แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกส่งจม.ถึงไทย "ยุติ" ดำเนินคดี 17 คนชุมนุมการเมือง

การเมือง
24 มิ.ย. 62
17:41
5,925
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกส่งจม.ถึงไทย "ยุติ" ดำเนินคดี 17 คนชุมนุมการเมือง
แอมเนสตี้ ชวนสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายเรียกร้องไทยยุติการดำเนินคดี 17 คน ที่ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่น-ก่อความวุ่นวาย ตาม ม.116 และ 215 จากการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเมื่อ 24 มิ.ย. 2558 ชี้ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง

วันนี้ (24 มิ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ร่วมกันส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

รวมทั้งอดีตนิสิต-นักศึกษากลุ่มดาวดิน จำนวน 7 คน กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 6 คน และอดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) รวมทั้งหมด 17 คน ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 5 ส.ค.นี้ 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ทางการไทยได้เริ่มปราบปรามครั้งใหม่ต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ โดยการดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคล 17 คน รวมทั้งนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน จากเหตุการณ์ที่เข้าร่วมการประท้วงนอกสถานีตำรวจตำรวจนครบาลปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2558

 

ชี้เข้าข่ายจำกัดสิทธิการชุมนุมอย่างสงบ 

การชุมนุมของพวกเขาเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทหารมีคำสั่งห้ามชุมนุม “ทางการเมือง” ของบุคคลห้าคนหรือกว่านั้น การดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้หลังผ่านเหตุการณ์ชุมนุมมาเกือบ 4 ปี ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อปิดปากฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าอยู่ฝั่งตรงข้าม และต้องการสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวในการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย

แอมเนสตี้ ยังระบุอีกว่าแม้รัฐบาลไทย จะยกเลิกคำสั่งที่จำกัดสิทธิอย่างรุนแรงต่อสิทธิมนุษยชนหลายประการ แต่ทางการยังคงใช้วิธีคุกคาม ด้วยกระบวนการยุติธรรมข่มขู่ผู้วิจารณ์ และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และเอาผิดทางอาญากับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการแสดงออก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องถึงทางการไทยให้ยกเลิกการดำเนินคดีโดยทันที และอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อบุคคลเหล่านี้และบุคคลอื่นๆ ซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ไผ่ ดาวดิน" พร้อมพวกรวม 13 คนรายงานตัวคดียุยงปลุกปั่น

ย้อนคดีชุมนุม 

6 เม.ย.2562 ทางการดำเนินคดีกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิ.ย. ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยการช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าให้รังสิมันต์ โรม ซึ่งเป็นนักกิจกรรมในเวลานั้น นั่งรถไปด้วยจากโรงพัก หลังการประท้วงในวันที่ 24 มิ.ย.2558

 22 พ.ค.2562 ทางการยังดำเนินคดีกับอดีตนักศึกษาและนักกิจกรรม 13 คนเพิ่มเติมตามมาตรา 116 และมาตรา 215 โดยเป็นอดีตนักศึกษาในกลุ่มดาวดินเจ็ดคน ได้แก่วสันต์ เสดสิทธิ พายุ บุญโสภณ อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ ศุภชัย ภูคลองพลอย ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ สุวิชา พิทังกร จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นอกนั้นอีกหกคนเป็นนักศึกษาในกลุ่มประชาธิปไตยใหม่  ได้แก่พรชัย ยวนยี ชลธิชา แจ้งเร็ว รังสิมันต์ โรม รัฐพล ศุภโสภณ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์

11 มิ.ย.2562 ได้แจ้งข้อหากับนักกิจกรรมอีกสองคนคือ ปกรณ์ อารีกุล และวรวุฒิ บุตรมาตร รวมถึงสุไฮมี ดูละสะ อดีตประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนเยาวชนปาตานี (PerMAS) ก็ถูกแจ้งข้อหาเดียวกัน ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กต.ผิดหวัง! ชี้ทูตสังเกตการณ์ "ธนาธร" เข้าข่ายแทรกแซง

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง