จับมือ ปิดตา แชร์ปัญหาในใจ

ไลฟ์สไตล์
24 เม.ย. 62
08:17
1,354
Logo Thai PBS
จับมือ ปิดตา แชร์ปัญหาในใจ
คนที่ยิ่งใกล้กันมาก รักกันมาก อย่างคนในครอบครัว ทำไมถึงมีปัญหากันมากที่สุด หรือเพราะทุกวันผู้คนเริ่มหลงลืมรับฟังซึ่งกันและกัน “ฟังสร้างสุข" ชวนเรียนรู้วิธีการรับฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อกระชับความหมายของความสัมพันธ์
คนที่ยิ่งใกล้กันมาก รักกันมาก อย่างคนในครอบครัว ทำไมถึงมีปัญหากันมากที่สุด มันทำให้เราเริ่มตั้งคำถาม หรือเพราะว่าเราตัดสินไปแล้วว่าเราเข้าใจเขาแล้ว และเขาเข้าใจเราแล้ว จนทำให้เราลืมรับฟังซึ่งกันและกัน

ในวันที่กรุงเทพมหานครอากาศร้อนจัด แต่ที่หอประชุม วัดบ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลับร่มเย็นจนน่าสนใจ เมื่อเข้าไปแล้วพบผู้คนหลากอายุ หลายอารมณ์มารวมตัวกันถึง 70 คน เพื่อที่จะมาเรียนรู้ "วิธีการฟังคนอื่นอย่างลึกซึ้ง" ในกิจกรรม “ฟังสร้างสุข ครั้งที่ 7” โดยธนาคารจิตอาสาและ สสส. ร่วมกันจัดขึ้น

เริ่มต้นรับฟัง ด้วยการกล้าเล่าให้คนแปลกหน้าฟัง

ตั้งแต่เล็กจนโตคงไม่มีใครคิดว่าการฟังเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพราะเราต่างก็ได้ยินเสียงรอบข้างอยู่เสมอ แม้แต่เวลาที่เราไม่ต้องการจะได้ยิน แต่การได้ยินนั้น คือการฟังที่แท้จริงรึเปล่า แล้วทำไมใครหลายคนถึงเลือกที่จะมาเข้าร่วมเรียนรู้วิธีการฟังคนอื่น ?

กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นหลังจาก  น.ส.ธนัญธร  เปรมใจชื่น วิทยากรกระบวนการ ผู้ออกแบบกิจกรรมในครั้งนี้ ให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มกัน 3 คน แล้วนั่งชนเข่าคุยกัน แต่เป็นรูปแบบที่แตกต่างจากการคุยกันครั้งไหนๆ 

ให้ทุกคนจับมือคนข้างๆ แล้วหลับตา คิดถึงเรื่องที่แย่และหนักหนาที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ลองมองย้อนกลับไปดูตัวเรา ว่าตอนนั้นเราเป็นอย่างไร มีสีหน้าอย่างไร แล้วเราผ่านมาได้อย่างไร ก่อนจะหายใจเข้า-ออกลึกๆ แล้วลืมตา

จากนั้นวิทยากร ได้ให้ผู้เข้าร่วมที่มีอายุน้อยที่สุดในแต่ละกลุ่มเริ่มเล่าเรื่องราวที่ตัวเองนึกถึงในช่วงเวลาที่หลับตาลง โดยที่อีก 2 คน ไม่พูดแทรกหรือสอบถามอะไร แต่ฟังอย่างตั้งใจและสบตาอย่างจริงจัง


มีคนไม่น้อยที่เริ่มร้องไห้ออกมาตั้งแต่คำแรกที่เล่า บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียน บ้างก็เล่าเรื่องปัญหาการทำงาน รวมไปถึงปัญหาครอบครัว จนเรียกได้ว่าหมดเปลือก พลอยแพร  เลี้ยงมงคล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อธิบายความรู้สึกขณะร่วมกิจกรรมว่า การพูดคุยในวันนี้เป็นเหมือนการได้ปลดปล่อยอะไรบางอย่างข้างในตัวเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกับครอบครัวไม่ได้ แต่กลับพูดกับคนแปลกหน้าได้อย่างสบายใจ และคิดว่าหลังจากได้ลองตั้งใจฟังก็ทำให้รู้สึกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

ทำไมพระเจ้าสร้าง 2 หู 1 ปากให้มนุษย์กันนะ ?

หลังจากทั้ง 3 คนในกลุ่มเล่าเรื่องราวต่างๆ แล้ว วิทยากรก็ได้ให้สลับเก้าอี้กันนั่ง ก่อนจะให้เริ่มเล่าเรื่องราวใหม่อีกครั้งแต่ให้เล่าเรื่องของเจ้าของเก้าอี้คนก่อนแทน

เมื่อกี้เราอนุญาตให้ตัวเองได้เล่าเรื่องราวที่อยู่ข้างในของเราแล้ว รอบนี้เราต้องอนุญาตให้ตัวเองได้รับฟังเรื่องราวของเราเองผ่านน้ำเสียง สีหน้า ท่าทางของคนอื่น เพื่อให้เราได้ทบทวนเรื่องราวของเราและเข้าใจตัวเรามากขึ้น

แม้บางคนเล่าเรื่องราวของคนอื่นได้สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เล่าเรื่องของคนที่รับฟังได้อย่างลึกซึ้ง มานิสา วันดี พนักงานบริษิทเอกชน หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากมีความสนใจเกี่ยวกับศาสตร์ด้านการฟิ้นฟูจิตใจมนุษย์ ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนที่ฟังคนอื่นแบบคิดไปก่อน หรือก็คือการตัดสินคนที่พูดไปก่อน ทั้งที่ยังฟังไม่จบ แต่ก็เกิดคำถามว่าทำไมพระเจ้าสร้างหูมาให้มนุษย์ 2 ข้าง แต่สร้างปากมาเพียง 1 ปากเท่านั้น จนฉุกคิดได้ว่า หรือจริงๆ แล้วการรับฟังสำคัญกว่าการพูด

เราเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า หากมีชายแก่คนหนึ่งเดินเข้ามาแล้วมีผู้ชายคนหนึ่งเข้าไปช่วย คน 2 คน ที่อยู่ด้วยกันตรงนั้นจะคิดได้ 2 แบบ แบบแรก คือ ทำไมเป็นคนดีจัง เพราะคนนั้นรู้สึกชอบ ขณะที่แบบที่ 2 คือ สร้างภาพ เพราะคนนั้นรู้สึกเกลียด แต่ทั้ง 2 แบบนั้นต่างก็เป็นการตัดสินทั้งคู่ โดยที่ยังไม่ได้ฟังอะไร

การมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ 3 ชั่วโมงอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้ตัวเราเองเริ่มที่จะรับฟังคนอื่น เพื่อให้เข้าใจและเลือกคิดตาม มากกว่าคิดก่อน เพื่อให้แบ่งเบาปัญหาที่อยู่ภายในคนอื่นได้บ้าง

คนที่พูดเสียงดังมาก อาจเพราะไม่มีใครสักคนรับฟังเขา?

น.ส.ธนัญธร เปรมใจชื่น วิทยากรกระบวนการ ระบุว่า คนที่พูดเสียงดัง ตะโกน หรือตะคอกส่วนใหญ่เป็นเพราะเขาไม่ได้ยินเสียงตัวเอง ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้มาจากการถูกเพิกเฉย จึงพูดแรงมากขึ้น เนื่องจากไม่มีใครรับฟัง ดังนั้น การฟังจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของทุกคน 

คุณได้ยินคนอื่นพูดไหม ลองถามกับตัวเองตอนนี้ หากคิดว่าได้ยิน ก็ลองถามว่าคุณได้ฟังเขาอยู่รึเปล่า โซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนถอยกลับมาโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะไม่กล้าเผชิญหน้าพูดคุยและรับฟังกัน จนกลายเป็นเราไม่ได้ยินหรือฟังคนอื่นพูด แต่ยังต้องการความรักเท่าเดิม


สำหรับการรับฟังคนอื่นนั้น แม้จะดูเหมือนง่าย แต่การจะเรียนรู้และทำได้จริงนั้นต้องใช้เวลาฝึกฝน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเริ่มจากการอนุญาตตัวเองให้เป็นผู้ฟังที่ดีก่อน เมื่อเราพร้อมที่จะรับฟังแล้วเราอาจจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น จนอาจจะหันกลับมาเข้าใจตัวเองและผ่านพ้นเรื่องราวยากๆ ไปได้

ทำไมทะเลาะกับคนในบ้านมากกว่าคนอื่น ?

นายโชติศักย์  กิจพรยงพันธ์ ผู้จัดการงานส่งเสริมความสุขจากความสัมพันธ์ ธนาคารจิตอาสา เล่าให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า ทุกวันนี้สังคมกำลังเผชิญอยู่กับการตัดสิน ยิ่งมีพื้นที่มากเท่าไหร่ ก็เริ่มได้ยินเสียงคนอื่นน้อยลงเท่านั้น โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทำให้ผู้คนตัดสินผู้อื่นด้วยความรวดเร็วและฟังเสียงคนอื่นน้อยลงไปทุกที

โดยเฉพาะสำหรับคนใกล้ตัวที่รักกันมาก อย่างคนในครอบครัว ทำไมถึงมีปัญหากันมากที่สุด จนทำให้เริ่มตั้งคำถามว่าอาจเป็นเพราะเราตัดสินไปแล้วว่าเราเข้าใจเขาแล้ว และเขาเข้าใจเราแล้ว จนทำให้เราลืมรับฟังซึ่งกันและกัน

การฟังอย่างไม่ตัดสิน จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของกิจกรรมฟังสร้างสุขเพราะเราคิดว่า หากเราตั้งใจฟัง แล้วคิดตาม ไม่คิดไปก่อน มันจะทำให้ปัญหาในสังคมลดน้อยลงไปมาก เพราะทุกวันนี้ทุกคนอยากพูดกันหมด แต่ไม่มีใครอยากฟัง ความขัดแย้งมันถึงเกิดขึ้น

ธนาคารจิตอาสาเริ่มจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้และรับฟังคนอื่นมาตั้งแต่ ปี 2555 ในชื่อกิจกรรม เพื่อนอาสารับฟัง และมีการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปรับชื่อกิจกรรมเป็น ฟังสร้างสุข ซึ่งรวมทั้งหมดจัดกิจกรรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 80 ครั้ง

เราหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยในการจุดประกายความคิดและเปิดโอกาสให้ทุกคนอนุญาตให้ตัวเองได้เป็นผู้ฟังที่ดี และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนที่คุณรักและคนที่รักคุณ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง