กำชับดูแลเฝ้าระวังการฝึกของทหารและตำรวจ รวมทั้งสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัดอย่างใกล้ชิด ขณะที่คนงานตัดหญ้าของกรมทางหลวงชนบทใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สวมใส่ชุดป้องกันแสงแดดระหว่างทำงานกลางแจ้ง

วันนี้ (22 เม.ย.2562) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับทุกเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญในการกำกับดูแล และกวดขันการฝึกทุกระดับของทหารและตำรวจในสภาพอากาศที่ร้อนจัดและอุณหภูมิที่สูงขึ้นในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดปัญหาจากโรคลมร้อน

โดยย้ำขอให้ทั้งหน่วยฝึกและหน่วยรับการฝึกให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ในการการป้องกัน การเฝ้าระวังและการปฐมพยาบาลการบาดเจ็บจากความร้อนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการฝึกทหารใหม่ที่จะมีขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจร่วมกันทั้งผู้ฝึกและผู้รับการฝึกในการปรับตัวให้ครอบคลุมทั้งปัจจัยสภาพแวดล้อม การออกกำลังกาย และปัจจัยส่วนบุคคลในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ไม่มีเหตุของการบาดเจ็บและเหตุเสียชีวิต

พร้อมกันนี้ ขอให้สถานพยาบาลของกองทัพทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมสนับสนุนการปฐมพยาบาลและรักษาพยาบาลกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมร้อนในชุมชนโดยรอบ พร้อมทั้งจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้คำแนะนำและบริการประชาชนเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน จากปัญหาสภาพอากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น

 

คนงานตัดหญ้าใส่ชุดป้องกันแสงแดดขณะทำงานกลางแจ้ง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธเนศ วันสวน และนายราชัน ใหม่เฟย ชาวบ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมกับเพื่อนคนงานตัดหญ้าของกรมทางหลวงชนบท ตระเวนตัดหญ้าริมถนนท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุเป็นประจำทุกวัน แลกกับค่าจ้างวันละ 300-400 บาท โดยระบุว่า ขณะทำงานต้องสวมหมวก หน้ากากอนามัย และเสื้อผ้าแขนยาว เพื่อป้องกันแสงแดด หากร้อนมากจะหยุดพักตามต้นไม้ข้างทาง

ทั้งนี้ ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายอุณหภูมิของประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน จะสูงกว่าค่าปกติ อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35-36 องศาเซลเซียส จากค่าปกติ 34.7 องศาเซลเซียส ผู้ที่ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน จึงมีความเสี่ยง โรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะร่างกายร้อนจัด ระบบภายในล้มเหลว มีอาการตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวแห้ง อ่อนเพลีย มึนศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาจรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แพทย์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดนานๆ ดื่มน้ำให้มากขึ้น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสวมเสื้อผ้าที่สีอ่อนและระบายความร้อนได้ดี

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าสาเหตุที่ปีนี้ ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน โดยอุณหภูมิสูงสุด วัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงสุดอันดับที่ 4 ของประเทศ ส่วนอุณหภูมิสุดสุดของประเทศวัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง

 

แพทย์เตือนอากาศร้อนอันตราย ระวังป่วยโรคลมแดด

 

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคลมแดด เป็นความผิดปกติของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ กระสับกระส่าย ซึม สับสน ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดดได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงประชาชนทั่วและผู้ป่วยระยะพักฟื้น สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือในสภาพที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เพิ่มความเสี่ยงของการขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นลมแดด

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก ร่ม เสื้อผ้าบางคลุมร่างกายที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้ การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งระหว่างรอทำกิจกรรมบางอย่าง นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาท จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง