นักรัฐศาสตร์แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างปรองดอง

การเมือง
6 มิ.ย. 62
14:33
897
Logo Thai PBS
นักรัฐศาสตร์แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-สร้างปรองดอง
นักรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสร้างความปรองดอง ส่วนระยะยาวเป็นการขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมมองว่ากระแสข่าวพรรคพลังประชารัฐล้มดีลที่เคยทำกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะผิดมารยาทการเมืองร้ายแรง

วันนี้ (6 มิ.ย.2562) นายยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) วิเคราะห์ถึงหน้าตาและอายุของรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากสมาชิกรัฐสภาลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยว่า สิ่งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องทำ หลังจากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 วาระที่ 2 คือเร่งสะสางปัญหาที่ค้างเก่า โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน และเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น รัฐบาลใหม่ ซึ่งคือรัฐบาลเดิมที่อาจจะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีบางตำแหน่ง คือต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องทางการเมือง การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น รวมไปถึงข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอีกเรื่องว่าจะต้องเดินหน้าและมีกระบวนการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร มากน้อยแค่ไหนและในประเด็นใดบ้าง ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำในระยะสั้น

 

 

ส่วนในระยะยาว เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนในการกำหนดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งการจะขับเคลื่อนต่อเป็นเรื่องที่สำคัญ และที่สำคัญที่สุด คือครั้งนี้ภายใน 15 วัน หลังจากคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่จะต้องมีการแถลงนโยบายต่อสภา ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดไว้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดเพิ่มเติมว่านโยบายครั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับ 3 เรื่อง คือหน้าที่ของรัฐ นโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และยังต้องแสดงถึงที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายตามนโยบายด้วย ซึ่งจะต้องให้สภาได้รับทราบในการแถลงนโยบาย แต่ว่าเป็นการประชุมโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องทำ

สำหรับกระแสข่าวที่ว่าพรรคพลังประชารัฐอาจจะไปล้มดีลที่เคยทำมากับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายยุทธพร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ซึ่งก่อนหน้านี้คงมีข้อเสนอว่าให้เลือกนายกรัฐมนตรีแล้วค่อยตกลงเรื่องคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อนจะโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้มีเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ถ้ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงถือว่าเป็นการผิดมารยาททางการเมืองอย่างร้ายแรง เพราะในบรรดาพรรคร่วมคงต้องมีการพูดคุยกันอย่างลงตัวพอสมควรแล้ว จึงจะมีการมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกัน และมีมติของพรรคต่างๆ ออกมา อย่างมากที่สุด คิดว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของรายละเอียด ซึ่งเป็นไปได้ในเรื่องของการจัดทำนโยบายว่านโยบายเรื่องนี้จะขอถอดเข้าถอดออก ซึ่งจะต้องมีคนที่เหมาะสมเข้ามาทำ ปรับเล็กน้อยก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าการล้มดีลไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ปัญหาที่จะเป็นผลกระทบต่อรัฐบาลจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าสุดท้าย ถ้าพรรคร่วมถอนตัวไป ในการพิจารณากฎหมายสำคัญ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่เหมือนกัน เพราะว่าวันนี้แม้ว่าจะมีตัวช่วยหลายอย่าง แต่ถ้าพรรคร่วมถอนตัว โอกาสที่จะทำให้การเดินหน้าอย่างราบรื่นของรัฐบาลเป็นไปได้ยาก

 

 

ทั้งนี้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) หากหักเสียงของสมาชิกวุฒิสภาออกไป 249 เสียง ถือว่าก่ำกึ่งมาก และเสียงที่เป็นของรัฐบาลอยู่ที่ 251 เสียง เพราะมีงดออกเสียงของประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา และยังมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ ของพรรคภูมิใจไทยที่งดออกเสียงด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดมากเลยว่าในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ คือพื้นที่เข้มข้นของพรรคภูมิใจไทย ในพื้นที่อีสานใต้ หากเป็น ส.ส.ใหม่ของพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ภาคกลาง ภาคใต้ ยังพอจะทำเนาได้ แต่ในพื้นที่เข้มข้นแต่ยังงดออกเสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่าถ้ากระบวนการในการเดินหน้าต่อในสภาวะเสียงปริ่มน้ำแบบนี้จะมีเหตุการณ์แบบนี้มาโดยตลอด ขณะที่เสียงของฝ่ายค้าน 244 เสียง มีการเกาะกลุ่มกันแน่น ความเป็นเอกภาพอาจจะมีมากกว่าด้วย

 

 

ส่วนการที่งดออกเสียงอาจจะเป็นเกมต่อรองของการจัดสรรรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายยุทธพร กล่าวว่า วันนี้อาจจะมองไปถึงตรงนั้นได้ยาก เพราะว่าอาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัว อาจจะเหตุผลเรื่องการต่อรอง และมีการร้องไห้ในสภาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิด แต่เป็นไปได้หลายเหตุมากกับการที่นายสิริพงศ์ งดออกเสียง แต่ว่าแน่นอนว่าเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมันส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะยาว อย่างไรก็ดี เชื่อว่ารัฐบาลมีโอกาสจะอยู่ได้อย่างน้อย 2 ปี แม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าอาจจะอยู่แค่ 6 เดือน ซึ่งตรงนี้มีกลไกในรัฐธรรมนูญหลายส่วนเป็นตัวช่วยรัฐบาลใหม่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และกฎหมายงบประมาณที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ผ่านสภา ซึ่งในกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน โดยในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ถ้าใน 105 วัน ส.ส.พิจารณางบประมาณไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าเห็นชอบแล้วส่งไปให้ ส.ว.ได้เลย หรือแม้กระทั่งการมีแนวคิดที่ว่า ส.ว.บางคนออกมาบอกว่าไม่ต้องกลัวการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรอก เพราะถ้าวันใดวันหนึ่ง คณะรัฐมนตรีทั้งชุดหรือนายกรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งไป เดี๋ยว ส.ว.โหวตกลับมาให้ใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางกฎหมายคงทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความชอบธรรมทางการเมือง ที่ความถูกผิดทางกฎหมายไม่อาจตอบความชอบธรรมทางการเมืองได้ ดังนั้น เสถียรภาพของรัฐบาลจึงไม่น่ากังวลเท่ากับเสถียรภาพของระบบรัฐสภา เพราะวันนี้ เสถียรภาพรัฐบาลอาจจะใช้เทคนิคกฎหมายหรือเทคนิคทางการเมืองต่างๆ ได้ แต่เสถียรภาพของรัฐสภา ถ้าประชาชนเห็นเทคนิคทางกฎหมาย เล่นเกมกันในสภา มีงูเห่า มีการต่อรองต่างๆ อะไรมากมาย ความเชื่อมั่นเชื่อถือศรัทธาในระบบรัฐสภาจะเกิดคำถามถึงความชอบธรรมในระบบรัฐสภา และสุดท้ายอาจจะนำไปสู่การเมืองบนท้องถนน เพราะประชาชนมองว่าการเมืองในรัฐสภาล้มเหลว เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องช่วยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ แก้ไขปัญหาให้กับสังคม ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติเองต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือรัฐสภา แล้วให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่การแก้ปัญหาทางการเมือง ส่วนประชาชนก็ต้องทำหน้าที่ในฐานะประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองฝ่ายบริหาร แลละฝ่ายนิติบัญญัติต่างๆ ไป

 

 

ส่วนคุณภาพในการนำเสนอข้อมูล หรือว่าในการคุมเกมในสภา เมื่อวานนี้ นายยุทธพร กล่าวว่า มองว่าคุณภาพน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพอสมควร ซึ่งเมื่อวานนี้เห็นการอภิปรายบางส่วนมีการหยิบยกเหตุผล ตรรกะมากมาย และมีฝ่ายค้านหน้าใหม่ๆ เข้ามา แต่เมื่อวานนี้ ดูเกมในสภาแล้ว คิดว่าตกเป็นของฝ่ายค้าน เป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ทั้ง 2 พรรคสามารถเชื่อมโยงระหว่างเกมในสภาและนอกสภาได้ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เข้าสภาก็จริง แต่เหมือนกับอยู่ในสภา เพราะได้พื้นที่เต็มๆ และมีความเคลื่อนไหวตลอด เพื่อนประชุมอยู่ในห้องประชุม นายธนาธรอยู่ข้างห้องประชุม ทำงานด้วยเหมือนกัน ส่วนพรรคพลังประชารัฐไม่ค่อยจะมีกระบวนการในการตอบโต้เท่าไหร่ เนื่องจากอาจจะมั่นใจในคะแนนเสียง การไปตอบโต้อาจจะทำให้ต่อความยาวสาวความยืด สุดท้ายเกมในสภาไม่จบ ต้องมีเหตุให้ปิดสภา นายกรัฐมนตรีคนนอกมาทันทีเลย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพราะต่อจากนี้ต้องเจอสนามบรรยากาศการเมืองจริงแล้ว นายยุทธพร กล่าวว่า ในบริบทการเมืองสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเปลี่ยนไป เพราะว่าเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ นั่นหมายความว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สิ้นสภาพไปตามผลของรัฐธรรมนูญ จากนี้ บรรดามาตรา 44 จะไม่สามารถใช้ได้อีก ดังนั้น การที่จะบริหารงานโดยมีอำนาจเต็มที่มีมาก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้ ซึ่งการปรับตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเชิงการบริหารต้องเปลี่ยนใหม่ และในเชิงบุคลิกภาพก็เช่นเดียวกันจะต้องเผชิญกับสภาและสภาเหล่านี้เป็นสภาใหม่ๆ ด้วย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา นอกจากนี้ บรรดาคนรุ่นใหม่ดังกล่าวหลายคนเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง หลายคนมีวิธีคิดทางการเมืองใหม่ๆ เพราะฉะนั้น ตรงนี้เกิดปัญหาในเรื่องของวัยด้วย ความคิดความอ่าน ก็ต้องรับมือตรงนี้ที่จะเกิดขึ้นในสภาด้วย

นายยุทธพร กล่าวว่า มองว่า 2 ปีมีโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้ แต่หลังจากนั้นต้องดูผลงานของรัฐบาลว่าจะอยู่ได้ต่อหรือไม่ ถ้ารัฐบาลสามารถทำผลงานได้ดี สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนและการเมืองเดินหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาใหญ่ของทุกพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคน ในส่วนหนึ่งเป็นปัญหาของประชาชนด้วย ต้องได้รับการแก้ไข ก็จะเดินไปได้

 

 

ส่วนบทบาทของนายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา คิดว่านายชวนทำหน้าที่ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดในเรื่องของกฎหมาย หลักการ และข้อบังคับการประชุม แม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่าสีสันน้อยไปหน่อย แต่บุคลิกของนายชวนก็เป็นแบบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับนายชัย ชิดชอบ อาจจะมีลูกเฮลูกฮามากกว่าในการเป็นประธานสภาชั่วคราว เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ไม่ว่ากัน เพราะเป็นบุคลิกส่วนตัวของแต่ละคน ดังนั้น ในเชิงการทำหน้าที่ของนายชวนก็ทำได้ แต่ว่าจุดที่น่าสนใจคือวันนี้ นายชวนจะต้องเผชิญกับสภาที่ไม่เคยรู้จัก แม้ว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นายชวนอาจจะเคยเป็นประธานรัฐสภามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ 20 ปีผ่านไป สภาเปลี่ยนแปลง มีนักการเมืองหน้าใหม่เข้ามา ซึ่งนายชวนไม่รู้จัก และนักการเมืองที่เข้ามาใหม่เหล่านี้ก็ไม่ได้รู้จักนายชวนเป็นการส่วนตัว เพราะฉะนั้น การสร้างบรรยากาศในการทำให้การประชุมเดินหน้าได้ บางครั้งต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย และที่สำคัญภายใต้สภาวะความขัดแย้งในสภาที่แบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ ก็เป็นงานที่ท้าทายในการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาของนายชวน และในระยะยาว การสร้างบรรยากาศในที่ประชุมให้เกิดการเดินหน้าร่วมกันได้อย่างมีมิตรภาพ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง