รพ.มหาราช นครศรีฯ ชี้แจง ญาติผู้ป่วยโพสต์โวยรักษาไม่ดี

สังคม
13 พ.ค. 62
11:00
3,392
Logo Thai PBS
รพ.มหาราช นครศรีฯ ชี้แจง ญาติผู้ป่วยโพสต์โวยรักษาไม่ดี
ญาติผู้ป่วยโพสต์ลงโซเซียล ตั้งคำถามถึงการรักษาของในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ. นครศรีธรรมราช ด้านโรงพยาบาลชี้แจงรักษาผู้ป่วยตามขั้นตอน เสียใจกับเหตุการณ์เข้าใจผิดที่เกิดขึ้น

จากกรณีหญิงสาวโพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ ญาติเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยอาการเจ็บคอ ทางโรงพยาบาลตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ และพบว่า ติดเชื้อในกระแสเลือด มีการพบโรคไตวายเฉียบพลัน ต้องฟอกไต ฟอกเลือด ทางโรงพยาบาลไม่สามารถระบุโรคที่แน่นอนให้ญาติทราบได้ ทางถามถึงเรื่องชิ้้นเนื้อก็ไม่มีคำตอบ และตอบได้เพียงอย่าเร่งเร้า เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกแชร์ กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์

 

 

ล่าสุด โรงพยาบาลมหาราช จ.นครศรีธรรมราช ชี้แจงว่า บุคคลดังกล่าวในสื่อออนไลน์ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจริง ช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และรับย้ายจากนอกแผนกอายุรกรรมมายังหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต ด้วยภาวะติดเชื้อและอวัยวะในร่างกายล้มเหลวทุกระบบ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้ป่วยจึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลและประวัติการรักษาผู้ป่วยรายดังกล่าวได้ 

1.ข้อปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยที่ย้ายเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม 1 ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์ประจำหรือแพทย์เวร เมื่อมาถึงหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม 1 ญาติจะได้รับคำอธิบายและข้อปฏิบัติในระหว่างผู้ป่วยรักษาตัวในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตฯ พร้อมทั้งเซ็นต์รับทราบทุกๆ วันเวลา 14.00 น. จะมีพยาบาลคอยดูแลและอธิบายอาการของผู้ป่วยกับญาติ และหากมีข้อสงสัยในการรักษาสามารถติดต่อพยาบาลเพื่อนัดพบแพทย์ได้ตลอดเวลา

2.การดูแลรักษาผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม 1 ทั้งในและนอกเวลามีอายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตระบบทางเดินหายใจ แพทย์ประจำบ้านอายุรกรรม แพทย์พี่เลี้ยงอายุรกรรม และทีมพยาบาลผู้ป่วยวิกฤตดูแลตลอด 24 ชม.

3.การดูแลรักษาผู้ป่วยที่รับมาด้วยภาวะติดเชื้อและมีอวัยวะล้มเหลวหลายระบบจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัยและมีทีมแพทย์อายุรกรรมผู้เชี่ยวชาญสหสาขา และทีมพยาบาลวิกฤต ในระหว่างการรักษาผู้รับการรักษาจะได้รับยาระงับปวดและระงับความรู้สึกเพื่อลดความเจ็บปวดระหว่างและขณะใช้อุปกรณ์ช่วยในการรักษา ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึก หลับๆ ตื่นๆ สับสน ไม่สบายตัว ฝันร้ายเนื่องจากมีอุปกรณ์ติดตัวจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องได้รับการผูกยึดผู้ป่วยโดยทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ญาติทราบถึงเหตุผลการการสวมปลอกมือผู้ป่วยเป็นระยะ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ การใส่สายสวนหลอดเลือดแดงบริณข้อมือ การใส่สายสวนหลอดเลือดดำที่คอ การใส่สายสวนหลอดเลือดดำใหญ่ที่ขาหนีบเพื่อการบำบัดรักษาทดแทนไตตลอด 24 ชม. การให้ยากระตุ้นหัวใจความเข้มข้นและขนาดสูง

นอกจากนี้ ยังต้องเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจทางจุลชีววิทยาและเคมีวิทยา เป็นช่วงเวลาตลอดทั้ง 24 ชม. เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

4.ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงจะมีอวัยวะสำคัญล้มเหลวหลายระบบ เช่น ซึม ความรู้สึกตัวลดลง ความดันต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับวาย ไตวาย ของเสียคั่งในเลือด การแข็งตัวของเลือดผิดปกติและเลือดออกได้ง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล ปริมาณมากไม่สามารถหยุดได้โดยวิธีปกติ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการแพคจมูกด้วยวาสลีนก๊อต บริเวณที่แทงหลอดเลือดต่างๆจะมีเลือดซึมตลอด จำเป็นต้องกดห้ามเลือดเป็นเวลานาน 15 นาที ถึง 1/2 ชม ซึ่งอาจจะได้รับความเจ็บปวดบ้างเนื่องจากต้องการให้เลือดหยุดไหล และต้องทำแผลและกดทับบริเวณเลือดออกเป็นระยะ ตามเนื้อตัวผู้ป่วยจะมีเลือดออกใต้ผิวหนังจากภาวะการแข็งตัวของเลือด และเกล็ดเลือด ที่ผิดปกติได้ เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นภาวะนี้จะหายไป

5.ผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม 1 ได้รับการติดตามสัญญาณชีพแบบ 24 ชม. มีทีมพยาบาลที่ได้รับการผึกอบรบการดูแลผู้ป่วยวิกฤตดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ในกรณีผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาแบบทดแทนไตโดยใช้เครื่องไตเทียมแบบ 24 ชม. จะมีคุณพยาบาลดูแลประจำ 2 ท่าน ภายในหอผู้ป่วยมีกล้องวงจรปิดภายใน ร่วมดูแลความผิดปกติทั้งผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานตลอด 24 ชม.

6.ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นเริ่มมีการทำงานของระบบต่างๆกลับมา ผู้ป่วยจะได้รับการเอาอุปกรณ์ที่ติดอยู่ตามร่างกายออก เมื่อเอาท่อช่วยหายใจออก อันจะพอแสดงให้เห็นถึงการรักษาที่ดีขึ้นแล้ว และจะสามารถย้ายผู้ป่วยไปรับการดูแลต่อยังหอผู้ป่วยสามัญอย่างปลอดภัยต่อไปได้

7.เมื่อผู้ป่วยและญาติมีความประสงค์เพื่อรับการรักษาต่อ รพ. อื่นๆ จะได้รับคำอธิบาย ถึงแนวทางการรักษา สิทธิการรักษา รวมถึงสรุปประวัติการรักษาที่จำเป็น เพื่อการรักษาต่ออย่างเหมาะสมต่อไป

และ 8.กรณีผู้ป่วยวิกฤตที่มีการล้มเหลวหลายระบบ ยังต้องรับการรักษาบำบัดทดแทนไตแบบ 24 ชม. เมื่อญาติมีความประสงค์ขอไปรับการรักษาต่อ ยังโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ในภาคใต้ หรือโรงพยาบาลเอกชนในภาคใต้ แต่ได้รับการปฏิเสธ เนื่อง จากอุปกรณ์สถานที่ และเจ้าหน้าที่ ของ รพ. ที่กล่าวมาไม่สามารถรักษา และดูแลรักษาการบำบัดทดแทนไตแบบ 24 ชม. นอกเวลาได้และมีค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์เข้าใจผิดที่เกิดขึ้น และมีความเห็นใจต่อตัวผู้ป่วยตลอดจนครอบครัว ที่ไม่ได้รับความพึงพอใจในการรักษากรณีดังกล่าวยืนยันจะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยวิกฤตทางอายุรกรรมตามมาตรฐานอย่างดีที่สุดต่อไป

มีรายงานว่า ล่าสุดหญิงสาวคนดังกล่าวได้ลบข้อความที่มีการโพสต์ลงบนสื่อโซเซียลไปแล้ว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง