ถอดภาพ "ผู้นำรัฐประหาร" สู่การเป็น "นักการเมือง" เต็มตัว

การเมือง
18 มิ.ย. 62
15:17
1,634
Logo Thai PBS
ถอดภาพ "ผู้นำรัฐประหาร" สู่การเป็น "นักการเมือง" เต็มตัว
วิเคราะห์บุคลิก "ประยุทธ์" จากการเป็นผู้นำรัฐประหาร 5 ปี สู่การเป็นนายกฯ พลเรือนเต็มตัว "ประยุทธ์" จะรับมือกับความกดดันที่เพิ่มขึ้น และปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้นำอย่างไรในรัฐบาล "ประยุทธ์ 2"

เส้นทางของ "บิ๊กตู่" หรือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 ที่เพิ่งก้าวสู่ตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้น พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการรัฐประหาร ปี 2557 ในฐานะหัวหน้า คสช. ต่อมา 5 ปีผ่าน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่ และพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับสู่ตำแหน่งนายกฯ

การทำงานเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกจับตา แต่ "บุคลิก" อันเป็นการแสดงออกเฉพาะตัวเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อาจมองข้าม เพราะเปลือกนอกเหล่านี้เป็นสิ่งแรกๆ ที่ประชาชนเข้าถึงและสัมผัสได้

 

"เรื่องอารมณ์ต้องปรับ" เป็นมุมมองของนักข่าวสายการเมือง ที่ผ่านการปะทะคารมกับนายกฯ ผ่านการตั้งคำถามหลายครั้ง

นักข่าวคนนี้ วิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องปรับท่าทีและควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะการแสดงออกต่อบรรดานักการเมือง เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่คนที่นายกฯ เลือกมาเองทั้งหมดเหมือนกับรัฐบาล คสช. ยิ่งมีตัวแทนจากหลายพรรคในสภาวะ "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" จะแสดงออกอย่างไรต้องระมัดระวัง

"ทหาร" วันนั้น vs. "นายกฯ" วันนี้

ไทยพีบีเอส จึงชวนถอยย้อนไปถึงพลวัตของความเป็น "ประยุทธ์" ด้วยสายตานักข่าวสายทหารเพื่อเป็นส่วนต่อขยายก่อนถึงวันนี้  

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามทำข่าว พล.อ.ประยุทธ์ และค้นความจำของบรรดานักข่าวสายนี้  เพราะคำว่า "ทหาร" ไม่อาจแยกขาดจากการเมือง ทุกช่วยสมัยไม่มีช่วงใดที่ "ทหาร" ไม่เกี่ยวข้องกับ "การเมือง"

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร  (เสื้อขาวขวา)

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร (เสื้อขาวขวา)

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร (เสื้อขาวขวา)

ปรัชญา มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ โดยพื้นฐานเป็นคนเฮฮา พูด "จ๊ะจ๋า" หรือลงท้ายด้วย "นะจ๊ะ" สะท้อนบุคลิกที่เป็นคนติดตลก และเป็นอย่างนี้ตั้งแต่สมัยเป็นแม่ทัพภาค 1

แต่เส้นทางการเติบโตตลอด 10 ปี นับแต่เป็นแม่ทัพภาค 1 ก้าวขึ้นมาเป็นเสนาธิการทหารบก ต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ล้วนเติบโตภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์ทางการเมือง

10 ปีนั้น มีการชุมนุม นปช. ปี 2553 ,การรัฐประหาร ปี 2549 ,และการชุมนุม กปปส. ช่วงปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปี 2557 จึงเป็นสาเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นคนที่ต้องแบกรับความกดดันสูง

นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ... คำถามกลับมาที่บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ สมัยที่ 2 นักข่าวสายทหารคนนี้ เชื่อว่า จะได้เห็นภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น หลังความกังวลทั้งเหตุการณ์การเมืองและการเลือกตั้งผ่านพ้น 

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร

ปรัชญา นงนุช ผู้สื่อข่าวสายทหาร

ขณะเดียวกันต้องปรับตัวกับความคาดหวัง โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องบริหารงานร่วมกับพรรคร่วมกว่า 10 พรรค ส่วนงานในสภาฯ เชื่อว่านายกฯ จะปรับตัวและรับมือได้

เรื่องสภาฯ เชื่อว่านายกฯ อดทนรับมือได้อยู่แล้ว แต่จะคุมไม่ให้เข้าเกมฝ่ายค้านได้หรือเปล่าต้องดูรายกรณี สภาฯ ชอบใช้วาทะศิลป์ นายกฯ ต้องทำการบ้านหนัก

สิ่งที่จะได้เห็นจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงต้องปรับสไตล์การทำงานที่เป็นนักการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการลงพื้นที่ถี่ขึ้นไม่ต่างจากนักการเมืองคนอื่น และคงจะเห็นภาพนายกฯ พบปะประชาชนบ่อยขึ้น เหมือนครั้งที่ไปกินก๊วยเตี๋ยวนางเลิ้ง ทั้งที่ไม่มีกำหนดการก่อน

"ตามพื้นเพ พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นทหาร ไม่ได้เป็นนายกฯ ที่เป็นนักการเมืองหรือนักธุรกิจมาก่อน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ทำได้ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ เพราะไม่ค่อยเห็นแบบนี้" ปรัชญา กล่าว 

บทบาทนายกฯ สมัยแรก พล.อ.ประยุทธ์ คุมทั้งกองทัพและการเมือง ประเมินรอบสุดท้ายก่อนเลือกตั้งถือว่าเอาอยู่ ส่วนสมัย 2 ต่อจากนี้คงต้องรอดู "นะจ๊ะ"

ปรับ "ความกร้าว" เป็น "คำหวาน"

คำว่า "แข็งกร้าว" คงไม่เกินเลยหากจะใช้กับบุคลิก พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงแรกของการเป็นนายกฯ แต่บุคลิกนี้ถูกปรับให้อ่อนลงเรื่อยๆ ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก "ผู้นำทหาร" มาเป็น "นักการเมือง" เต็มตัว

มุมมองของ รศ.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก เห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในท่าทีแบบนี้

รศ.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

รศ.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

รศ.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง ม.เกริก

จุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการควบคุมอารมณ์ เพราะหากคุมอารมณ์ไม่ได้ก็ทำงานในสภาฯลำบาก เนื่องจากงานสภาฯ ไม่อาจหลีกเลี่ยงการปะทะคารมของ ส.ส.ฝ่ายค้าน

ขณะที่จุดแข็ง ที่ รศ.นันทนา เรียกว่า "จุดแซ่บ" ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการทำผิดพลาดแล้วกล้าขอโทษ ดังจะเห็นจากการปะทะคารมกับสื่อมวลชนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ที่นายกฯ ออกมาขอโทษบ่อยครั้ง

ด้านหนึ่ง รศ.นันทนา วิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้จุดอ่อน-จุดแข็งตนเองดี และมีปรับท่าทีตลอด สังเกตจากกรลงพื้นที่พบชาวบ้าน มักหยอด "คำหวาน" ทุกครั้งไม่ต่างจากนักการเมือง

 

ยิ่งช่วงหลักการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลใด อาจเป็นเพราะผลการเลือกตั้งที่น่าพอใจหรือการเมืองที่นิ่งลง จึงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ วางบุคลิกใหม่ได้ดี คือเป็น "นายกฯ พลเรือน" ที่ไม่แข็งกร้าว

นายกฯ ไม่ตอบคำถามแบบฉับพลันทันที ค่อยๆ ลดลง พูดน้อยลง แทบไม่เห็นท่านอารมณ์เสีย อาจเพราะเลือกตั้งพ้นไป อาจจะรู้สึกอิ่มใจหรือไม่ก็ไม่ทราบ

นักวิชาการ ม.เกริก สรุปว่า บุคลิกส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อาจแยกจากการบริหารงาน หากบุคลิก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น ก็จะได้รับการยอมรับจากนักการเมืองมากขึ้น และดีขึ้นในสายประชาชนเช่นกัน นั่นเท่ากับส่งผลดีต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย 

 

ภาพลักษณ์ของนักการเมือง ไม่อาจแยกขาดจากภาพของรัฐบาล "บุคลิก" อันเป็นส่วนเฉพาะของบุคคล แต่เป็นการแสดงออกเหล่านี้เป็นเหมือนผิวส้มชั้นแรกที่ประชาชนสัมผัสได้ และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติของผู้คนที่มองมายังนายกฯ และรัฐบาล

ความคาดหวังต่อท่าทีและการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นโจทย์หนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญในการเป็นนายกฯ รอบนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง