โรยตัวช่วย 2 ชีวิต "เต่ากระ" ติดเศษอวนกลางแท่นขุดเจาะ

สิ่งแวดล้อม
15 พ.ค. 62
10:29
1,543
Logo Thai PBS
โรยตัวช่วย 2 ชีวิต "เต่ากระ" ติดเศษอวนกลางแท่นขุดเจาะ
ชื่นชมเจ้าหน้าที่แท่นขุดเจาะบงกชเหนือ จ.สงขลา โรยตัวช่วยชีวิตเต่ากระ 2 ตัวที่ติดอวนทะเลมาติดขาแท่น ท่ามกลางคลื่นลมแรง ขณะที่สัตวแพทย์ ทช.ระบุพบปัญหาลูกเต่าต้องผจญชีวิตในแพขยะแทนแพสาหร่ายกลางทะเล โดยปีนี้เจอท้องเต่าที่ตายมีหนังยางวง

วันนี้ (15 พ.ค.2562) เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เผยแพร่คลิปความยาวกว่า 1 นาทีโดยระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ปฏิบัติการโรยตัวช่วยชีวิตเต่าติดขยะทะเล เนื่องจากมีเต่า 2 ตัวติดขยะทะเลเศษอวนลอยมาที่แท่นผลิตบงกชเหนือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จ.สงขลา เจ้าหน้าที่บนแท่น จึงตัดสินใจโรยตัวลงไปจนสามารถช่วยเธอสำเร็จ

กรณีแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ดูแล้วชื่นชมกับความใส่ใจทุ่มเทช่วยเหลือสัตว์ทะเลที่น่าสงสาร

เมื่อปัญหาขยะทะเลเป็นที่ทราบกันทั่วไป ทุกคนก็มีใจอยากเข้ามาช่วยขอบคุณทุกๆ คนที่แท่นครับ เยี่ยมไปเลย หวังว่าพวกเราคงช่วยกันลดขยะพลาสติก เก็บเศษอวนริมชายฝั่ง ในทะเล เพราะคงเห็นแล้วว่าการช่วยเหลือสัตว์ที่ติดขยะทะเลลำบากและเสี่ยงแค่ไหน

 

ภาพ:เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ภาพ:เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ภาพ:เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

 

ชื่นชมเจ้าหน้าที่แท่นเสี่ยงชีวิตช่วยเต่าทะเล

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มีการช่วยเต่าทะเลติดเศษอวนทะเลที่มาติดขาแท่นขุดเจาะของไทย เพราะการจะลงไปช่วยชีวิตเต่าทะเลที่ติดในส่วนขาแท่น ที่ไม่สามารถนำเรือเล็กลงไปช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ต้องขออนุญาตผู้จัดการลงไป และวิธีการคือต้องใช้การโรยตัวลงไปนำเต่าทั้ง 2 ตัวขึ้นมาได้อย่างปลอดภัยทั้งตัวเต่าและตัวเจ้าหน้าที่แท่นทั้ง 3 คน

แท่นบงกชเหนือ ตั้งอยู่เกือบขอบทะเลอ่าวไทยไกลจากฝั่ง 180 กิโลเมตร ติดกับทะเลจีนใต้มีคลื่นลมแรง การลงไปช่วยเหลือสัตว์ทะเล ไม่ใช่ว่าจะลงไปได้ทันทีต้องมีการเตรียมคน อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการทำงานที่เสี่ยงจากคลื่นลมแรง

 

 

ส่วนที่มาของเศษซากอวน ดร.ธรณ์ ระบุว่าที่ผ่านมากรมประมง มีการรณรงค์ให้ชาวประมงเก็บขยะเศษอวนในถัง เพื่อลดปัญหาทิ้งลงทะเล แต่เนื่องจากขยะทะเลพัดมาจากหลายพื้นที่หลายประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ไทยกำลังเร่งให้เกิดขึ้น คือการทำปฎิญญากรุงเทพว่าด้วยเรื่องขยะทะเล ซึ่งจะมีการลงนามร่วมกับประเทศในอาเซียนในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเต่าทะเลทั้ง 2 ตัวเป็นเต่ากระ ซึ่งหลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีผู้เข้ามาชื่นชมเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงปัญหาขยะทะเล

เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานว่าในปีที่ผ่านมา มีเต่าทะเลและสัตว์หายากติดอวนตายมากกว่าปีละ 300 ตัว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเต่าทะเล โลมา พะยูน 

 

สลดลูกเต่าอาศัยแพขยะดำรงชีวิตกลางทะเล 

น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กล่าวว่า จากที่ดูภาพเต่าที่ช่วยชีวิตได้เป็นเต่ากระ คาดว่าอายุ 2-4 ปี ซึ่งพบได้มากเป็นอันดับ 2 พบได้ทั่วไปในทะเลอ่าวไทยแลอันดามัน เป็นสัตว์คุ้มครอง 

ส่วนปัญหาสัตว์เกยตื้นตาย จะพบว่าร้อยละ 30 ยังมาจากปัญหาขยะทะเล เช่น ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก เศษลูกโป่ง และที่น่าสังเกต คือพบหนังยางวงปะปนในกระเพาะอาหาร ท้องของสัตว์ทะเลจำนวนมาก อีกทั้งเป็นช่วงฤดูวางไข่ของเต่าทะเล ลูกเต่าที่ออกมาจากที่เคยใช้แพสาหร่ายเป็นอาหาร แต่กลับต้องใช้ชีวิตในแพขยะ และกินเศษขยะเข้าไป และลูกเต่ามีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงอยู่แล้ว

ลูกเต่าที่ออกมา ควรมีโอกาสว่ายน้ำออกไปไกลๆ หลบนักล่า แต่กลายเป็นต้องไปอาศัยอยู่ในแพขยะ และกินขยะทำให้โอกาสรอดก็ลดลง

ส่วนการรณรงค์ในพื้นที่ มีการขอความร่วมมือชาวประมง และทำความเข้าใจวิธีช่วยเหลือเต่าหรือสัตว์ทะเลที่ติดอวน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายบังคับให้การทำประมงพาณิชย์ ใช้อุปกรณ์ที่เต่าหนีออกมาได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัตว์ทะเลหายาก วาฬ-เต่า ตายพุ่งเฉียด 300 ตัวต่อปีเหตุกินถุงพลาสติก

ชีวิตสัตว์ทะเลพิการ เหยื่อขยะพลาสติก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง