วางทุ่นกักขยะปากแม่น้ำ-คลองสาขา สกัดขยะไหลลงทะเล

สิ่งแวดล้อม
24 มิ.ย. 62
14:23
5,327
Logo Thai PBS
วางทุ่นกักขยะปากแม่น้ำ-คลองสาขา สกัดขยะไหลลงทะเล
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งลงนามร่วมกับเอกชน พัฒนาอุปกรณ์ติดทุ่นกักขยะลอยน้ำเพื่อดักขยะไม่ให้ไหลลงทะเล ทดลองติดตั้งในคลอง จ.สมุทรสาคร ดักขยะได้วันละ 7-8 กก. เตรียมขยายจุดติดตั้งอีก 20 จุดภายในปีนี้ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกที่มีนวัตกรรมในการแก้ปัญหาขยะทะเล

วันนี้ (24 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี แถลงข่าวการร่วมมือพัฒนาต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำ เพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเล พร้อมร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาอุปกรณ์ติดทุ่นกักขยะลอยน้ำสำหรับติดตั้งในบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า โครงการพัฒนาอุปกรณ์ติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำสำหรับติดตั้งในบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา เป็นความร่วมมือที่ต้องการจะช่วยกันลดปัญหาขยะในทะเล ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลและมหาสมุทร โดยขยะส่วนใหญ่ไหลผ่านชุมชนมาตามแม่น้ำลำคลองและไหลลงสู่ทะเล

 

จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลไม่ต่ำกว่า 900 สาย โดยได้ทดลองติดตั้งต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำในลำคลอง 4 แห่งของ จ.สมุทรสาคร พบว่าสามารถกักขยะลอยน้ำได้เฉลี่ย 7.7 กิโลกรัมต่อวันต่อชุด ซึ่งขยะที่พบส่วนใหญ่เป็นพลาสติก โดยเบื้องต้นจะนำร่องติดตั้งทุ่นกักขยะบริเวณแม่น้ำระยองและคลองใน จ.สมุทรสาคร จำนวน 5 จุด ภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ อีก 20 จุดภายในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลได้อย่างน้อย 30 ตันภายในสิ้นปีนี้

เราทำการทดลองในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.สมุทรสาคร ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ละวันดักขยะได้ 7-8 กิโลกรัม และเดือนหน้าจะผลิตมาอีก 20 ตัว ซึ่งจะนำไปวางในพื้นที่สำคัญฝั่งอันดามันและอ่าวไทย คาดว่า 1 ปีจะดักขยะได้ 30 ตัน

 

อธิบดี ทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีความพยายามจะแก้ปัญหาตรงปลายเหตุก่อน แต่ต้นทางรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ ตั้งแต่โรดแมปการแก้ไขปัญหาพลาสติก เพราะฉะนั้นหากมีการบูรณาการร่วมกันจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีความก้าวหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและเป็นประเทศแรกที่มีนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลค่อนข้างชัดเจน

ด้านนายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ระบุว่า ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่จะร่วมกันดูแลและหาทางทางออกเพื่อลดปัญหาขยะในทะเล ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้ระบบนิเวศทางทะเลมีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืน

 

ต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำนี้ถือเป็นโมเดลเบื้องต้น มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบให้มีกลไกฝาเปิดปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดันช่วยกักขยะลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขยะจะไม่หลุดลอยออกนอกทุ่นตามอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง สามารถรองรับขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากนี้จะนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนากลไกการทำงานของทุ่นในรูปแบบ 4.0 โดยนำระบบอัตโนมัติและพลังงานแสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถทดลองใช้ภายในต้นปี 2563 

สำหรับทุ่นกักขยะลอยน้ำ โครงสร้างหลักทำจากท่อ PE100 ที่เหลือจากการทดสอบขึ้นรูปจากโรงงานในกลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ มีคุณสมบัติคงทนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขนาดกว้าง 1.8 เมตร ยาว 5 เมตร รองรับขยะสูงสุด 700 กิโลกรัม มีกลไกฝาเปิดปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดัน ช่วยกักเก็บขยะได้โดยไม่ไหลย้อนกลับจากการเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำและอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง