“บาราโหม” พหุวัฒนธรรมชายแดนใต้

ภูมิภาค
3 พ.ค. 62
16:15
6,459
Logo Thai PBS
“บาราโหม” พหุวัฒนธรรมชายแดนใต้
"บาราโหม" จ.ปัตตานี ชุมชนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่สืบสานวิถีสังคมพหุวัฒนธรรม ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน

บาราโหม ชุมชนท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ แยกออกจาก ต.ตันหยงลูโละ เมื่อ 80-90 ปีที่แล้ว ถิ่นฐานเดิมเป็นหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีเดิม เกี่ยวโยงเมืองลังกาสุกะ ประชาชนเดิมนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เป็นเมืองพุทธมลายูแห่งราชอาณาจักรลังกาสุกะ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนครรัฐพุทธ เป็นรัฐอิสลาม มีพญาอินทิรา เป็นผู้ก่อตั้งรัฐปาตานีดารุสลาม (นครแห่งสันติ)

สุสานราชินี 3 พี่น้อง

สุสานราชินี 3 พี่น้อง

สุสานราชินี 3 พี่น้อง

 

นายธอยาลี นิมะนิง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี เล่าว่า ที่นี่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเรียนรู้และเข้าใจกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน

ยกตัวอย่างบางกิจกรรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้และร่วมกิจกรรมที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา เช่น งานแต่งงานของชาวบ้านดีซึ่งเป็นชาวไทยพุทธในพื้นที่ วันแรกของการจัดงานจะเลี้ยงชาวไทยมุสลิมด้วยการสั่งอาหารที่ถูกต้องตามหลักบัญญัติอิสลาม ถือเป็นการให้เกียรติกัน ส่วนวันที่ 2 จัดพิธีแบบชาวไทยพุทธทั้งอาหารและเครื่องดื่ม

เราภูมิใจที่เกิดในบาราโหม มี 2 วิถี ไม่เคยกีดกัดอะไรเลยและจะปกป้องรักษากัน ที่บอกว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นความขัดแย้งเรื่องศาสนานั้นไม่จริง และเป็นห่วงเรื่องการสร้างกระแสเหล่านี้

 

ดึงเยาวชนเรียนรู้วิถีบาราโหม

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บาราโหม บอกว่า พยายามดึงเยาวชนมาเรียนรู้วิถีของชุมชนผ่านการจัดเวทีพหุยุวชน อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เนื่องจากเยาวชนบางส่วนไปศึกษาต่อนอกพื้นที่ และอาจเกิดข้อสงสัยในประเด็นทางศาสนาและอื่น ๆ โดยมีผู้นำทางศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เป็นผู้ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ เช่น การร่วมงานแต่งงาน หรือเมื่อทราบว่าชาวไทยพุทธในพื้นที่เสียชีวิต อาจไปเยี่ยมญาติที่บ้านและมอบเงินช่วยเหลือหลังเสร็จสิ้นพิธีฌาปนกิจแล้วอย่างน้อย 2 วัน เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักศาสนา


ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ เช่น วันสงกรานต์ที่มีเวทีร้องเพลง ชาวไทยมุสลิมสามารถไปร่วมงานได้ แต่วันพิธีรดน้ำดำหัวจะไปสังเกตการณ์อย่างเดียว ไม่ได้ร่วมพิธี ซึ่งผมนำเยาวชนมุสลิมไปด้วย อธิบายให้เขาเข้าใจว่า คือวิธีการให้เกียรติผู้ใหญ่

ขณะที่ชาวไทยพุทธในพื้นที่เข้าใจหลักศาสนาและวิถีชาวมุสลิมเป็นอย่างดี ล่าสุดเจ้าอาวาสวัดนาดี เชิญนายธอยาลีเข้าไปพูดคุยและขอให้เป็นสื่อกลางนำอินทผาลัมไปมอบให้กับมัสยิดในบาราโหม 5 แห่ง ช่วงการถือศีลอดเดือนรอมฎอน

น้อง ๆ เยาวชนดีใจเมื่อรู้ว่าสามารถไปร่วมงานแต่งงานได้ ในพื้นที่เราให้เกียรติกันและพยายามดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด

 

เวทีสันติสุขตำบล

เวทีสันติสุขตำบล

เวทีสันติสุขตำบล

 

เรียกร้องพื้นที่ปลอดเหตุ-คนปลอดภัย

นอกจากนี้ การจัดเวทีสภาสันติสุขรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ครั้งล่าสุด ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนา นำเสนอสิ่งที่ได้ปฏิบัติมาเป็นระยะเวลาหลายปี พบว่ามีผลสัมฤทธิ์ที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างความคุ้มกันให้กับชุมชนพหุวัฒนธรรม เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทุกคนช่วยกันรักษาดูแลด้วยจิตวิญญาณที่มีต่อกัน ไม่ได้แบ่งแยกศาสนา รวมทั้งจัดกิจกรรมสร้างความสามัคคี ปั่นจักรยานชมชุมชนประวัติศาสตร์

ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องสันติสุข ให้พื้นที่ปลอดเหตุ คนปลอดภัย เพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น, การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สะอาดและถูกหลักอนามัย ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งความพอเพียงตามปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9

สำหรับผลิตภัณฑ์เด่นของชาวบาราโหม ได้แก่ เสื้อ บาราโหมบาติก ข้าวพองได้รับ 5 ดาว อย. อาหารพื้นเมือง อาหารคาวหวานสูตรต้นตำรับ ขนมโบราณขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ยาสมุนไพรอย่างต้นน้ำข้าว ที่มีสรรพคุณขับร้อน ลดไข้ รวมทั้งกิจกรรมล่องเรือชมวิถีบริบทของคนพื้นที่ ชมป่าชายเลน อารยะธรรมร่องรอยเก่าริมคลองบาราโหม และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ได้แก่ สุสานพญาอินทิรา สุสานราชินี 3 พี่น้อง

 

 

ตั้งเป้าเวทีสันติสุข ยุติรุนแรง

ขณะที่ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กล่าวว่า กอ.รมน. จะนำข้อมูลและข้อเสนอของชาวบ้านในเวทีสันติสุขตำบล มาปรับให้สอดคล้องกับนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์บริบทของพื้นที่ ยกตัวอย่างชุมชนบาราโหมที่ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมทั้งการจัดชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) และชุดปฎิบัติการจรยุทธ์ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเข้มแข็งให้กับประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปไล่ล่า แต่เป็นการดูแลอย่างใกล้ชิดและพัฒนาหมู่บ้าน

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการให้แก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นภัยแทรกซ้อนเชื่อมโยงกลุ่มสร้างสถานการณ์ โดยอาศัยช่วงเกิดเหตุความรุนแรงในการค้า หรือลำเลียงยาเสพติด นอกจากนี้ ภาครัฐ ภาคประชาชน ผู้นำท้องที่ และผู้นำศาสนา ได้ร่วมบูรณาการการทำงาน พร้อมจัดโครงการเวทีสภาสันติสุขตำบล 290 ตำบล รับฟังความคิดเห็นและความต้องการที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลในการกำหนดแผนงานโครงการต่าง ๆ

 

ชป.จรยุทธ์

ชป.จรยุทธ์

ชป.จรยุทธ์

 

จากนโยบายในเรื่องของการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ ตั้งเป้าใช้เวทีสภาสันติสุขเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงและให้หันหน้าเข้ามาแก้ปัญหาเชิงสันติวิธี, ต้องการให้มีการพัฒนาด้านอาชีพ เนื่องจากมีความเป็นห่วงปากท้องชาวบ้าน, ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นทุกข์ของชาวบ้านและเป็นภัยต่อความมั่นคง และต้องการให้ดูเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ ทั้งความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมและความเป็นธรรมในความรู้สึก

​เวทีรับฟังความคิดเห็นนี้ จะรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง