เลือกตั้ง 2562 : ก่อน 7 พ.ค. กกต.ทำอะไรบ้าง หลังปิดหีบเลือกตั้ง

การเมือง
7 พ.ค. 62
09:36
911
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2562 : ก่อน 7 พ.ค. กกต.ทำอะไรบ้าง หลังปิดหีบเลือกตั้ง
กกต.ถูกตั้งคำถามกับการทำงานอย่างมาก หลังปิดหีบเลือกตั้ง 24 มี.ค.และต้องเจออุปสรรคกว่าจะสามารถประกาศรับรองผล ส.ส.อย่างเป็นทางการ ทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7-8 พ.ค.นี้

หลังการปิดหีบ 17.00 น. วันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้หีบเลือกตั้งจะถูกปิดไปแล้ว แต่ความคาดหวังและคำถามต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูก “เปิด” ประเด็นต่อเนื่อง ตั้งแต่การกาบัตร นับคะแนน และการตรวจสอบคุณสมบัติของส.ส. ก่อนจะมีการประกาศรับรอง ส.ส.เขต วันที่ 7 พ.ค. และส.ส.บัญชีรายชื่อ วันที 8 พ.ค. ซึ่ง กกต. เลือกขยับเข้ามาก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 พ.ค. นี้

1. กกต.โป๊ะแตก

ทันทีที่การเลือกตั้งเริ่มขึ้น เวลา 8.00 น. วันที่ 24 มี.ค. คำตามต่อความโปร่งใสในการเลือกตั้งถูกส่งต่อสังคมโซเชียลมีเดียต่อเนื่อง ทั้งการโพสต์ข้อมูล รูปภาพ และคลิปวิดิโอ ที่มีผลต่อความน่าเชื่อของกระบวนการเลือกตั้ง รวมถึงข้อกังขาในกระบวนการเลือกตั้ง และ กกต.

กระแสดังกล่าวถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 25 มี.ค. ไม่ถึง 1 วันนับจากการเลือกตั้ง #กกตโป๊ะแตก ติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ จน กกต. ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวและเผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในวันถัดมา รวม 7 ประเด็น ซึ่งประเด็นที่ร้อนแรงที่สุด คือกรณีที่ยอดผู้มาใช้สิทธิ ไม่สอดคล้องกับยอดบัตรที่ใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งภายหลัง กกต. ชี้แจงว่าเกิดจาก “บัตรเขย่ง”

 

อีกหนึ่งวาทกรรมที่ถูกวิจารณ์มากสุด คือคำพูดของ นายอธิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ที่แถลงข่าวปิดการนับคะแนนเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. หลัง กกต. เผยแพร่การนับคะแนนไปแล้วกว่า 90% โดยระบุว่า สาเหตุที่ต้องหยุดนับคะแนน เพราะ “ผมไม่มีเครื่องคิดเลข” แม้เป็นถ้อยคำที่หยอกล้อกับสื่อมวลชน แต่กลายเป็นผลกระทบเชิงลบต่อการทำงานของ กกต.อย่างมาก

กกต. ทำอะไรมาบ้าง ?

24 มี.ค. กกต. หยุดนับคะแนน เมื่อนับคะแนนไปแล้ว 94%
            ประธาน กกต. ระบุหยุดนับคะแนน เพราะ “ผมไม่มีเครื่องคิดเลข”
            การนับคะแนน ยอดผู้ใช้สิทธิ 305,568 คิดเป็น 65.96%

25 มี.ค. แคมเปญรณรงค์ลงชื่อถอดถอน กกต. www.change.org เกือบ 5 แสนรายชื่อ
            #กกตโป๊ะแตก ขึ้นแฮซแท็กทวิตเตอร์เป็นอันดับ 1
            ปชช. ตั้งคำถามต่อการเลือกตั้ง เช่น 1.ยอดบัตรมากกว่าผู้ใช้สิทธิ

26 มี.ค. กกต.เผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อสงสัยในโซเชียลมีเดีย 7 ประเด็น
            เช่น กรณีทหาร ชะโงกดูเพื่อนทหารลงคะแนนในหน่วยที่ 34 ฯลฯ
            กกต.มีมติให้บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ เป็น “บัตรที่นำไปนับคะแนนไม่ได้”
            เพราะมีเหตุขัดข้องในการขนส่ง บัตรถูกส่งถึงไทยแล้วแต่ไม่มีคนไปรับ

28 มี.ค. กกต. เปิดผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 100%
            ยอดผู้มาใช้สิทธิ 38,268,375 ล้านคน คิดเป็น 74.69 % (เพิ่มขึ้นจากยอดในวันเลือกตั้ง)
            และเผยยอดบัตรที่ใช้ 38,268,366 ใบ
            กกต. แจงผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรที่ใช้ 9 ใบ เพราะเกิดจาก"บัตรเขย่ง"

29 มี.ค. สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาฯ แถลงการณ์ให้มหาวิทยาลัย
           หยุดปิดกั้นนักศึกษาล่ารายชื่อถอดถอน กกต.
           นักศึกษาทั่วประเทศ เช่น จุฬาฯ ,มช. ,มข. ฯลฯ ล่ารายชื่อถอดถอน กกต.
           มีผู้ลงชื่อถอดถอน กกต. ผ่าน www.change.org จำนวน 809,146 คน

30 มี.ค. กกต. แจงคลิปขานบัตรเสียเป็นบัตรดี ระบุเป็นคลิปบางส่วนเท่านั้น
           เหตุการณ์จริงเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยได้ตักเตือนและแก้ไขแล้ว 

1 เม.ย. เลขาธิการ กกต. ระบุ กกต.จะเคาะสูตรที่ใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสัปดาห์นี้
           พรรคการเมืองเรียกร้อง กกต.แจงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อชัดเจน

3 เม.ย. นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กรธ. หารือร่วมกับ กกต.
           ยืนยันสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีสูตรเดียว และมีการสาธิตการคำนวณไว้แล้ว

4เม.ย. กกต. สั่งเลือกตั้งใหม่-นับคะแนนใหม่ ล็อต 1
          เลือกตั้งใหม่ 6 หน่วย วันที่ 24 เม.ย. เช่น ลำปาง เขต4 จำนวน 3 หน่วย 
          ,ยโสธร เขต2 จำนวน 1 หน่วย ,เพชรบูรณ์ เขต1 จำนวน 1 หน่วย ฯลฯ
          นับคะแนนใหม่ จ.ขอนแก่น 2 หน่วย

11 เม.ย. ประธาน กกต. ยอมรับถึงทางตัน ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

18 เม.ย. กกต. สั่งเลือกตั้งใหม่-นับคะแนนใหม่ ล็อต 2
เลือกตั้งใหม่ 1 หน่วย จ.ชุมพร และนับคะแนนใหม่ 236 หน่วย เขต 1 จ.นครปฐม

24 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
             การนับคะแนนใหม่ที่ จ.นครปฐม อนาคตใหม่พลิกชนะประชาธิปัตย์
             แต่เมื่อนับใหม่อีกครั้งพรรคประชาธิปัตย์พลิกชนะ 4 คะแนน

25 เม.ย. กกต. แจงความคืบหน้าตรวจสอบโต๊ะจีน พรรคพลังประชารัฐ ชี้ยังได้ข้อมูลยังไม่ครบ
             และระบุว่า ตราบใดที่เงินยังไม่เข้าบัญชีพรรค จะไม่ถือว่ามีความผิด

2. “ไม่รู้” สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ภายหลังการนับคะแนน กกต. ถูกทวงถามถึงจำนวน ส.ส. ที่ชัดเจน ทั้ง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้การคำนวณ ส.ส. ไม่คงที่ ทั้งนี้เมื่อสื่อมวลชน พรรคการเมือง และนักวิชาการ คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หลายกรณีมีตัวเลขไม่ตรงกัน เนื่องจากการตีความการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ไม่ตรงกัน แรงกดดันจึงพุ่งไปที่ กกต. ในการเปิดเผยสูตรการเลือกตั้งที่ชัดเจน และการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่ชัดเจน

ทั้ง กกต. เลือกที่จะประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อนับคะแนนครบ 100% (วันที่ 26 มี.ค.) โดยประกาศเฉพาะ ส.ส.เขต และคะแนนรวมที่แต่ละพรรคได้รับ แต่การแถลงผลการนับคะแนนกลับถูกตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม เมื่อยอดผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดของบัตรเลือกตั้ง และจำนวนผู้มาใช้สิทธิยังเพิ่มขึ้นเกือบ 10% หลักการแถลงข่าวครั้งแรกของ ประธาน กกต. (วันที่ 24 มี.ค.) ช่วงหยุดการนับคะแนน 90%

ต่อมาแม้ กกต. จะมีการชี้แจงประเด็นที่ยอดผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกับยอดบัตรเลือกตั้ง โดยเรียกว่า “บัตรเขย่ง” และอ้างว่ามีสาเหตุจากผู้มาใช้สิทธิบางคน มาแสดงตนและลงชื่อใช้สิทธิ เมื่อรับบัตรไปแล้วกลับไม่กาบัตรเพราะคิวยาวและเลือกเดินทางกลับ แต่ประเด็นนี้ก็ถูกวิจารณ์ในวงกว้างและกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ใช้โจมตี กกต.ในเวลานั้น

 

ส่วนประเด็นที่ยอดผู้มาใช้สิทธิเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะส่วนหนึ่งการประกาศผลนับคะแนน วันที่ 24 มี.ค. นับคะแนนไปกว่า 90% ยังไม่ถึง 100% และแอพพลิเคชันของ กกต. แสดงเฉพาะยอดผู้มาใช้สิทธิที่คำนวณจาก “บัตรดี” ที่ถูกนับคะแนนเท่านั้น จึงทำให้ยอดไม่สอดคล้องกับความจริง

เรื่องจำนวน ส.ส. ยังไม่จบง่ายๆ เมื่อความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะพรรคการเมืองย่อมต้องการทราบจำนวน ส.ส.ที่ชัดเจน ขณะที่ประชาชนต้องการความชัดเจนถึงผลการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. ให้เหตุผลว่าไม่สามารถยืนยัน “สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ที่ชัดเจนได้ เพราะยังไม่เคยนำมาใช้คำนวณ ส.ส. โดยพล.ต.ท. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขา กกต. ยืนยันว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ (วันที่ 1 เม.ย.)

เรื่องนี้ร้อนถึงอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้ร่าง “กฎเกณฑ์” เข้าหารือกับ กกต. ซึ่งอดีต กรธ. ยืนยันว่าสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีเพียงสูตรเดียวตั้งแต่ต้น และได้สาธิตการคำนวณในแต่ละกรณีไว้แล้ว

กระทั่งสุดท้าย กกต. ไม่มีความชัดเจนเรื่องดังกล่าว โดยตัดสินใจยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งหากจะอธิบายอย่างง่ายเพื่อทำความเข้าใจ คือการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตร1 จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม มีเพียงพรรคการเมืองขนาดกลาง ที่ได้คะแนนรวมเกิน 7.1 หมื่นคะแนน แต่หากเลือกสูตร 2 พรรคขนาดเล็กที่มีคะแนนต่ำกว่า 7.1 คะแนน จะมีสิทธิได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มด้วย ซึ่งจะทำให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ ส.ส. เข้าสภาฯ มากกว่า 20 พรรค

ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ โดยมีเหตุผลว่ายังไม่มีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัยการขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อสงสัยในประเด็นทางกฎหมาย กกต. ต้องส่งเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน

3. ล่าชื่อถอดถอน กกต.

ความผิดหวังต่อกระบวนการการเลือกตั้ง นำไปสู่การล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ปฏิกิริสำคัญคือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาทั่วประเทศ มีการตั้งโต๊ะลงชื่อถอดถอน กกต. ในมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกระงับและขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันมีการล่ารายชื่อผ่าน www.change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลที่หยบยกมานำเสนอ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 1 เดือน ที่ผ่านมา เป็นความเคลื่อนไหวและแรงกดดันที่ประชาชนมีต่อ กกต. ขณะที่ประเด็นทางการเมือง เช่น กรณีเปรียบเทียบความรวดเร็ว-ความล่าช้า ในการตรวจสอบคดีของ กกต. เกี่ยวกับพรรคการเมืองอื่น และพรรคฝั่งรัฐบาล คสช. ยังถูกหยิบยกวิจารณ์เป็นระยะๆ แต่นับจากนี้ประเด็นที่เป็นโจทย์ใหญ่ของ กกต. คือรายชื่อ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่กำลังจะถูกเปิดออกมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง