วิเคราะห์ประท้วงใหญ่ในฮ่องกง สำเร็จหรือล้มเหลว

ต่างประเทศ
13 มิ.ย. 62
20:38
1,816
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ประท้วงใหญ่ในฮ่องกง สำเร็จหรือล้มเหลว
การประท้วงในฮ่องกง นับวันยิ่งมีมวลชนเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ๆ ในฮ่องกงอาจหนีไม่พ้นการออกมาต่อต้านความพยายามแทรกแซงทางการเมืองจากรัฐบาลปักกิ่ง

การรุกคืบแทรกแซงทางการเมืองฮ่องกงของรัฐบาลปักกิ่งที่มากขึ้น ทำให้การประท้วงใหญ่ในระยะหลังกลายเป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการประท้วงเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการดำเนินนโยบายและการบังคับใช้มาตรการบางอย่างของรัฐบาลฮ่องกง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะฮ่องกงเคยเผชิญกับการประท้วงใหญ่มาแล้ว 2 ครั้งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปในปี 2546 ชาวฮ่องกงกว่า 500,000 คน เดินขบวนต่อต้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าเพิ่มบทลงโทษจำคุกตลอดชีวิตกับผู้กระทำความผิดข้อหาก่อกบฏและปลุกระดมมวลชน

 

โดยกลุ่มผู้ประท้วง มองว่าการเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายฉบับดังกล่าวจะบั่นทอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชาวฮ่องกง จำกัดการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และใช้เล่นงานกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่กระด้างกระเดื่องกับรัฐบาลปักกิ่ง

การเดินขบวนประท้วงจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่มมวลชน หลังรัฐบาลฮ่องกงยอมยกธงขาวเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องยกเลิกการผลักดันกฎหมายฉบับนี้และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งของผู้ว่าการฮ่องกงในขณะนั้น

ในปี 2557 สหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงจัดการประท้วงใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ในนาม Umbrella Movement เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงอย่างอิสระและไม่ยอมรับรายชื่อผู้ลงสมัครที่รัฐบาลปักกิ่งอนุมัติมาให้เลือก

 

เหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อน จบลงด้วยการสลายการชุมนุมที่ยืดเยื้อนาน 79 วัน หลังจากตำรวจปราบจลาจลกระชับพื้นที่และยิงแก๊สน้ำตา ก่อนที่จะดำเนินคดีกับ "โจชัว หว่อง" และแกนนำอีกหลายคนในข้อหาก่อความไม่สงบและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย

การประท้วงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับระบบการเลือกตั้งของฮ่องกงได้ เพราะรัฐบาลปักกิ่งยังคงมีบทบาทในการคัดเลือกและอนุมัติรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการฮ่องกง ผ่านกลไกคณะกรรมการการเลือกตั้งที่สนับสนุนปักกิ่ง

ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุดในฮ่องกง มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการปรับแก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศที่ไม่ได้มีข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งผู้ประท้วงวิตกว่าจีนอาจใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งการประท้วงครั้งนี้ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดและรุนแรงที่สุด จากการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้มีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 70 คน และผลการประท้วงจะออกหัวหรือก้อยยังคงต้องจับตามองกันต่อไป

 

รศ.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า จีนน่าจะกดดันให้ฮ่องกงเดินหน้าปรับแก้กฎหมายต่อไป แต่ผลที่ตามมาในระยะยาวอาจไม่เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจของจีนมากนัก

ในระยะยาว ถ้ากฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้ผ่านไปได้ นักธุรกิจต่างชาติที่อยู่ในจีนจะมีความกลัวขึ้นมาทันทีว่าตนเองอาจจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากจีนกับสหรัฐฯ ยังมีข้อพิพาทกัน

ทั้งนี้ จำนวนมวลชนที่เพิ่มขึ้นในการประท้วงแต่ละครั้งในฮ่องกง แสดงให้เห็นถึงกระแสต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งคำถามถึงอนาคตของการปกครองตามหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง