ฉบับเต็ม "5 เหตุผล" พรรคประชาธิปัตย์ จับขั้ว พรรคพลังประชารัฐ

การเมือง
5 มิ.ย. 62
19:16
14,290
Logo Thai PBS
ฉบับเต็ม "5 เหตุผล" พรรคประชาธิปัตย์ จับขั้ว พรรคพลังประชารัฐ
พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเหตุผล 5 ข้อตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมือง รัฐบาลมีเสียงข้างมาก สานต่อนโยบายแก้จน แก้รัฐธรรมนูญ และการบริหารประเทศต้องซื่อสัตย์ ยอมรับการตัดสินใจอาจกระทบทั้งบวกและลบ

วันนี้ (5 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานพรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่คำแถลงผลการประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหาร และส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิ ปัตย์ เมื่อวานนี้( 4 มิ.ย.) หลังมีมติเสียงข้างมาก 61 เสียง เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ 

สืบเนื่องจากการที่ พรรคพลังประชารัฐ ได้มาเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ได้มอบหมายให้ท่านเลขาธิการพรรค (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อเจรจาในรายละเอียดทั้งหมด ในที่ประชุมวันนี้ท่านเลขาธิการพรรค คือท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รายงานต่อที่ประชุมว่าบัดนี้การประสานงานทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงและเป็นอันได้ข้อยุติแล้ว โดยเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนั้น ได้รับการตอบรับทั้ง 3 ข้อ

  • ข้อที่ 1 ในเรื่องของนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ได้รับการยอมรับที่จะบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล
  • ข้อที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เงื่อนไขประการนี้ก็ได้รับการตอบรับ
  • ข้อที่ 3 เงื่อนไขในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ได้รับการตอบรับเช่นเดียวกัน
โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้แจ้งให้ทราบว่า หากผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรคฯ สามารถสงวนสิทธิ์ในการที่จะทบทวนในอนาคตได้ ในเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล

53 เสียงบวกอุดมการณ์พิจารณาตัดสินร่วมรัฐบาล

สำหรับในการพิจารณาของที่ประชุมพรรคฯ ในวันนี้ ได้มีการนำหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ของพรรค ในเรื่องการแสดงท่าทีของอดีตหัวหน้าพรรคที่ได้ประกาศไปในช่วงของระยะเวลาการหาเสียง รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ว่าจะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างจริงจังได้อย่างไร

นอกจากนั้นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักดีว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนได้ตัดสินผลการเลือกตั้งให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 53 ท่าน

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขนาดกลาง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดบางประ การที่ไม่อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะบรรลุความประสงค์ของพรรคฯ ได้ทุกอย่าง

ยอมรับมติพรรคย่อมมีผลทางบวก-ทางลบ

อย่างไรก็ตามที่สำคัญก็คือว่า พรรคฯ ได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือทางลบ กลับมามีผลกระทบต่อพรรคฯ อย่างกว้างขวาง อย่างแน่นอน การตัดสินใจของพรรคฯ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค หรือยึดประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ของพรรคทั้งนี้ก็เพื่ออย่างน้อย

  • ประการที่ 1 ต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้
  • ประการที่ 2 ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้
  • ประการที่ 3 ให้ประเทศสามารถที่จะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก อันได้แก่ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด รวมทั้งชาวประมง ได้สามารถมีหลักประกันในเรื่องรายได้ในการนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฎผลเป็นรูปธรรมต่อไปได้
  • ประการที่ 4 การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในอีกนัยยะหนึ่ง ก็เสมือนกับการหยุดอำนาจ หรือการปิดสวิตช์ คสช. เพราะว่า คสช. จะหมดอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
  • ประการที่ 5 เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเสนอเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น นั่นก็คือการสะท้อนให้เห็นว่าเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประสงค์จะให้มีการปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้

 

พร้อมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 

เมื่อได้พิจารณาถึงประเด็นแวดล้อมทั้งหมดแล้ว พรรคฯ จึงได้มีมติตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และโดยเหตุผลที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลนี้มีมติเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล จึงได้มีมติเห็นควรสนับสนุนตามมติของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยมีมติสนับสนุน ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญๆ ที่ขออนุญาตเรียนให้ทุกท่านได้รับทราบ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน ! มติ 61 เสียง "ประชาธิปัตย์" ร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง