เปิดปม : ผ่าทางตันคนไร้ราก

14 พ.ค. 62
14:49
929
Logo Thai PBS
เปิดปม : ผ่าทางตันคนไร้ราก
ความหวังในการเป็นคนไทยของ "คนไร้รากเหง้า" เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อปัจจุบันกฎหมายไทยมีแนวทางการแก้ปัญหาคนไร้รากเหง้าแล้วเกือบครบทุกกลุ่ม

ข่าวเด็กทารกถูกนำไปทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆปรากฏบนหน้าสื่ออยู่เป็นประจำ หากไม่สามารถหาตัวพ่อแม่ของเด็กนอกจากพวกเขาจะต้องเป็นเด็กกำพร้าแล้ว ยังต้องประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลตามมาอีกด้วย

ตามกฎหมายไทยรวมถึงกฎหมายสากลที่ทั่วโลกใช้กันส่วนใหญ่ เด็กที่เกิดใหม่จะได้สิทธิในสัญชาติตามพ่อแม่ แต่ปัญหาของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง คือ ไม่มีใครทราบว่าพ่อแม่ของพวกเขาเป็นใคร ทำให้ไม่สามารถกำหนดสัญชาติตามพ่อแม่ได้ หลายคนจึงต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติ

ข้อมูลจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า คนไร้รากเหง้า คือ บุคคลที่ไม่สามารถสืบหาตัวบุพการีได้ด้วยเหตุผลต่างๆ จนไม่สามารถกำหนดสัญชาติตามบุพการีได้ คนไร้รากเหง้ายัง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ คนไร้รากเหง้าที่เกิดในประเทศไทย คนไร้รากเหง้าที่เกิดนอกประเทศไทย และคนไร้รากเหง้าที่ไม่รู้สถานที่เกิด

 

 

ในอดีตประเทศไทยมีแนวทางการแก้ปัญหาสัญชาติของคนไร้รากเหง้าที่เกิดในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยอ้างอิงตามพระราชบัญญัติสัญชาติมาตรา 7 ที่ระบุว่าคนที่เกิดในประเทศไทยย่อมได้รับสัญชาติไทย ยกเว้นคนที่มีบุพการีเป็นคนต่างด้าว ซึ่งหากพบเด็กที่มีพยาน-หลักฐานว่าเกิดในประเทศไทยหรือเชื่อได้ว่าน่าจะเกิดในประเทศไทย เช่น เด็กที่ถูกทิ้งไว้หลังคลอดในโรงพยาบาล หรือเด็กที่ถูกทิ้งในพื้นที่ที่ไม่ติดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเด็กคนดังกล่าวมีพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว เจ้าหน้าที่ก็อาจสันนิษฐานให้เป็นคุณกับเด็กโดยการรับรองสัญชาติไทยให้กับเด็กได้

ส่วนเด็กที่มีหลักฐานว่าบุพการีเป็นคนต่างด้าว แต่เกิดในประเทศไทย ก็มีสิทธิขอสัญชาติไทยได้เช่นกัน แต่มีหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีว่าต้องเป็นนักเรียนหรืออดีตนักเรียนจึงจะสามารถยื่นขอได้

คนไร้รากเหง้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ปัจจุบันเริ่มมีแนวทางการแก้ปัญหาสัญชาติชัดเจนมากขึ้นคือกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ไม่ทราบสถานที่เกิด หลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2562 ซึ่งมาตรา 19/2 ระบุว่าคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ หากมีหลักฐานว่าอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องครบ 10 ปี สามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยได้ อย่างไรก็ตามหากภายหลังมีหลักฐานพบว่า การได้มาซึ่งสัญชาติไทยตามมาตราดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้

 

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีแนวทางการแก้ปัญหาด้านสัญชาติให้แก่คนไร้รากเหง้าที่เกิดในประเทศไทยและไม่รู้สถานที่เกิดแล้ว แต่สำหรับคนไร้รากเหง้าที่เกิดนอกประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาโดยตรง แต่ก็สามารถใช้ช่องทางอื่นได้ เช่น การแปลงสัญชาติ ซึ่งก็ต้องมีเงื่อนไขตรงตามที่กำหนด ทำให้การแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของคนกลุ่มนี้ยังคลุมเครือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง