เปิดปม : กับดักรังนก

16 พ.ค. 62
15:11
3,200
Logo Thai PBS
เปิดปม : กับดักรังนก
ปัญหาการใช้ความรุนแรงในธุรกิจสัมปทานเกาะรังนก ในพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.พังงา ที่ปัจจุบันความรุนแรงบนเกาะรังนกยังไม่หายไป

ระเบิด-อภิสิทธิ์การใช้ความรุนแรง บนเกาะสัมปทานรังนก

เปิดปมลงพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ไปที่ จ.กระบี่ และ จ.พังงา หลังจาก เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้พบระเบิดบนเกาะสัมปทานรังนกใน จ.กระบี่ ขณะที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากระเบิดที่ซุกซ่อนไว้ในถ้ำรังนก จ.พังงา ธุรกิจสัมปทานรังนกมีภาพลักษณ์สีเทาและเต็มไปด้วยความรุนแรงนับตั้งแต่อดีต ความสูญเสียและการพบอาวุธหนักในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ความรุนแรงบนเกาะรังนก ยังไม่หายไป

 

 

วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดความโกลาหลบริเวณท่าเรือ ใน จ.กระบี่ เมื่อเรือหางยาวกำลังนำผู้บาดเจ็บจากระเบิดบนเกาะเหลาไป ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ใน จ.พังงา ไปส่งโรงพยาบาล ผู้บาดเจ็บเป็นชาวบ้าน อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ มีบาดแผลจากสะเก็ดระเบิดบริเวณขาขวา แขนขวาหัก และมีแผลบริเวณไหล่ซ้าย

ผู้ประสบเหตุบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เขากับเพื่อนอีก 2 คนเดินทางไปเก็บของป่าบนเกาะเหลาไป ขณะที่ เจ้าหน้าที่คาดว่าทั้ง 3 คนลักลอบเข้าไปเก็บรังนกอีแอ่นภายในเกาะ แต่ 1 ใน 3 คนพลาดเหยียบระเบิดขวดที่มีผู้วางดักไว้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

มีข้อมูลว่า เกาะเหลาไปเป็นเกาะที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.พังงา กับ จ.กระบี่ ปัจจุบัน เกาะแห่งนี้ ไม่ได้เปิดให้เอกชนเข้าเก็บรังนก แม้ว่าในอดีต เคยเปิดให้สัมปทานรังนกอีแอ่นมาก่อน

หลังจากเกิดเหตุเหยียบระเบิด ตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด หรือ EOD เข้าตรวจค้นเกาะเหลาไปเพิ่มเติม เมื่อเดินทางไปถึงเกาะเหลาไป เจ้าหน้าที่พบป้ายข้อความระบุว่า “เขตอนุรักษ์พันธุ์นกนางแอ่น ห้ามเข้า” ป้ายลักษณะนี้ เป็นป้ายที่บริษัทผู้ได้สัมปทานส่วนใหญ่มักติดเตือนไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้เกาะสัมปทานรังนกของตนเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ใครเป็นผู้ติดป้ายนี้ หากเกาะเหลาไปเป็นเกาะที่ไม่มีการเปิดให้สัมปทานรังนกอีแอ่นแก่บริษัทใด

จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบระเบิดที่ยังไม่ทำงานซุกอยู่ใต้ดินอีก 3 ลูกโดยวางกระจายไว้บริเวณทางขึ้น ใกล้กับเพิงพัก และบริเวณปากถ้ำจึงสั่งถอนกำลังออกจากเกาะทั้งหมด เนื่องจากเกรงจะเกิดอันตราย เพราะคาดว่าน่าจะมีระเบิดฝังอยู่อีกหลายลูก

ข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ อีโอดีทำลายระเบิดบนเกาะเหลาไปอย่างน้อย 8 ลูก ระเบิดทั้งหมดที่พบเป็นระเบิดขวดที่ทำขึ้นเอง

แหล่งข่าวคนเดียวกันนี้ยังยืนยันว่า มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งลักลอบเก็บรังนกบนเกาะเหลาไปมานานแล้ว แต่ด้วยจำนวนรังนกบนเกาะที่มีไม่มากนัก ประกอบกับคุณภาพรังนกไม่ได้อยู่ในเกรดที่ดีมาก บริษัทจึงประหยัดค่าใช้จ่ายโดยไม่จ้างคนมาเฝ้าเกาะ แต่ใช้วิธีการติดตั้งระเบิดไว้แทนเพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้ามาเก็บรังนก

 

 

นอกจากนี้ เขายังให้ข้อมูลว่า ผู้ที่สามารถขโมยรังนกได้นั้น ต้องเป็นคนในหรือผู้ที่เคยเก็บรังนกบนเกาะนี้มาก่อน เพราะคนนอกพื้นที่ไม่สามารถรู้ได้ว่ารังนกอยู่ตรงส่วนใดของถ้ำ และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำรังนกที่ขโมยมาไปขายให้กับพ่อค้าที่ไม่รู้จักกันยกเว้นว่าจะอยู่ในแวดวงเดียวกัน

จากระเบิดเกาะเหลาไปโยงไปเกาะทะลุ จ.กระบี่

จากเกาะเหลาไป จ.พังงา เจ้าหน้าที่ขยายผลมายังเกาะทะลุ จ.กระบี่ หลังจากได้เบาะแสว่า บนเกาะนี้อาจมีอาวุธระเบิดชนิดเดียวกันกับที่พบบนเกาะเหลาไป เกาทะลุเป็นหนึ่งใน 62 เกาะที่ จ.กระบี่ อนุญาตให้บริษัทแห่งหนึ่งได้สัมปทานเข้าเก็บรังนกในช่วงปี 2558 - 2563 โดยต้องจ่ายอากรเก็บรังนกอีแอ่นให้กับรัฐ 135 ล้านบาท

ชาวประมงในพื้นที่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เกาะดังกล่าว เพราะมีป้ายเตือนติดประกาศชัดเจนและเจ้าของสัมปทานทำสัญลักษณ์ธงแดงเป็นแนวเขตบ่งบอกว่าบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถล่วงล้ำแนวเขตธงแดงเข้าไปได้

วันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจและเจ้าหน้าที่อีโอดีเข้าตรวจค้นเกาะทะลุ พบอุปกรณ์ประกอบระเบิด ได้แก่ สายไฟ แบตเตอรี่ ตะปู อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขวดเครื่องดื่ม และเชื้อปะทุ สำหรับใช้จุดระเบิด นอกจากนี้ ยังพบปลอกกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง

 

 

ผู้รับจ้างเฝ้าเกาะ 2 คนให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า ถูกว่าจ้างมาทำงานเฝ้าเกาะ เพื่อป้องกันคนขโมยรังนกเท่านั้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ประกอบระเบิด และอาวุธที่พบบนเกาะ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาผู้เฝ้าเกาะทั้ง 2 คน ว่ามีวัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

เกาะรังนก พื้นที่อิสระยากตรวจสอบ

ในปี 2535 ยามบริษัทรังนกแหลมทองจำกัดสังหารผู้ขโมยรังนกถึง 2 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 คน บนเกาะสี่ เกาะห้า จังหวัดพัทลุง เหตุการณ์การปะทะกันเพื่อแย่งชิงรังนกมีอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นสถิติผู้เสียชีวิตรายปี แม้แต่ผู้ที่ได้สัมปทานรังนกภาคใต้รายใหญ่คนหนึ่ง ก็เคยถูกยิงด้วยอาวุธสงครามมาแล้วในปี 2549 เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเหตุจูงใจมาจากความขัดแย้งเรื่องสัมปทานรังนก

 

 

นายเกษม จันทร์ดำ ผู้ศึกษาธุรกิจรังนกในเชิงมนุษยวิทยา จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดให้สัมปทานรังนกของรัฐไม่ได้อนุญาตให้ผู้ทำสัมปทานเก็บเกี่ยวเฉพาะรังนกเท่านั้น แต่ยังได้อำนาจรัฐและเกิดเป็นพื้นที่พิเศษที่มีอำนาจอิสระเป็นของตนเอง ในลักษณะรัฐอิสระ

เมื่อก่อนชาวประมงที่แล่นเรืออยู่สามารถเข้าไปหลบลมได้ แต่พอรังนกมันมีราคาแพงมากขึ้น เขาก็มีความระแวง พอมีความระแวง ก็มีการยิงขู่กันเกิดขึ้น ยิงขู่บ้าง ยิงจริงบ้างขึ้นมา เมื่อก่อนจะยิงตรงไหนของเกาะก็ได้ แต่ต่อมาก็มีการกำหนดเขตไว้ว่าในรัศมี 300 เมตร เขาก็จะวางทุ่นเป็นสัญลักษณ์ไว้ ถ้าใครเข้าไปในเขตแนวทุ่นนั้นซึ่งเป็นเขตหวงห้าม เขาก็ยิงได้

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นรัฐอิสระ หมายความว่า พอเขาได้สัมปทานไปแล้วเนี่ย แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็เข้าไปทำอะไรในพื้นที่นั้นไม่ได้ แม้ในกฎหมายเขียนระบุว่าสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลเพื่องานวิจัยบนเกาะได้ แต่แม้เราขอเข้าไปทำงานวิจัยในมิติไหน มันก็ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ คือเขามีอำนาจอิสระ แม้แต่การเก็บรังนก ก็จะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นอยู่ของแต่ละจังหวัด ก็พบว่าคณะกรรมการฯ ก็เข้าไปในเกาะไม่ได้ ถ้าหากไม่ขออนุญาตบริษัทฯ จากลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมา มันก็ตอบคำถามชัดเจน ถ้ามองในมุมรัฐศาสตร์ นี่คือรัฐอิสระ” นายเกษมกล่าว

จากการลงพื้นที่ของทีมงาน ยังได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อว่า ในอดีต เกาะสัมปทานรังนกเคยเป็นแหล่งสะสมอาวุธเถื่อนและน้ำมันเถื่อน บางครั้งยังเป็นเส้นทางหนึ่งของขบวนการค้ามนุษย์ในทะเล โดยกลุ่มธุรกิจมืดเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากลักษณะพิเศษของเกาะสัมปทานรังนกที่บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และมีการตรวจตรวระวังภัยตลอดเวลาผ่านยามเฝ้ารังนกที่มีอาวุธกันแทบทุกคน ปัจจุบัน เชื่อว่าธุรกิจมืดเหล่านี้ยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่สัมปทานรังนกเหล่านี้อยู่ แต่ไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง