มติ กกต.ตัดสิทธิ 6 ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ

การเมือง
1 พ.ค. 62
18:00
2,387
Logo Thai PBS
มติ กกต.ตัดสิทธิ 6 ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ
มติ กกต.ตัดสิทธิ 6 ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคประชาชาติ เหตุเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรค และห้ามนำคะแนนที่ได้รับมาคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

วันนี้ (1 พ.ค. 62) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า กกต.มีมติให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ของพรรคประชาชาติ จำนวน 6 คน สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัคร เพราะเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันมากกว่าหนึ่งพรรคการเมือง

เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 ประกอบมาตรา 29(5) เป็นเหตุให้ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพทุกพรรคการเมืองที่ซ้ำซ้อน ตามมาตรา 27(2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ส่งผลให้เป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 41(3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ดังนั้น กกต.จึงมีมติเห็นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้ง 6 คน เป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนที่ผู้สมัครนั่นได้รับไปใช้ในการคำนวณตามมาตรา 128 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

สำหรับผู้สมัครทั้ง 6 คน ของพรรคประชาชาติ ประกอบด้วย

1.นางทัศนีย์ ชลายนเดชะ ผู้สมัครหมายเลข 11 เขตเลือกตั้งที่ 15 กรุงเทพมหานคร

2.นายวิโรจน์ วัฒนกลาง ผู้สมัครหมายเลข 5 เขตเลือกตั้งที่ 6 จ.นครราชสีมา

3.นายอิทธิศักดิ์ ปาทาน ผู้สมัครหมายเลข1 เขตเลือกตั้งที่ 5 จ.บุรีรัมย์

4.นายเกริกชัย พลชา ผู้สมัครหมายเลข 23 เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.บึงกาฬ

5.นายประหยัด พิมพา ผู้สมัครหมายเลข 14 เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.อุดรธานี

6.นายอฤเดช แพงอะมะ ผู้สมัครหมายเลข 25 เขตเลือกตั้งที่ 3 จ.อุดรธานี

นอกจากคะแนนของผู้สมัครทั้ง 6 คน รวม 3,520 คะแนน จะไม่นำไปคำนวณเพื่อจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว คะแนนของผู้สมัครในเขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 594 คะแนน จะไม่ถูกนำไปคำนวณด้วย เนื่องจากต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 26 พ.ค.นี้

ซึ่งผลคะแนนนี้จะส่งผลต่อการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากเดิมที่คำนวณได้ว่าพรรคประชาชาติจะได้ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อที่อาจได้ 1 คน รวม 7 คน จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะรวมแล้ว 4,114 คะแนนของพรรคประชาชาติที่จะหายไปจากคะแนนรวมทั่วประเทศของพรรค คือ 485,436-4,114 = 481,322

ทั้งนี้ต้องจับตาปัจจัยที่จะทำให้ผลคะแนนเปลี่ยน ส่งผลต่อการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ

1.เลือกตั้งซ่อมเขต 8 จ.เชียงใหม่ : ไม่นำคะแนนทุกพรรคในเขตมาคำนวณ

2.ผลคะแนนนับใหม่ เขต 1 นครปฐม : แต่ละพรรคมีคะแนนเปลี่ยนเล็กน้อย

3.เลือกตั้งใหม่ เขต 2 หน่วยที่ 9 จ.ชุมพร 28 เม.ย. : คะแนนเปลี่ยนเล็กน้อย

4. เลือกตั้งใหม่ 6 หน่วย 21 เม.ย. : คะแนนเปลี่ยนเล็กน้อย

5. มติ กกต.ไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.ประชาชาติ 6 คนรับสมัคร ส.ส. : คะแนนหาย 3,520

6.มติ กกต.หลังจากนี้ ไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นสมาชิกซ้ำซ้อนเป็นผู้สมัคร ส.ส.

ส่วนกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าอาจจะฟ้อง กกต. ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นายแสวง กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่สามารถจะฟ้อง

อ่านเพิ่ม : "ธนาธร" ฮึ่ม ใช้ ม.157 เอาผิด กกต. ระบุ ความอดทนมีจำกัด

สำหรับกระบวนการตามกฎหมายในการพิจารณาไต่สวนคดีคำร้องมี 3 หลัก คือ มีเหตุความปรากฎ มีผู้ร้องเรียน และกฎหมายยังสร้างสมดุลย์ โดยให้ปัจเจกบุคคลสามารถชี้แจงได้ คณะกรรมการจะพิจารณาแสวงหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงจนปราศจากข้อสงสัย และสรุปความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ก่อนจะย้ำว่าการกระทำผิดอยู่ที่ข้อกล่าวหาจะเข้าข่ายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ และไม่ชี้ชัดว่าจะพิจารณาสำนวนคดีของนายธนาธรเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 9 พ.ค.นี้หรือไม่ อยู่ที่คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการ

และยังถามกลับว่า มีพยานหลักฐานอะไรหรือข้อเท็จจริงอะไรที่มายืนยันในการกล่าวหา กกต. ว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองในการพิจารณา หรือมีการแทรกแซงทางการเมืองในกระบวนการไต่สวน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง