ถอดรหัส "จดหมายลาครู" เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร

ไลฟ์สไตล์
18 มิ.ย. 62
12:53
183,323
Logo Thai PBS
ถอดรหัส "จดหมายลาครู" เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร
เปิด “จดหมายลาครู” เรื่องจริงสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความยากจนของเด็กๆ สู่ผลงานของศิลปิน Street Art นำข้อความที่เด็กๆ จากหลายพื้นที่ เขียนจดหมายถึงครู เพื่อลาหยุดเรียน ชี้มีนักเรียนยากจนที่เสี่ยงไม่ได้ศึกษาต่อราว 2 ล้านคน

เรื่องราวชีวิตของ ด.ช.อาทิตย์ มืดคุ้ม หรือ น้องอาร์ม วัย 12 ปี ที่เขียนจดหมายลาครูประจำชั้นขอหยุดเรียนหนึ่งปี ไปทำหน้าที่พี่ชายคนโต ดูแลน้อง 4 ชีวิต เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในหลายมิติ โดยหนึ่งในเรื่องที่ถูกพูดถึง ก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

เรื่องนี้ทำให้สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดโครงการ "จดหมายลาครู คืนเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาสู่ห้องเรียน" ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมที่สวนเฉลิมหล้า สะพานเฉลิมหล้า 56 กรุงเทพมหานคร และนี่เป็นเพียงจดหมายลาครูบางฉบับที่ถูกนำมาจัดแสดง

กระผม ด.ช.อาทิตย์ นักเรียนป.6 โรงเรียนบ้านใหม่ปฏิรูป ขออนุญาตคุณครูเป็นเวลา 1 ปีเพื่อช่วยยายเลี้ยงน้องๆ เพราะยายต้องไปเก็บของเก่า ผมจึงต้องลาโรงเรียนครับ

จดหมายของน้องอาร์ม วัย 12 ปีเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 

ผมขอโทษที่ไม่ได้ทำตามที่ครูบอก ผมสงสารแม่ที่ต้องทำงานหาเงินอยู่คนเดียว ถ้าผมไปเรียนก็ไม่มีใครช่วยแม่ ผมขออนุญาตลาหยุดไปช่วยแม่เก็บลำไย ผมไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเรียนอีกเมื่อไหร่ ขอบคุณคุณครูที่ช่วยเหลือมาตลอด 

ส่วนนี่เป็นจดหมายที่เขียนโดย ด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร จาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

 

ส่วน ด.ช.ปรีชา จอดนอก นักเรียนชั้น ป.5 จ.ปทุมธานี เขียนจดหมายว่า

เรียนครูประจำชั้นป.5/2 ที่เคารพ เนื่องจากกระผมต้องช่วยแม่เก็บขวดและของเก่าขาย เพื่อนำเงินไปซื้อข้าวกิน และเพื่อเอาเงินไปโรงเรียน

หากผมไม่ช่วยแม่จะหาของของเก่าขายเพียงคนเดียวยังหาได้น้อย และไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กระผมจึงลาหยุด เมื่อขายของได้เพียงพอ กระผมจะกลับมาเรียนตามปกติ

 

จากจดหมายลาครูสู่งานศิลปะ

จดหมายลาครูแนวกราฟฟิตี้ ที่จัดแสดงในสวนเฉลิมหล้า สะพานหัวช้าง กรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการมีชีวิต จากเครือข่ายศิลปินกราฟฟิตี้เพื่อสังคม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของเด็กๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่เขียนจดหมายลาครูไปช่วยดูแลพี่น้อง หรือแบ่งเบาภาระครอบครัว

ศิลปินกลุ่มนี้ตั้งใจใช้งานศิลปะสะท้อนปัญหาให้คนไทยเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยสร้างผลงานศิลปะ 7 แห่งในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่นและภูเก็ต

อยากสื่อสารเรื่องราวในจดหมายมากกว่างานศิลปะชิ้นหนึ่ง

นายนรรัตน์ ถวิลอนันต์ เครือข่ายกราฟฟิตี้  STREET ART บอกว่า ตรงนี้ถ้าสังเกตจริงๆ เป็นแลนด์มาร์กที่ใหญ่ใน กทม.มีคนเดินผ่านไปมา ถ้าคนที่เดินมาแล้วเขาหยุดดูผลงาน คงจะทำให้เขาเกิดคำถาม ในใจ ถึงจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทั้งหมด แต่เป็นจุดเริ่มต้น และสะท้อนว่าครูที่ไม่นิ่งเฉยกับจดหมายลาครู

พวกเขา ได้พบกับเด็กๆ ที่เป็นเจ้าของจดหมาย รวมถึงตัวแทนจาก 4 หน่วยงานที่จะมาบอกเล่าถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

 

เด็กไทย 2 ล้านเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 

ช่วงเช้าที่ผ่านมา ด.ช.อาทิตย์ หรือน้องอาร์ม และด.ช.พงศกร อาสาพิทักษ์ไพร หรือน้องแดง วัย 13 ปี จากอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เจ้าของจดหมายที่ถูกนำมาสร้างผลงานศิลปะ ได้เป็นตัวแทนของเด็กนักเรียนมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา โดยมีคุณครูของทั้งสองคนมาร่วมพูดคุย หลังจากได้รับเสียงชื่นชมว่า เป็นครูที่ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหา และทำให้ลูกศิษย์ได้มีโอกาสศึกษาต่อ

หากจะแก้ปัญหานี้เป็นระบบและครอบคลุมเด็กที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ โดยใช้เงินอุดหนุนของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครู ถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยเหลือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ "พี่ชายคนโต" เด็ก ป.6 ขอหยุดเรียนหนึ่งปีดูแลน้อง 4 ชีวิต

นพ.สุภกร บัวสาย ผจก.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ครูบางคนสังเกตว่ามีลูกศิษย์หายหน้าไป และเราเห็นว่ามีลูกศิษย์บางคนเขียนจดหมายถึงครู ไม่ขอเรียนต่อ และขอหยุดชั่วคราวเป็นความจำเป็นที่ต้องเลี้ยงน้อง เลี้ยงยาย หรือคนใครอบครัวที่พิการ และหารายได้ บางครั้งครูหลายท่านเข้าใจสภาพปัญหา

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่าปัจจุบันมีเด็กไทย มากกว่า 430,000 คน ที่หลุดอยู่นอกระบบการศึกษาภาคบังคับ และมีเด็กยากจน ที่เสี่ยงไม่ได้ศึกษาต่อ ราวๆ 2 ล้านคนทั่วประเทศ

 

4 หน่วยงานภาคี คือ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ยืนยันว่าจะร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้ ผ่านโครงการเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนพิเศษ โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ของกองทุนฯ มาเป็นเครื่องมือติดตาม ค้นหาและช่วยเหลือเด็กๆ ให้ถูกจุดถูกคน ตรงความจำเป็น

โดยเชื่อว่า คุณครูที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหากว่า 400,000 คน จะช่วยกันค้นหา และคัดกรองให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางนี้ ทำให้ปีการศึกษาที่ผ่านมา มีเด็กยากจนพิเศษกว่า 500,000 คน ได้รับทุนไปแล้ว

การแถลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับเด็กยากจน และด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับในวันนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าจะทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ก็อาจต้องช่วยกันสะท้อนไปยังรัฐบาล และทุกส่วนของสังคม ที่อาจจะเริ่มทำความเข้าใจจากจดหมายลาครู ที่เป็นผลงานศิลปะ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ธารน้ำใจยื่นมือช่วย "น้องอาร์ม" ขอหยุดเรียนดูแลน้อง 4 ชีวิต

Street ART สร้างศิลปะ เป็นกระบอกเสียงให้เด็กยากจน

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง