ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม สหประชาชาติ

ต่างประเทศ
16 มิ.ย. 62
11:51
2,773
Logo Thai PBS
ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม สหประชาชาติ
ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) วาระปี ค.ศ.2020-2022 หลังจากเว้นจากการเป็นสมาชิกมาถึง 12 ปี

วันนี้ (16 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) วาระปี ค.ศ.2020-2022 ในนามกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกับจีน เกาหลีใต้ และบังกลาเทศ โดยประเทศไทยได้รับคะแนนเสียง 186 คะแนน (เป็นที่หนึ่งในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ ไทยเว้นจากการเป็นสมาชิก ECOSOC มาถึง 12 ปี หลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกครั้งสุดท้ายเมื่อวาระ ค.ศ.2005-2007 และการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ECOSOC เป็น 1 ใน 6 องค์กรหลักของสหประชาชาติ มีภารกิจหลักในการเสนอและทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้นานาประเทศร่วมบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ค.ศ.2030 ดังนั้น การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC ซึ่งมีสมาชิกจากภูมิภาคต่างๆ ของโลกทั้งสิ้น 54 ประเทศ เป็นโอกาสให้ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและบทบาทมากยิ่งขึ้นในการเสนอแนะนโยบายและแนวทางเพื่อผลักดันให้ ECOSOC เป็นเวทีระหว่างประเทศที่สามารถส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยยังสามารถแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบการณ์ของไทยในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง

ที่ผ่านมา ในระหว่างที่ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก ECOSOC ไทยก็มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในด้านการพัฒนามาโดยตลอด เช่น ในด้านสุขภาพโดยการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านสังคมโดยการริเริ่ม Bangkok Principles ซึ่งป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพฯ ให้เป็นแนวปฏิบัติของสหประชาชาติในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ส่งผลให้ประเทศไทยมีมาตรฐานและความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ประจักษ์ในเวทีสากล

ภายหลังการเลือกตั้ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับ 1. นาง María Fernanda Espinosa Garcés ประธาน UNGA สมัยที่ 73, 2. นาง Inga Rhonda King ประธาน ECOSOC , 3. นาย Liu Zhenmin รองเลขาธิการสหประชาชาติ กำกับดูแลส่วนกิจการเศรษฐกิจและสังคมของ UN และ 4. นาย Tijjani Muhammad-Bande ประธาน UNGA สมัยที่ 74 ซึ่งต่างแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก ECOSOC รวมทั้งชื่นชมบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ที่ไทยเป็นประธานกลุ่ม G77 ตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 รวมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า ไทยในฐานะประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในฐานะประธานอาเซียน จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคและของโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง