ลูกพะยูน "มาเรียม" ยึดเรือแคนูสีส้มแทนอ้อมกอดแม่

สิ่งแวดล้อม
7 มิ.ย. 62
18:03
16,925
Logo Thai PBS
ลูกพะยูน "มาเรียม" ยึดเรือแคนูสีส้มแทนอ้อมกอดแม่
สัตวแพทย์ ระบุพฤติกรรมของลูกพะยูน "มาเรียม" ยึดเรือแคนูสีส้ม ของทีมนักวิจัยที่ดูแลป้อนนม ใช้แขนกอดเรือ ว่ายไปข้างๆ เสมือนเป็นตัวแทนของแม่ สะท้อนว่าลูกพะยูนพลัดหลงตัวนี้คิดถึงแม่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ สัตวแพทย์ ทช. อาสาสมัคร ยังจัดทีมเฝ้า 24 ชั่วโมงในทะเล

วันนี้ (7 มิ.ย.2562) นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ช่วงเวลาประมาณ 04.40 น. เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ติดตามลูกพะยูนมาเรียม ลูกพะยูนอายุ 1 ปีที่เจ้าหน้าที่นำมาดูแล พบเกยตื้นหน้าเขาบาตู เจ้าหน้าที่ได้นำออกไปปล่อยลงที่น้ำลึก

เจ้าหน้าที่เขตฯ ลิบง ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง ติดตามเฝ้าระวังมาเรียม บริเวณเขาบาตู เจ้าหน้าที่ได้ป้อนนม และหญ้าทะเล น้องมาเรียมสุขภาพแข็งแรง

ขณะที่สัตวแพทย์ ระบุว่าเนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงน้ำขึ้น น้ำลง ทำให้เวลาน้ำลงสูงสุด มาเรียมจะเกยตื้น เพราะไม่มีแม่พะยูนตัวใหญ่นำทาง แต่มีทีมสัตวแพทย์ อาสามัคร และเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าดูแล 

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

ภาพ:กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช

 

ทีมสัตวแพทย์คอยดูแล 24 ชั่วโมง 

ขณะที่ เฟซบุ๊กของ Kongkiat Kittiwatanawong ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ยังได้เผยแพร่คลิปน่ารักของ น.ส.พัชราภรณ์​ แก้วโม่ง​ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ​ หัวหน้าชุดดูแลลูกพะยูมาเรียม โดยระบุว่าความทุ่มเทของทีมงานดูแลมาเรียมครับ ตื่นมาดูแลมาเรียมในช่วงที่คนอื่นหลับกันหมดแล้ว

 

 

หมอนันทริกา ระบุมาเรียมคิดถึงแม่ 

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กของ Nantarika Chansue ของ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา  ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเดินทางไปดูมาเรียม พร้อมกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยระบุว่า รักษาสัตว์มา 30 ปี เห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มามากพอควรแต่เรื่องราวของเจ้าพะยูนกำพร้า "มาเรียม" สามารถทำให้ทำให้เราสะท้อนใจได้

มาเรียมอายุเพียง 4-5 เดือน เมื่อสำรวจฟันก็เพิ่งเริ่มขึ้นไม่กี่ซี่ ยังไม่พ้นเหงือกพอที่จะกินหญ้าถนัด จึงต้องกินนมเป็นหลัก ใช้สูตรของนมพะยูน จากต่างประเทศโดยใช้นมผงที่มาจากแพะและผสมวิตามินกับสารอาหารที่จำเป็น กินวันละประมาณ 2 ลิตร ทุก 1-2 ชั่วโมง เป็นงานที่เหนื่อยพอควรสำหรับคนดูแล

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

 

สิ่งยึดเหนี่ยวของมาเรียมที่รูปร่างใกล้เคียงแม่ที่สุด คือ เรือแคนูสีส้ม พวกเราเรียกว่า "แม่ส้ม"ทุกครั้งที่เธอต้องการความรักความอบอุ่น เธอจะว่ายไปอยู่ใต้เรือ นอนหงายเอาแขนกอดเรือบ้าง ว่ายตามไปข้างๆเหมือนว่ายไปกับแม่บ้าง หรือเอาตัวว่ายถูไปมาเหมือนจะบอกว่า "แม่จ๋า... หนูคิดถึงแม่"

ตอนหมอป้อนนม ท่าที่มาเรียมชอบมากที่สุดคือเอามือโอบที่ครีบหน้าข้างหนึ่งไว้กับตัวเรา เหมือนเวลาที่แม่โอบเขาเวลากินนม  ดูดนมแล้วเพลินหลับเหมือนเด็กๆ 

ที่น่าสงสารมากคือตอนกลางคืนที่เธอต้องอยู่คนเดียวมืดๆ เธอก็มักไปซุกหินบ้าง (หินแม่) ท่อนไม้ (ไม้แม่) บ้าง ถ้าเผลอน้ำลงก็เกยตื้น เพราะไม่มีแม่มาพาไปยังที่น้ำลึกพอ โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังอยู่ 24 ชม จึงช่วยได้ทัน

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

 

อยากจะบอกมาเรียมว่า คงไม่มีโอกาสได้เจอแม่อีกแล้ว ไม่รู้ว่าแม่ยังมีชีวิตอยู่แค่พลัดหลงกันหรือแม่ติดเครื่องมือประมงเหมือนพะยูนอีกหลายตัวที่เสียชีวิตไป หรือเจ็บป่วยล้มตายไป ในทะเลกระบี่ แต่ทุกคนที่ตรังกำลังพยายามเต็มท่ีท่ีจะทำให้เธออยู่รอด สามารถเติบโตต่อไปในโลกนี้ได้

ขอบคุณและชื่นชมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือ อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากร่วมกับทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬา รวมทั้งสถาบันและชุมชนต่างๆ มาช่วยกันดูแลค่ะ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ตัวแรก! "มาเรียม" ลูกพะยูนที่มีมนุษย์เป็นแม่นมเลี้ยงจริงในทะเล

ครั้งแรก ! ป้อนนม-สอนว่ายน้ำ "มาเรียม" ลูกพะยูนหลงแม่

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง