"มาเรียม" ตำราเล่มใหม่ "คนเลี้ยงพะยูน"

สิ่งแวดล้อม
14 มิ.ย. 62
19:06
12,413
Logo Thai PBS
"มาเรียม"  ตำราเล่มใหม่ "คนเลี้ยงพะยูน"
ไทยพีบีเอสออนไลน์ เปิดใจทีมสัตวแพทย์ ผู้ดูแล "มาเรียม" ลูกพะยูนวัย 6 เดือนพลัดหลงแม่ ยอมรับหลงรักเจ้าพะยูนน้อยขี้อ้อน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตั้งเป้าปรับการใช้ชีวิต เพื่อให้กลับคืนบ้านใช้ชีวิตได้เอง ชี้เป็นตำราเล่มใหม่ที่คนเลี้ยงพะยูนในทะเล

ภาพของลูกพะยูน “มาเรียม” เคลิ้มหลับตาพริ้มหลังกินนมจนอิ่ม ซุกอยู่ในอ้อมกอดของพี่เลี้ยง ท่ามกลางท้องทะเลตรัง กลายเป็นภาพแห่งความอบอุ่น บอกเล่าเรื่องราวของคนและสัตว์ทะเลหายากที่น่าประทับใจ

“มาเรียม” คือลูกพะยูนวัย 6 เดือนพลัดหลงแม่ในพื้นที่ จ.กระบี่ เมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมาหลังจากเจ้าหน้า ที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต ได้พยายามนำปล่อยคืนทะเล 2 ครั้งบริเวณอ่าวทุ่งคา ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง แต่ลูกพะยูนตัวนี้กลับว่ายเข้าหาฝั่ง


ไม่อยากให้ลูกพะยูนตัวนี้ ถูกเลี้ยงในบ่อเลี้ยงไปทั้งชีวิต จึงตัดสินใจเลี้ยงมาเรียมในบริเวณเขาบาตู เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  

จุดเริ่มต้นที่ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) บอกว่า เป็นทางเลือกที่ต้องตัดสินใจที่จะทำให้พะยูนตัวนี้อยู่รอด!

เขาบอกว่า ปกติลูกพะยูนที่ขาดแม่ จะไม่สามารถอยู่ได้ในธรรมชาติ ต้องเลี้ยงในบ่อเลี้ยง แต่เราไม่อยากเห็นเขามีชีวิต ทั้งชีวิตในบ่อเลี้ยง จึงเลือกที่จะให้เขาอยู่ในธรรมชาติ พวกเขาตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกพะยูนในห้องเรียนธรรมชาติ ในบ้านของฝูงพะยูนกว่า 200 ตัวที่หมู่เกาะลิบง พร้อมกับตั้งชื่อว่า “มาเรียม” ที่หมายถึง ผู้หญิงแห่งท้องทะเลผู้มีความสง่างาม"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ตัวแรก! "มาเรียม" ลูกพะยูนที่มีมนุษย์เป็นแม่นมเลี้ยงจริงในทะเล

เปิดตำราใหม่ คนเลี้ยงลูกพะยูน

กว่า 1 เดือนวันที่นักวิจัย ทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เจ้าหน้าที่เขตห้ามสัตว์ป่าเกาะลิบง จ.ตรัง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชาวบ้านกลุ่มพิทักษ์ดุหยง และอาสาสมัครกว่า 30 ชีวิต ร่วมทำภารกิจนี้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

ภารกิจของคนเลี้ยงพะยูน แบ่งออกเป็น ทีมหนึ่งคอยทำหน้าที่เตรียมนม ป้อนนม ทีมหนึ่งคอยดำน้ำเก็บหญ้าทะเล ทีมหนึ่งต้องสอนว่ายน้ำ โดยมีแม่ส้ม เรือแคนูที่มาเรียม ยึดเหนี่ยวเหมือนแม่ และทีมเฝ้าระวังภัย ไม่ให้มาเรียม เกยตื้น หรือเข้าใกล้เขตอันตราย

มาเรียมเป็นลูกที่ต้องอยู่กับแม่ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เขาสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น และการที่ปกป้องและหลบภัยได้เขาจะเข้าหา ไม่ว่าจะเรือแม่ส้ม หรือคนเลี้ยง

สัตวแพทย์หญิงพัชราภรณ์ แก้วโม่ง​ นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ​ สังกัดศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน​ จ.ภูเก็ต​​ บอกว่า  แม้มาเรียม จะกินหญ้าทะเลได้เอง แต่ลูกพะยูนวัยนี้ ยังต้องการนม 

สูตรน้ำนมที่ให้กับมาเรียม เป็นนมแพะ เสริมด้วยวิตามิน น้ำมันพืช เพื่อสร้างสารอาหารที่เหมาะสำหรับสัตว์ในวัยเด็ก ที่ต้องได้รับพลังงานร้อยละ 30 ของพลังงานที่ใช้ไป หรือวันละ 2 ลิตร หมอต้องป้อน ทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อให้มาเรียมเติบโตสมวัย

นอกจากนี้ เจ้ามาเรียม ยังไม่ห่างจากแม่ส้ม เรือแคนนู ที่ทีมสัตวแพทย์และจิตอาสา เป็นผู้บังคับทิศทาง ไม่ต่างจากพะยูนตามธรรมชาติที่มักจะอยู่เป็นคู่แม่ลูก แต่สำหรับเจ้ามาเรียม มีแม่ส้มคอยพาไปออกกำลังกาย และออกหากินตามแหล่งหญ้าทะเล

ตกหลุมรักเธอไม่ยาก-เธอต้องอยู่รอด


วินาทีที่สบตากับมาเรียม ตกหลุมรักเธอทันที คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุดให้เธอมีชีวิตรอด

สัตวแพทย์หญิง วัชรา ศากรวิมล สัตวแพทย์จากศูนย์วิจัยอ่าวไทยตอนกลาง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกกับเรา เธอคือหนึ่งในทีมสัตวแพทย์ ทีมแรกๆ จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้ไปทำภารกิจเลี้ยงลูกพะยูน

ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ดูแลลูกพะยูน โดยไม่ได้เลี้ยงแล้วเอาไปปล่อยในทะเล แต่เป็นการดูแลพะยูนในพื้นที่ทะเลธรรมชาติ โดยเข้าไปดูมาเรียมช่วงวันที่ 24-28 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นโอกาสทั้งเรียนรู้หมอ สัตวแพทย์ ชาวบ้าน

มาเรียมเหมือนกับเด็กๆ ถึงเวลาที่จะดูแลป้อนนม ป้อนหญ้าทะเล เขาจะคลอเคลียอยู่ไม่ห่าง เพราะเขาคิดว่าเราเป็นแม่ เพราะปกติพะยูน เวลาแม่พาหากินจะว่ายคลอเคลียกันไม่ห่าง

งานที่รับผิดชอบร่วมกับพี่เลี้ยงมาเรียม จะมีเรือแคนู หรือแม่ส้ม เวลาพายไป มาเรียมจะมาคอยดันหลัง ดุนเรือพาไปกินนม กินหญ้าทะเล และว่ายน้ำ เพื่อให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ

มาเรียม ชอบให้มีการสัมผัส เหมือนเด็กเล็กๆ ที่ชอบให้เกาหลัง หรือตบก้นเวลานอน จุดที่สัมผัสของเขา ตัวพะยูน จะนิ่มแค่ช่วงปากกับท้อง จะมีหนังหนาและขนแข็งเหมือนกับช้างแต่กระจายๆ และตรงปากของเขาจะนิ่ม ทุกที่จะลูบตัวทำให้เราจะดูว่าผิดปกติ อกหัวใจเต้นปกติหรือไม่

 

 

จริงๆ มีการกำหนดให้ลงน้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่พออยู่กับมาเรียมแล้วเพลิน ลงน้ำตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงบ่ายโมง ในช่วงที่ไปเลี้ยงมาเรียม มีวันหนึ่งประมาณตี 2 น้ำลงมากจนมาเรียม มาเกยน้ำตื้น เขาพยายามว่ายเข้ามาหาคน พอเจอกันปุ๊บว่ายเข้าหากันปั๊บ ป้อนนมอุ่น ๆ และกอดให้คลายกังวล


สิ่งที่เราต้องฝึกมาเรียมก็คือ ให้รู้จักหลีกเลี่ยงร่องน้ำ พยายามไม่ให้คุ้นชินกับเรือทุกลำ หรือกับคนเลี้ยงเองก็ตาม เพื่อไม่ให้ใกล้ชิดกับคนจนไม่รู้ว่าเป็นอันตรายหรือไม่ เพราะในช่วงแรก เคยเจอมาเรียมเข้าไปใกล้กับเรือที่จอด และต้องเอาออกมา แต่ชาวบ้านที่นั่นน่ารักมาก และเขาจะเบาเรือ

ซึ่งถือเป็นความกังวลเหมือนกันว่า ถ้ามาเรียมต้องไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ไม่มีคนเฝ้า จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังปัญหาภัยคุกคามเครื่องมือประมง ซึ่งโชคดีว่าพื้นที่เกาะลิบงมีชุมชนที่รักพะยูน และอนุรักษ์พะยูน และยอมรื้อถอนเครื่องมือประมงออก เพื่อไม่ให่เกิดอันตรายกับมาเรียม

ยอมรับว่าตกหลุมรัก ถึงแม้จะรู้ว่ามาเรียม เป็นลูกสัตว์ป่าที่ไม่ควรจะผูกพัน เพราะเขาต้องกลับไปใช้ชีวิตอาศัยในธรรมชาติ แต่พอกลับมาแล้วกลับรู้สึกใจหาย และถามข่าวทุกวัน และเตรียมจะเข้าไปดูแลมาเรียมอีกครั้งในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้


บทเรียนต้องไม่ซ้ำรอย “เจ้าโทน”

ก่อนหน้านี้ ดร.ก้องเกียรติ เคยให้ข้อมูลระบุว่า อยากให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่จะไม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะกับ "มาเรียม" เมื่อปี 2536 พี่สุพจน์และพี่กาญจนา นำ "น้องอาย" ลูกพะยูนเพศเมีย ซึ่งพลัดหลงจากแม่ที่ระนอง มาอนุบาลที่ศูนย์ชีววิทยาภูเก็ต “น้องอาย” เป็นลูกพะยูนวัยเดียวกับ "มาเรียม"เมื่อเห็นว่าแข็งแรงดีแล้วก็นำไปปล่อยที่บ้านเจ้าไหม เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2536 ต่อมาได้ชื่อใหม่ชาวบ้านตั้งให้ว่า "เจ้าโทน"

"เจ้าโทน" เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่เพราะความเชื่องและชอบว่ายน้ำเข้าหาคน นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาในพื้นที่บ้านเจ้าไหม สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ แต่ในช่วงเวลาไม่ถึงสามเดือน "เจ้าโทน" ก็ตายเพราะติดอวนประมงในวันที่ 27 กันยายน 2536 กระดูกของ "เจ้าโทน" ได้รับการจัดทำและมอบให้โรงเรียนทางเข้าบ้านเจ้าไหม ขอไว้อาลัยแก่ “น้องอาย

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในท้องทะเลไทยมีประมาณ 200 ตัว โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลิบง เป็นบ้านของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุด
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีทช.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีทช.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีทช.

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) บอกว่า การมาของมาเรียม เป็นความหวังของพะยูนตัวอื่นๆ ที่จะอยู่รอดต่อไป มาเรียมเหมือนเด็กกำพร้าที่ว้าเหว่ เพราะขาดแม่ เพราะพะยูนเป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยูกันเป็นฝูง และเราจึงต้องทำให้เขาอยู่รอด

ที่ทำมาแล้วระยะหนึ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ต้องอาศัยวิชาการ การดูแล และความร่วมมือจากประชาชน และเป็นเป็นทฤษฎีใหม่ ที่ไม่ปรากฎว่าคนสามารถเลี้ยงลูกพะยูนได้ ซึ่งตอนนี้กำลังมีแนวคิดเตรียมจะติดกล้องวงจรปิด เพื่อดูแลมาเรียม เพราะนับจากนี้อีก 6 เดือนต้องดูแลฝึกให้เขาปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ 

 ที่ผ่านมามีการเลี้ยงดูสัตว์ที่คล้ายพะยูนที่เรียกว่ามานาตี ในตู้เลี้ยง ส่วนมาเรียม ถ้าเราศึกษาได้จริง จะเป็นครั้งแรกของโลกที่เลี้ยงพะยูนได้ในทะเลจริง จะเป็นทฤษฎีใหม่ ที่ใช้เป็นความรู้การดูแลพะยูนที่เกยตื้นให้รอดได้ในอนาคต 

ที่ผ่านมา พะยูนไม่ได้ตายจากการถูกล่า แต่เกิดจากการติดเครื่องมือประมง และคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็นพะยูนได้ใกล้ชิดเท่านี้มาก่อน มาเรียม จึงเป็นความหวังของการอนุรักษ์พะยูนให้อยู่รอดในท้องทะเลไทย

ข้อมูลการเดินทางของมาเรียม

26-28 เม.ย.62 พบมาเรียมเกยตื้น พฤติกรรมเข้าหาไต้ท้องเรือ กินหญ้าทะเลได้ ปล่อย 2 ครั้งแต่กลับมาเกยตื้น ที่เดิมและไม่ปลอดภัยจากเรือ

29 เม.ย.62 ย้ายปล่อยที่อ่าวทุ่งคา เกาะลิบง แหล่งพะยูนขนาดใหญ่
3 พ.ค.62 มาเรียมว่ายมาอยู่ที่อ่าวบาตู เกาะลิบง บังคลื่นลมได้ดี มีหญ้าทะเล ทีมงานเริ่มให้อาหารในสภาพการเลี้ยงแบบธรรมชาติ

14 มิ.ย.62 ข้อมูลล่าสุด มาเรียมมกินนมได้ จำนวน 2,500 มิลลิลิตร และหญ้าทะเล สุขภาพแข็งแรง อยู่ในระดับดีแต่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด คุณหมอที่ดูแลยกตัวอย่างถ้าแบ่งเป็นระดับ 1-5 น้องอยู่ประมาณ 2.5 ซึ่งจริงๆแล้วควรจะอยู่ในระดับ 3-3.5 โดยจะมีการวางแผนด้านโภชนาการร่วมกันต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขวัญใจโซเชียล "ลูกพะยูนมาเรียม" หลับคาอกหลังกินนมอิ่ม

ลูกพะยูน "มาเรียม" ยึดเรือแคนูสีส้มแทนอ้อมกอดแม่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง